ปลัดมหาดไทย ยกระดับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชน เน้นย้ำ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ต้องเป็นผู้นำบูรณาการภาคีเครือข่ายทุกระดับ ขับเคลื่อน 8 ตัวชี้วัดที่สำคัญเพื่อทำให้ทุกหมู่บ้านทั่วประเทศเป็น "หมู่บ้านยั่งยืน" ภายในปีงบประมาณ 2567
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ในการประชุมขับเคลื่อนและติดตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยได้รับเมตตาจากพระมหาเถระ พระเถระ ได้แก่ พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม พระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรม สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร และผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางหลวงหัวป่า จังหวัดปทุมธานี ร่วมประชุม โดยมี รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล นายสุธน ศรีหิรัญ นางสุจิตรา ศรีนาม นายประสพโชค อยู่สำราญ นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ดร.ชนาธิป ผาริโน ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ทั้งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดี หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทยประจำจังหวัดและส่วนกลางประจำภูมิภาค ร่วมประชุมผ่านระบบ Video Conference
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตลอดปี 2566 นี้ พวกเราชาวมหาดไทยได้แสดงออกถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผ่านการขับเคลื่อนโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานผ่านหนังสือ “Sustainable City” ให้แก่ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ประธานชมรมแม่บ้านกรมการปกครองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน โดยจากการขับเคลื่อนตลอดทั้งปี ด้วยการอาศัย 4 กระบวนการสำคัญ คือ การร่วมพูดคุย การร่วมคิด การร่วมทำ และการร่วมรับประโยชน์ ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านได้พระราชทานแนวทางความสำเร็จอย่างยั่งยืน ที่ถอดบทเรียนมาจากโครงการพระราชดำริ 4,741 โครงการ ผ่านระบบคุ้มบ้าน ป๊อกบ้าน หรือหย่อมบ้าน โดยได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานนิเทศ ติดตาม การดำเนินโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน ซึ่งมี นายประชา เตรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นหัวหน้าคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจติดตามและนิเทศงานทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาเป็นหมู่บ้านยั่งยืนแล้ว 7,255 หมู่บ้าน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” คือ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำการสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบบูรณาการ ด้วยหัวใจ ด้วยอุดมการณ์ และ Passion ไปกระตุ้นปลุกเร้าสร้างพลังให้กับทีมงาน ทั้งทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้าน ด้วยการพูดคุยหารือเพื่อทบทวนว่าในรอบปีที่ผ่านมาได้มีการทำงานแบบบำบัดทุกข์ บำรุงสุข มีความสำเร็จ มีปัญหาอุปสรรค มีจุดอ่อนจุดแข็ง ในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยอย่างไร ซึ่งการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข จะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และคนมหาดไทย จึงต้องสร้างให้เกิด 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อช่วยกันทำให้เกิด "หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” อย่างเป็นรูปธรรม
“ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอทั่วประเทศ ยกระดับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนด้วยการขับเคลื่อน “โครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ให้ครบทั้ง 75,086 หมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ด้วยการต่อยอดแนวทางการพัฒนาหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ซึ่งได้รับการขับเคลื่อนในปีที่ผ่านมา โดยจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPIs) ของหมู่บ้านยั่งยืน จำนวน 8 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) ด้านที่อยู่อาศัย 2) ด้านความมั่นคงทางอาหาร 3) ด้านความสะอาด 4) ด้านความสามัคคี 5) ด้านความร่วมมือ 6) ด้านการปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ 7) ด้านความมั่นคงปลอดภัย และ 8)ด้านการมีน้ำสะอาดสำหรับใช้ในการอุปโภคบริโภค เพื่อให้ทุกกรมและทุกรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนสนับสนุนทรัพยากรและองคาพยพต่าง ๆ ให้กับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านนายอำเภอ ให้สามารถขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมายประชาชนทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ (UN SDGs) ที่กระทรวงมหาดไทย กรม ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด และสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายที่สำคัญของการขับเคลื่อนโครงการ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)" ของคนมหาดไทย คืออยากเห็นพี่น้องมีความสุข ไม่อยากเห็นพี่น้องมีความทุกข์จากทั้งเรื่องสุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากเรื่องเศรษฐกิจหรือชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งคนมหาดไทยและภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคีต้องร่วมมือกันทำให้เกิดมรรคเกิดผลในเชิงปฏิบัติมากกว่าเชิงสัญลักษณ์อย่างสุดกำลังเพื่อพี่น้องประชาชนได้พบแต่สิ่งที่ดี ดั่งเจตนารมณ์ของคนมหาดไทยตั้งแต่เริ่มต้นการมีชีวิตราชการ ทุกคนก็ถูกปลูกฝังว่า เรามีหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้กับประชาชน ซึ่งในเชิงระบบเราจับมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับเมตตาจากมหาเถรสมาคม ประกอบด้วย 3 โครงการ คือ 1) โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ประธานฝ่ายสาธารณูปการ เป็นโครงการที่มุ่งสร้างวินัยของผู้คนและคณะสงฆ์ ให้ร่วมดูแลเรื่องของศาสนสถานและบ้านเรือนให้ถูกสุขลักษณะในลักษณะ 5ส เช่น ร่วมกันทำให้วัดมีส้วมสาธารณะ และทำให้สถานที่ต่าง ๆ ของวัดถูกสุขลักษณะ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาดสะอ้าน เป็น “รมณียสถาน” ของประชาชนในชุมชน 2) โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ประธานฝ่ายสาธารณสงเคราะห์ โดยมีพระเถระนำผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทีมงานไปสงเคราะห์ญาติโยม ให้ได้มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต และส่งผลดีกับสุขภาพจิตของผู้คน คือ ทำให้คนอยู่ในศีลในธรรม และ 3) โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประธานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล 5" ด้วยการรณรงค์ให้ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ให้คนเที่ยวกลางคืน ไม่ผิดศีลธรรมของศาสนา ซึ่งทั้ง 3 โครงการดังกล่าว ได้ถูกนำเอามาบูรณาการกับ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ด้วยแนวคิดไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเราเรียกว่า “หมู่บ้านคุณธรรม” ที่มี KPIs 8 ด้าน 50 กว่าตัวชี้วัด ยังผลทำให้ประชาชนมีความต้องการพื้นฐาน (Basic Needs) ได้ครบ ควบคู่ศีลธรรม ความรักความสามัคคี และเรื่องน้ำ อันจะทำให้สิ่งที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่มีความชัดเจนเพิ่มมากขึ้นว่า “เราจะช่วยกันทำงานครั้งเดียวแต่ได้ประโยชน์หลายสถาน”
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การขับเคลื่อน “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” สิ่งที่สำคัญ คือ คนของกระทรวงมหาดไทยต้องมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเองในทุกภารกิจ ทำอย่างเต็มความสามารถ โดยมีกรอบในการทำงานอยู่ที่คำว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” อันหมายถึง "บูรณาการงาน" โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้ที่จะบูรณาการงานทุกงานของทุกกระทรวงไปสู่พี่น้องประชาชน สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำให้เกิดขึ้นในสังคมไทย คือ การทำให้คนมีจิตวิญญาณของความเสียสละ ในชื่อ "จิตอาสา" ซึ่งแตกต่างกับจิตอาสาของชาวมหาดไทย เพราะเป็นหน้าที่ข้าราชการอยู่แล้ว จึงต้องมุ่งมั่นตั้งใจสร้างแรงปรารถนา เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน ต่อมาคือ "บูรณาการคน" โดยการใช้หลักบวร และหลัก 7 ภาคีเครือข่าย เพื่อให้เราได้มีแนวทางในการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทำสิ่งที่ดี ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น