วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

วธ.โชว์กระตั้วแทงเสือ เปิดตัว “ตลาดคลองบางหลวง” ตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย



วธ. โชว์รำกลองยาว กระตั้วแทงเสือ หุ่นละครเล็ก เปิดตัว “ตลาดคลองบางหลวง” ตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย สัมผัสวิถีชีวิตริมคลอง อุดหนุนสินค้าของดีชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศษฐกิจท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้จัดพิธีเปิดตัวตลาดบก “ตลาดคลองบางหลวง” หนึ่งในกิจกรรม “10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวรายงาน นายธวัชชัย แพงไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายสมชาย พึ่งศิลป์ ประธานชุมชนกำแพงทองพัฒนา และคณะกรรมการชุมชน ผู้ขับเคลื่อนตลาด นักท่องเที่ยวและประชาชน เข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ตลาดคลองบางหลวง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร มีกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปวัฒนธรรม โดยประธานพิธีได้มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้แทนตลาดคลองบางหลวงและมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดบก และได้เยี่ยมชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน และชิมอาหารขึ้นชื่อ กระจายรายได้ให้ท้องถิ่น

รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ประธานกล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม มุ่งขับเคลื่อนงานศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยปรับบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยทุนทางวัฒนธรรม การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : การดำเนินงานพัฒนาตลาดบกสืบสานวัฒนธรรมไทย ด้วยการพัฒนาศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยวตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย และจัดพิธีเปิดตัว 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม พร้อมสนับสนุนขยายช่องทางการตลาด ประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ ในวงกว้าง ให้ตลาด ตลาดเชียงคาน เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนสืบไป 

ด้าน นางสาวลิปิการ์ กำลังชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า ด้วยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ดำเนินโครงการเพิ่มมูลค่าทุนทางเศรษฐกิจด้วยทุนทางวัฒนธรรม “การส่งเสริมอัตลักษณ์ชุมชน อัตลักษณ์ไทย สู่เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม : 10 ตลาดบก 6 ตลาดน้ำ สืบสานวัฒนธรรมไทย” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการคัดเลือกตลาดบก และตลาดน้ำ ที่มีศักยภาพและมีความพร้อม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชน จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดย “ตลาดคลองบางหลวง” กรุงเทพมหานคร ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ตลาดบก สืบสานวัฒนธรรมไทย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินโครงการด้วยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้พร้อมต่อการบริหารจัดการชุมชนและบริหารจัดการมรดกภูมิปัญญาที่มีอยู่ นำเสนออัตลักษณ์ของชุมชนให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยว และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของการท่องเที่ยวโดยชุมชนและองค์กรเครือข่าย ในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในด้านผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การบริการ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการองค์กร และแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่ 

