วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2566

จังหวัดพิษณุโลก MOU มรภ.พิบูลสงคราม ขับเคลื่อน “โคก หนอง นาโมเดล” เพื่อความเป็นอารยเกษตร



 จังหวัดพิษณุโลก ลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา” เพื่อความเป็นอารยเกษตร พร้อมหิ้วปิ่นโต เอามื้อสามัคคี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 28  ตุลาคม 2566 นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยว่า จังหวัดพิษณุโลกขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ตามหลักทฤษฎีใหม่ “โคก หนอง นา” เพื่อความเป็นอารยเกษตร โดยมีการลงนาม MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พร้อมดำเนินกิจกรรม “หิ้วปิ่นโต ไปเอามื้อที่แปลงโคก หนอง นา พัฒนาชุมชน” ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม (ส่วนทะเลแก้ว) อำเภอเมืองพิษณุโลก โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชุมพล เสมาขันธ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก นางศุภลักษณ์ แก้วมณี พัฒนาการจังหวัดพิษณุโลก หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเครือข่ายโคก หนอง นา พัฒนาชุมชน จังหวัดพิษณุโลก ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย เข้าร่วมกิจกรรมฯ

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีของคนไทยและพี่น้องชาวจังหวัดพิษณุโลก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งมั่นในการ "สืบสาน รักษา และต่อยอด" ในพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางความสำเร็จอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ และทรงอรรถาธิบายในเรื่อง "อารยเกษตร" อันเป็นศัพท์บัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายถึงการพัฒนาพื้นที่เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีการจัดพื้นที่ครบทุกส่วน มีโคก มีหนอง มีนา มีพืชไร่ พืชสวน ผสมผสาน ทำให้มีความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิตอย่างสมบูรณ์ เห็นได้จากการทำเกษตร 365 วัน หรือทั้งปี แต่ประเทศไทยมีฤดูฝนเพียงประมาณ 120 วัน หรือ 4 เดือน ด้วยเหตุนี้ในช่วงวันที่เหลือนอกจากฤดูฝน เราจึงต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคในครัวเรือน ตลอดจนถึงมีเพียงพอสำหรับการประกอบอาชีพและการทำเกษตรกรรม โดยนำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดหนอง ขุดคลองไส้ไก่ ปลูกไม้ยืนต้น เพิ่มพื้นที่ป่าตามศาสตร์พระราชา ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น 



นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวต่ออีกว่า บันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา ” จังหวัดพิษณุโลก ที่ได้ร่วมกับคณะกรรมการเครือข่าย โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน จังหวัดพิษณุโลก และมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยทางมหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยให้ความรู้ด้านวิชาการในพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา ” จังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะในด้านการจัดการการผลิต การพัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรแปรรูป การจัดการเชิงธุรกิจ การตลาดยุคใหม่ การสร้างคุณค่าใหม่กับสินค้าแปรรูป การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ สร้างองค์ความรู้เรื่องพลังงานทดแทน และเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ จังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม กับพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โคก หนอง นา ส่วนคณะกรรมการมีหน้าที่ในการพัฒนาองค์ประกอบด้านภูมิศาสตร์ เป็นองค์ประกอบทางกายภาพ ในรูปแบบ โคก หนอง นา มีส่วนร่วมในการต่อยอดขยายผลกิจกรรมการพัฒนาอื่น พร้อมทั้งการขยายผลสู่ครัวเรือนที่ตั้งโดยรอบพื้นที่ต้นแบบ และกิจกรรม โครงการ หรือการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม โดยดำเนินการร่วมกับเครือข่ายทีมครูพาทำในรูปแบบจิตอาสาพัฒนาชุมชน และสร้างเครือข่ายทีมวิทยากร ครูกระบวนการ ครูกสิกรรม ครูพาทำ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการรวมตัวกันของเจ้าของแปลงพื้นที่ต้นแบบที่ดำเนินกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน หรือเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการเกื้อหนุน ช่วยเหลือ เกื้อกูล และส่งเสริมกันและกัน ในลักษณะกลุ่มสนใจ กลุ่มกิจกรรม หรือกลุ่มที่มีปัญหาเฉพาะด้าน และสร้างเครือข่ายทีมเยาวชน คน “โคก หนอง นา” แลกเปลี่ยนเรียนรู้และต่อยอดขยายผล   

นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากบันทึกข้อตกลง (MOU) แล้ว จังหวัดพิษณุโลกพร้อมด้วยมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ยังร่วมกันจัดกิจกรรมเอา มื้อสามัคคี ณ โคกหนอง นา โดยมีกิจกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย 1) การบรรยายหัวข้อ “การปลูกพืชอินทรีย์ และการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์” โดย อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร 2) กิจกรรมทำปุ๋ยหมักอัดแท่ง แซนด์วิชปลา ใส่ปุ๋ยและปลูกต้นไม้ และปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ. 2566 เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ 21 ตุลาคม 2566 พร้อมทั้งการหิ้วปิ่นโต รับประทานอาหาร พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้สิ่งได้รับจากการดำเนินกิจกรรม  

“ขอขอบคุณทุกภาคส่วน ที่เป็นกำลังสำคัญในการหนุนเสริมดูแล ให้พี่น้องประชาชนได้มีโอกาสที่จะเรียนรู้ในการประยุกต์ใช้เกษตรทฤษฎีใหม่ ไปสู่ โคก หนอง นา ต่อยอดไปเป็นอารยเกษตร เป็นศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา ที่ยั่งยืนให้กับเยาวชนและผู้ที่สนใจได้มีโอกาสได้เรียนรู้ศึกษา พร้อมทั้งได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" เพื่อสร้างความยั่งยืนทางอาหาร และสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจ การฝึกอาชีพให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดพิษณุโลกต่อไป" นายภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวในช่วงท้าย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ “พระธรรมราชานุวัตร” ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ “พระพรหมวชิโรดม”

เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567    เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ความว่า