วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ผู้นำต้องทำก่อน! "แปลงผักหน้าอำเภอ ผู้นำต้องทำก่อน" พ่อเมืองสุราษฎร์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร



"แปลงผักและสมุนไพรหน้าที่ว่าการอำเภอพนม" ชื่นชมทีมอำเภอพนมสร้างวัฒนธรรม เมืองคนดี เมืองแห่งการแบ่งปัน สร้างพื้นที่สีเขียวแห่งความสุข เชื่อมโยงขยายผลสู่ชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2566  นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ตนได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่แปลงผักหน้าที่ว่าการอำเภอพนม ซึ่งเป็นแปลงผักที่เกิดจากความร่วมมือของ 7 ภาคีเครือข่าย พัฒนาขับเคลื่อนขยายผลโดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจัดทำเป็นแปลงผักหน้าที่ว่าการอำเภอพนม ภายใต้กิจกรรม "อำเภอปันรัก ปลูกผักแบ่งปัน “Veget of Love”" ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2566 เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ชาวอำเภอพนม ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหารและขยายผลสู่ชุมชน สามารถแบ่งปันผลผลิตให้ทุกคน มีผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้บริการสำหรับเจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาติดต่อราชการ โดยมี นายสุเชาว์ ทูโมสิก นายอำเภอพนม นายพลกฤต สุดสวาสดิ์ ปลัดอาวุโสอำเภอพนม นายขจรศักดิ์ ณ นรินทร์ ปลัดอำเภอพนม และเจ้าหน้าที่ ร่วมให้การต้อนรับ

"จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อขับเคลื่อนขยายผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้บริโภคผักปลอดสารพิษ และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้วยการลดการนำเข้าวัตถุดิบจากนอกพื้นที่ อาทิ การปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเอง และเมื่อมีอาหารเพียงพอก็สามารถแบ่งปันในชุมชนได้ พร้อมกับการแบ่งปันแบบยั่งยืน คือ การแบ่งพันธุ์ต้นกล้าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเรามุ่งมั่นจะขยายผลให้ครบทั้ง 19 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นแหล่งขยายเมล็ดพันธุ์ของแผ่นดินให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนต่อไป" นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวในช่วงต้น

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต่ออีกว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจกรรมสร้างความมั่นคงทางอาหารของอำเภอพนม ณ แปลงผักหน้าที่ว่าการอำเภอพนม โดยมีการปลูกผักและสมุนไพร กว่า 30 ชนิด อาทิ ถั่วฝักยาว มะเขือยาว มะเขือเปราะ ถั่วพลู ผักบุ้ง พริก ตำลึง มะเขือเทศ ตะไคร้ ชะอม กระเพรา โหระพา ผักชีใบเลื่อย เสาวรส ใบมะกรูด มะละกอ แมงลัก พริกไทย ใบเหลียง เล็บครุฑ ดาหลา ผักแว่น มะตูม ขมิ้นชัน ขมิ้นขาว ขมิ้นแดงสยาม ว่านชักมดลูก ไพร ตะไคร้หอม ใบเตย ซึ่งสามารถลดรายจ่ายของเจ้าหน้าที่อำเภอพนมจากการซื้อผัก ได้กว่าวันละ 50-100 บาท รวมต่อเดือน เกือบ 2,000 บาท ซึ่งนอกจากแปลงผักแห่งนี้จะทำให้มีอาหารและผักปลอดสารพิษกินแล้ว ยังสามารถลดรายจ่ายครัวเรือนของเจ้าหน้าที่ และสามารถนำไปแบ่งปันให้ครอบครัวไว้ประกอบอาหารได้อีกด้วย อีกทั้งนายอำเภอพนมยังจัดทำบริเวณแปลงผักให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พี่น้องประชาชนที่มาติดต่อราชการสามารถมานั่งพักคอย พร้อมทั้งจัดทำพื้นที่การเก็บพันธุ์พืชหายาก เมล็ดพันธุ์ และสมุนไพรพื้นถิ่น โดยสามารถแบ่งปันให้กับประชาชน ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีพืชผักสวนครัวที่ปลอดภัยและมีคุณภาพดีปลูกไว้รับประทานเอง ทำให้พี่ร้องประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

"ขอชื่นชมและขอบคุณนายอำเภอพนม ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่ว่าการอำเภอนครพนมทุกท่าน ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็น "ผู้นำต้องทำก่อน" เป็นแบบอย่างการปฏิบัติให้พี่น้องประชาชนได้เห็นถึงความตั้งใจในการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในสถานที่ราชการ ซึ่งสิ่งสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมดังกล่าวเกิดความยั่งยืน นั่นคือต้องทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ "ความต่อเนื่องคือพลัง" ขอให้ทุกท่านได้ขยายผลสิ่งดีเหล่านี้ Change for Good ไปสู่พื้นที่ทุกตำบล หมู่บ้าน มุ่งเน้นกิจกรรมการพัฒนาที่เชื่อมโยงสู่ชุมชน พร้อมทั้งเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชนในด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทางการพึ่งพาตนเอง และการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเป็นหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ที่ประชาชนทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน" นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวในช่วงท้าย

#กระทรวงมหาดไทย

#บำบัดทุกข์บำรุงสุข

#MOI

#ChangeforGood

#หมู่บ้านยั่งยืน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"มจร"สีเขียวยุคAI! จัดกิจกรรม "รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม คืนขยะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน"

กิจกรรม “รักษ์ มจร รักษ์สิ่งแวดล้อม” เป็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานระหว่างจริยธรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน ด้วยหล...