วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"รัฐบาล-คณะสงฆ์"จีน นิมนต์ "อดีตพระพรหมสิทธิ" สานต่อความสัมพันธ์ มอบเจ้าคุณประสารกล่าวสาส์น "นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ"



ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2566 รัฐบาลจีนร่วมกับพระอาจารย์ยิ่งซุ่น Yin Shun (พระอาจารย์จีนวิเทศศาสนานุสิฐ) สมาชิกคณะกรรมการแห่งชาติจีนชุดที่ 14, รองประธานพุทธสมาคมแห่งประเทศจีน จัดงานประชุม “Hubei Suizhou Dahongshan Chan Culture Forum” ณ วัดซื่อเอิน Ci’en ต้าหงซาน เมืองซุยโจว มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีคณะสงฆ์ไทยและจากนานาชาติเข้าร่วม

ในการนี้พระอาจารย์ยิ่งซุ่นได้นิมนต์อดีตพระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) นำคณะสงฆ์ไทยเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากวัดซื่อเอินเป็นวัดที่อดีตพระพรหมสิทธิได้รับอารธนาจากพระอาจารย์ยิ่งซุ่นให้ร่วมวางเสาเอกในการบูรณะวัด เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ครั้งที่พระธรรมาจารย์เปิ่นฮวน (Ben Huan) อดีตประธานพุทธสมาคมแห่งประเทศจีน สหธรรมิกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยังเป็นประธานปกครองวัดอยู่



อดีตพระพรหมสิทธิเล็งเห็นความสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและการสร้างความร่วมมือทางคณะสงฆ์ไทย-จีน จึงได้มอบหมายให้พระราชวิสุทธิวิเทศ (วิสุทธิ์ โชติญาโณ) ประธานสงฆ์วัดไทยธรรมาราม ประเทศเบลเยียม, ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ, ที่ปรึกษาสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป และประสานตัวแทนมหาวิทยาลัยสงฆ์ มีพระราชวัชรสารบัณฑิต รศ.ดร. (ประสาร จนฺทสาโร) รองอธิการบดีฝ่ายวางเผยและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เป็นผู้นำคณะสงฆ์ไทยและผู้บริหาร มจร เช่น พระมหาบัณฑิต ปณฺฑิตเมธี, ดร. คณบดีคณะครุศาสตร์ มจร, พระครูสิริธรรมประทีป ประธานสงฆ์วัดพุทธาราม เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ, รองเลขาธิการองค์กรพระธรรมทูตไทยในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์, พระครูศรีพิสุทธิศาสตร์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ที่ปรึกษาประธานสงฆ์วัดเหมอัศวาราม สาธารณรัฐประชาชนจีน, พระครูปลัดโพธิวงศ์วรวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดไทยราชทูต ดาร์จีลิ่ง ประเทศอินเดีย, พระครูวินัยธรภาณุมาศ ภาณุปาโณ เจ้าอาวาสวัดอัมพวัน จ.นนทบุรี เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมเชื่อมศาสนสัมพันธ์ในครั้งนี้ โดยมีคุณอาทิตย์ติยา พสุธาเลิศ เลขาธิการสมาคมส่งเสริมความสัมพันธ์ประชาคมเอเชีย ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนและพระอาจารย์ยิ่งซุ่นฝ่ายจัดงานให้เป็นผู้รับผิดชอบการประสานงานและดูแลคณะสงฆ์ไทย 

ในการนี้ พระราชวิสุทธิวิเทศ ประธานคณะสงฆ์ไทยร่วมพิธีเจริญภาวนาเพื่อสันติภาพโลก มีการเจริญพุทธมนต์ร่วมกันกับคณะสงฆ์เถรวาท 4 ประเทศ จากศรีลังกา กัมพูชา และลาว และเป็นตัวแทนอดีตพระพรมสิทธิมอบพระพุทธรูปพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระพุทธรูปในนามของพระพรหมเสนาบดี (พิมพ์ ญาณวีโร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร ประดิษฐานไว้ ณ วัดซื่อเอิน สถานที่จัดงานประชุมเพื่อเป็นอนุสรณ์สัมพันธ์ โดยพระอาจารย์ยิ่งซุ่นได้ทักทายและขอบคุณอดีตพระพรหมสิทธิผ่าน vdo call ด้วยตนเองด้วย

