วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566

“ โรงเรียนแก้จนกับนวัตกรรมการศึกษา ที่ศรีสะเกษ ”


 

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สว.ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า “ โรงเรียนแก้จนกับนวัตกรรมการศึกษา ที่ศรีสะเกษ ”  

 รายงานประชาชน ฉบับที่ 40/2566

ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป / 30 ตุลาคม 2566 

ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีงานทดลอง-พัฒนารูปแบบปฏิรูปโรงเรียน (sand box) อย่างน้อย 2 โครงการ คือ  

โครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาที่นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีภาคเอกชนและประชาสังคมสนับสนุน ดำเนินการกันขึ้นมาจากฐานล่าง ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมประมาณ 300 แห่ง ส่วนอีกโครงการหนึ่งเป็นการขับเคลื่อนตาม พรบ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ดำเนินการจากบนลงล่าง ปัจจุบันมีพื้นที่นำร่อง 19 จังหวัด รวม 1,409 แห่ง

เมื่อทราบว่า ที่จังหวัดศรีสะเกษมีการดำเนินงานครบทั้ง 2 รูปแบบ กรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา จึงได้เดินทางลงไปดูงานและจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลละทาย อำเภอกันทรารมย์ โดยเชิญทีมผู้บริหาร-ครูผู้สอน 8 โรงเรียน และหัวหน้าส่วนราชการศึกษาธิการจังหวัดเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้มองเห็นแนวทางในการทำงานปฏิรูปการศึกษาแบบสานพลังในระดับโรงเรียนและพื้นที่

 กลุ่มโรงเรียนร่วมพัฒนา

กิจกรรมหลักที่ดำเนินการร่วมกัน ได้แก่ การปรับจูนวิธีคิดของครูและผู้นำชุมชน ปรับกระบวนการเรียนการสอน จัดทำแปลงเกษตรของโรงเรียน เป็นฐานเรียนรู้ สนับสนุนกิจกรรมธุรกิจนักเรียน และกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหารและรายได้สำหรับผู้สูงอายุในชุมชน อาทิ

โรงเรียนบ้านสร้างมิ่งมิตรภาพที่ 191 จังหวัดยโสธร มุ่งจัดการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน บริหารด้วยธรรมาภิบาล มีความเป็นเลิศด้านวิชาการและกีฬา มีนักเรียน 94 คน 11 ห้องเรียน

โรงเรียนบ้านเสียว จังหวัดศรีสะเกษ มีวิสัยทัศน์ “วิชาการเลิศ เชิดชูสถาบัน สัมพันธ์ชุมชน”,  ปรัชญา “ขุมภูมิปัญญาท้องถิ่น มุ่งสู่สากล” มีนักเรียน128 คน 10 ห้องเรียน

โรงเรียนบ้านละทาย จังหวัดศรีสะเกษ มีนักเรียน 138 คน 8 ห้องเรียน พัฒนาฐานเรียนรู้แปลงเกษตรกรรม และยังเป็นศูนย์ผู้สูงอายุของชุมชนด้วย

นอกจากนั้น ยังมีโรงเรียนบ้านโนนแสงคำ โรงเรียนค้อเมืองแสน และโรงเรียนบ้านโนนคูน ที่ร่วมดำเนินการทั้งสองรูปแบบในเวลาเดียวกัน 

โรงเรียนในโครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 

จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจังหวัดนำร่องทำทดลอง-พัฒนาเป็นรุ่นแรก ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมจำนวน 163 แห่ง(จากทั้งหมด 1,060 แห่ง) แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัด สพป. (ประถมศึกษา) 4 เขต 118 แห่ง, สพม. (มัธยมศึกษา) 16 แห่ง, ศธจ. (เอกชน) 4 แห่ง และอปท. (ท้องถิ่น) 25 แห่ง

จากการดำเนินการในปีที่ 1 จำนวน 50 โรงเรียน ได้มีการนำนวัตกรรมการเรียนรู้ต่างๆมาใช้ รวม 7 รูปแบบ ได้แก่

 1) นวัตกรรมจิตศึกษา จัดการศึกษาเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL/PLC) ใน 24 โรงเรียน

2) จัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (BBL) มี 8 โรงเรียน 

 3) มอนเตสซอรี  (Montessori) มี 8 โรงเรียน

4) การเรียนการสอนแบบองค์รวม มี 5 โรงเรียน 

5) การศึกษาชั้นเรียนและการศึกษาแบบเปิด มี 4 โรงเรียน 

 6) เพาะพันธุ์ปัญญา  มี 3 โรงเรียน

 7) โครงงาน/โครงการ (Project Approach) มี 1 โรงเรียน 

ในเรื่องนี้ มีความเห็นเพิ่มเติมบางประการจากฝ่ายบริหารของกระทรวงศึกษาธิการในพื้นที่ว่า ศรีสะเกษมีโครงการเชิงนวัตกรรมมากมาย หลายโครงการได้รับรางวัลในระดับชาติ เช่น การแข่งขันสารานุกรมระดับชาติ, โครงการพาน้องกลับมาเรียน ช่วยเด็ก 1,324 คนกลับมาได้ทั้งหมด, โครงการพูด-อ่าน-เขียนสำหรับเด็กเรียนรู้ช้า 2,700 คน, โครงการพัฒนาพฤติกรรมนักเรียน ทำให้เรื่องยาเสพติดและการบูลลี่ลดลง, ในขณะเดียวกันยังมีปัญหาสำคัญอยู่ที่บุคลากร อีกทั้งระบบงบประมาณแบบ Block Grant ยังไม่เป็นจริง จึงมีแผนงานที่จะจัดให้มีสมัชชาการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสานพลัง 

ส่วนเสียงสะท้อนจากครูปฏิบัติการ จากโรงเรียนบ้านโนนคูน ซึ่งลุกขึ้นมายืนยันค่อนข้างหนักแน่นว่า 

“เห็นการเปลี่ยนแปลงจากการร่วมโครงการอย่างชัดเจน เด็กเปลี่ยน ครูเปลี่ยน แก้ความยากจนได้จริง เด็กมีรายได้แบบรายวัน-รายเดือน เป็นการแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เด็กมีปัญญาติดตัว สามารถเป็นเกษตรกรแบบสมาร์ทฟาร์มเมอร์  ในอดีตครูจะทำกิจกรรมเสริมอะไรให้กับเด็กก็จะต้องควักกระเป๋าตัวเอง ปัจจุบันโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาได้ให้โอกาส แต่ก่อนผู้ปกครองไม่เคยเข้าโรงเรียน ปัจจุบันขยันเข้ามาสอนเด็กทำการเกษตร”

สำหรับผู้แทนจากภาคประชาสังคม มีข้อเสนอแนะให้โรงเรียนทั้ง 5 แห่งในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา เกาะกลุ่มทำงานร่วมกันให้เหนียวแน่น ในลักษณะเป็นเครือข่าย จัดทำองค์ความรู้จากการปฏิบัติให้เป็นหลักสูตรชุมชน และอยากให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดให้มีผู้รับผิดชอบมาร่วมทำงานกับโครงการด้วย.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...