นายธวัชชัย แพงไทย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตภาษีเจริญ เปิดเผยว่า ตลาดคลองบางหลวง เป็นตลาดน้ำท้องถิ่นริมคลองบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ เป็นที่ตั้งของชุมชนริมคลองบางหลวง ชุมชนเก่าแก่ฝั่งธนบุรี ในอดีตบริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของข้าราชการ ขุนนาง และเหล่าข้าหลวง ที่มาตั้งรกราก ตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองธนบุรี ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “คลองบางข้าหลวง” ปัจจุบันเพี้ยนเป็น “คลองบางหลวง” ภายในตลาดประกอบด้วยชุมชน อาคารไม้เก่าแก่สูง 2 ชั้นเรียงรายตลอดริมฝั่งคลองบางหลวง มีร้านค้าขายของที่ระลึก ร้านอาหาร ร้านตัดผม พิพิธภัณฑ์คลองบางหลวง ซึ่งรวบรวมของเก่าต่าง ๆ ไว้หลายชนิด นอกจากนี้รอบ ๆ ตลาดน้ำ ยังประกอบด้วยวัดกำแพงบางจาก และวัดคูหาสวรรค์เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวัดเก่าคู่ชุมชนมาอย่างยาวนาน ภายในตลาดยังประกอบด้วยสิ่งที่น่าสนใจทั้ง บ้านศิลปิน ซึ่งเป็นบ้านเก่าของ "ตระกูลรักสำรวจ" ตระกูลช่างทองเก่าแก่ ซึ่งปรับปรุงให้เป็นสถานที่แสดงงานศิลป์ และเป็นที่รวมตัวของของกลุ่มศิลปิน เยาชนที่รักงานศิลปะ และยังมีการเปิดแสดงหุ่นละครเล็ก ให้รับชมฟรี ในวันเสาร์-อาทิตย์ รอบเวลา 14.00 น. อีกด้วย ปัจจุบันตลาดน้ำคลองบางหลวง จัดเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวริมคลองแห่งหนึ่งในเขตภาษีเจริญ ตลาดแห่งนี้ได้รับความสนใจ ทั้งจากคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเป็นเส้นทางผ่านของเรือหางยาว สามารถเล่นกิจกรรมทางน้ำพายเรือซับบอร์ดได้ เปิดบริการให้มาเที่ยวได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 - 19.00 น. 

พิธีเปิดตลาดคลองบางหลวง เริ่มด้วย ประธานพร้อมคณะเข้ากราบสักการะหลวงพ่อบุษราคัม ณ พระอุโบสถวัดกำแพงบางจาก การแสดงต้อนรับจากคณะหุ่นละครเล็กคลองบางหลวง จากนั้นมีขบวนแห่โดยคณะนักแสดงกระตั้วแทงเสือ นำประธานพร้อมคณะเข้าสู่บริเวณพิธีเปิดด้านหน้าเวทีกลาง ต่อด้วยการแสดงกลองยาว และพิธีเปิดงานโดยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้ช่วยอำนวยการเขตภาษีเจริญ ประธานสภาวัฒนธรรมเขตภาษีเจริญ และผู้แทนตลาดคลองบางหลวง โดยประธานพิธีได้มอบของที่ระลึกให้แก่ผู้แทนตลาดคลองบางหลวง และมอบเกียรติบัตรให้แก่ผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตลาดบกฯ จำนวน 2 ราย คือ นางสาวสุขศรี อยู่ศรีเจริญ  ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลบริษัท แกมม่าอินดัสตรี้ส์ จำกัด และนางสาวเยาวลักษณ์ เทียนดำริ  ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หลังจากนั้น ประธานพิธีพร้อมคณะได้เดินเยี่ยมชมของดีในตลาดคลองบางหลวง ชมกิจกรรมการสร้างสรรค์งานศิลปะ DIY ระบายสี ตบแต่งกิ๊บ ร้อยลูกปัด ณ บ้านพึ่งศิลป์ และงานศิลปะที่จัดแสดง ณ บ้านศิลปิน 

ตลาดคลองบางหลวง ถือเป็นตลาดบก ลำดับที่ 4 ต่อจาก -ตลาดจีนโบราณชากแง้ว จังหวัดชลบุรี -ตลาดสู้ศึกคึกคัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ -ตลาดเชียงคาน จังหวัดเลย ที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยตลาดบกที่จะจัดพิธีเปิดลำดับต่อไป ได้แก่  -ตลาดริมน้ำคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ในวันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2566  -ตลาดวัฒนธรรมชุมชนวัดศรีสุพรรณ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ในวันเสาร์ที่ 4 พฤศจิกายน 2566  -ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ในวันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566  -ตลาดเขมราษฎร์ธานี อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566  -ตลาดตรอกโรงยา อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ในวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566 และปิดท้ายด้วย -ตลาดเก่าหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 จึงขอเชิญชวนประชาชน ไปเที่ยวชมอุดหนุนสินค้าของดี สัมผัสวิถีชุมชน กระจายรายได้ให้ท้องถิ่นต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...