ส่วนการประชุม พระราชวัชรสารบัณฑิต ได้เป็นตัวแทน มจร กล่าวสาส์นในที่ประชุม และกล่าวขอบคุณในนามของมหาวิทยาลัย ที่ได้รับเกียรติมาเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญในครั้งนี้ และยังได้แสดงทัศนะให้ที่ประชุมเห็นพ้องถึงความสำคัญของหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาในการสร้างสันติสุขอันร่มเย็นแก่สังคมโลก ให้ปราศจากสงครามและความขัดแย้ง ดังพุทธพจน์ว่า “นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ : สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี” ด้วยความเมตตากรุณาต่อกัน โดยเน้นให้เห็นว่านี่คือส่วนสำคัญของสันติสุขที่พวกเราต้องการในขณะนี้

นอกจากนี้ พระราชวัชรสารบัณฑิต ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาของทั้งสองประเทศว่าพัฒนาขึ้น มีการแลกเปลี่ยนและการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันของผู้นำและหน่วยงานของทั้งสองฝ่ายอย่างต่อเนื่อง จึงมีความตั้งใจอย่างยิ่งที่ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จะได้สร้างความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับทางคณะผู้จัดงาน ไม่ว่าจะในนามของรัฐบาลจีน พุทธสมาคมแห่งประเทศจีน หรือในระดับปัจเจกบุคคล เช่น พระอาจารย์ยิ่งซุ่น และนานาประเทศที่มาประชุมร่วมกัน ในการทำงานโดยเฉพาะด้านการศึกษา และวัฒนธรรม อารยธรรม จับมือเดินหน้าไปด้วยกัน เพื่อนำพาศีลธรรมกลับสู่สังคมโลก ให้ความร่มเย็นของพระพุทธศาสนานำพาสันติสุขไปสู่ทั่วโลก

ภายหลังการประชุม ทางคณะสงฆ์ไทย นำโดยพระราชวิสุทธิวิเทศ และพระราชวัชรสารบัณฑิต ได้ประชุมทวิภาคีร่วมกับพระอาจารย์ยิ่งซุ่น เป็นการส่วนตัว ตามที่อดีตพระพรหมสิทธิได้ประสานไว้ เพื่อทำความตกลงร่วมมือทางการศึกษาร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาภายใต้การกำกับดูแลของพระอาจารย์ยิ่งซุ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศจีน

ทั้งนี้พระราชวัชรสารบัณฑิต ได้ยืนยันความมุ่งมั่นต่อพระอาจารย์ยิ่งซุ่นในการที่จะสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งยังกล่าวตอนหนึ่งว่า “พวกเราคณะสงฆ์จาก มจร ก็เป็นลูกหลานของหลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถระ) เหมือนกับพระอาจารย์ยิ่งซุ่น และเป็นศิษย์ในพระพรหมสิทธิ (อดีต) ซึ่งเป็นพี่น้องของท่านอาจารย์ยิ่งซุ่นด้วย ดังนั้น พวกเราคณะสงฆ์จาก มจร ก็ถือว่าเป็นศิษย์ของพระอาจารย์ยิ่งซุ่นด้วยเช่นกัน” ทำให้พระอาจารย์ยิ่งซุ่นปลาบปลื้มใจอย่างยิ่ง และพร้อมในการสนับสนุนความร่วมมืออย่างเต็มที่

ที่มา - https://thebuddh.com/?p=74789

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ธรรมิกวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ธรรมิกวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ ธรรมิกวร...