เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวความว่า "เป้าหมายชัด-ปฏิบัติได้ " จีนแก้จน ฉบับที่ 5 ส.ว.พลเดช ปิ่นประทีป / 27 ตุลาคม 2566
เดิมที จีนมุ่งทำให้บางภูมิภาคและคนส่วนหนึ่งมีความมั่นคั่งขึ้นมาก่อน เพื่อจะช่วยพยุงให้คนที่ยากจนส่วนใหญ่ได้หลุดพ้นจากความยากจน ทำให้ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศจีนได้อย่างมาก แต่ก็พบว่าความมั่งคั่งเหล่านั้น กลับไปทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมจีนถ่างขยายออกไปทุกที จึงต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
การลดความยากจนอย่างตรงจุดของประเทศจีน เริ่มนับได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 เมื่อเกิดสภาผู้นำการแก้ปัญหาความยากจนและการพัฒนาของจีน (The state council leading group office of poverty alleviation and development: CAPD) มีเป้าหมายการลดความยากจนให้ครอบคลุมทุกครอบครัวและหมู่บ้านที่ยากจน โดยสร้างกลไกลดความยากจนตรงจุดเป็นงานระยะยาว
อย่างไรก็ดี บัดนี้เมื่อผ่านพ้นความยากจนไปแล้วระดับหนึ่งตามที่ประกาศให้โลกได้รับรู้ นโยบายการลดความยากจนของจีนยังคงมีความต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มจะพัฒนาต่อยอดไปใน 5 ด้าน
คือการปรับปรุงระบบการลดความยากจนอย่างตรงจุดให้ดีขึ้น การพัฒนาแบบสีเขียวและส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อลดความยากจน ออกแบบแผนการส่งเสริมแรงงานเพื่อสร้างอุปทานแรงงานมากขึ้นแก่ครอบครัวที่ยากจน เปลี่ยนแนวทางการช่วยเหลือคนยากจนให้เข้าระบบประกันสังคม และเน้นการตรวจสอบและประเมินในระยะกลางและระยะยาวต่อไป
เป็นที่น่าศึกษาอย่างยิ่งว่า นอกจากการกำหนดเป้าหมาย “ทำจีนพ้นจน” ให้เป็น “ธงนำ”ที่ทรงพลังในการสร้างแรงบันดาลใจคนจีนทั้งประเทศแล้ว จีนยังได้เลือกแนวทางและวิธีการ “แบบจีน” อันเกิดจากประสบการณ์และภูมิปัญญาของจีนเองในการจัดการปัญหา โดยไม่ยึดติดกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์แบบตะวันตก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมุ่งไปแก้ไขปัญหาของ “คนจน” ในระดับจุลภาคหรือปัจเจก (ครัวเรือน) เป็นด้านหลัก แทนที่จะใช้เส้นแบ่งความยากจนมาเป็นตัววัดความยากจน “ในเชิงพื้นที่” หรือเชิงกลุ่มเป้าหมายในระดับภาพรวม (มหภาค) ตามแบบแนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างที่ประเทศอื่นๆทำกัน
จีนเริ่มต้นจากวิธีการกำหนดกลุ่มคนจนหรือครัวเรือนยากจนที่เป็นเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถพุ่งเป้าเข้าไปช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาความยากลำบากเฉพาะหน้าได้อย่างแม่นยำ ไม่เหวี่ยงแห และพัฒนาศักยภาพของคนจนกลุ่มเป้าหมายให้สามารถทำการผลิต ทำงาน มีรายได้และนำมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยตนเอง โดยไม่ใช้แนวทางประชานิยมเลย ยกเว้นคนที่ช่วยตนเองไม่ได้ ติดบ้านติดเตียง ก็มีระบบสวัสดิการของรัฐเข้าไปช่วยเหลือตามสถานภาพ
พรรคคอมมิวนิสต์จีนและรัฐบาลจีนได้กำหนดให้การแก้ปัญหาความยากจนเป็นนโยบายระดับชาติที่ทุกหน่วยงาน องค์กร ต้องร่วมกันดำเนินการให้บรรลุภารกิจตามกำหนดระยะเวลา กล่าวคือมุ่งแก้ปัญหาความยากจนให้หมดสิ้น ภายใน 10 ปี (ปี ค.ศ. 2010 ถึง 2020)
หลักการพื้นฐาน คุณลักษณะ และเกณฑ์เป้าหมายในการ “พ้นจากความยากจน” มี 2ประการ คือ สองไม่กังวล และ สามหลักประกัน
สองไม่กังวล คือ 1.ไม่กังวลเรื่องมีอาหารกิน ไม่อดตาย 2.ไม่กังวลเรื่องมีเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไม่หนาวตาย ส่วนนี้เป็นภารกิจของตัวผู้เป็นคนจนกลุ่มเป้าหมายที่จะต้องพึ่งตนเองให้ได้
สามหลักประกัน คือ 1.หลักประกันด้านการศึกษา 2.หลักประกันด้านสาธารณสุข 3.หลักประกันด้านบ้านที่อยู่อาศัย ในส่วนนี้เป็นภารกิจของรัฐจะต้องจัดหาและพัฒนาในลักษณะของสวัสดิการทางสังคม
ในการจัดทำฐานข้อมูลคนจน จีนใช้กรอบประเด็นและเกณฑ์ดังกล่าวมาเป็นแนวทาง ทำการสำรวจค้นหากลุ่มเป้าหมายคนยากจนในชนบททั่วประเทศ โดยอาศัยกลไกของพรรคและรัฐบาลท้องถิ่น จากหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เมือง และมณฑล ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปีโดยเฉลี่ย ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาส่งข้าราชการลงไปในพื้นที่และดำเนินการแก้ไขปัญหา
โดยภาพรวม จีนได้จัดทำข้อมูลคนจนทั้งประเทศ รวม 98.99 ล้านคน มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน แม่นยำ มีการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบจากภาคสนาม ทำให้รู้ว่าคนจนเป็นใคร อยู่ที่ไหน สามารถทำได้อย่างครอบคลุมทั่วถึงแม้จะมีคนยากคนจนกระจายตัวอยู่ทั่วทั้ง 832 อำเภอ 128,000 หมู่บ้านก็ตาม
จนในปัจจุบัน สาธารณรัฐประชาชนจีนได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วและรับการยอมรับในระดับโลกว่า มีวิธีการแก้ปัญหาความยากจนที่ทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำอย่างตั้งใจ ทำจริง ทำทั้งองคาพยพ และสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น