วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566

สอวช. - สกสว. คิกออฟจัดตั้งเครือข่ายมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ผสานความร่วมมือช่วยไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



สอวช. - สกสว. คิกออฟจัดตั้งเครือข่ายมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ผสานความร่วมมือรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นำวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม ช่วยไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม SRI (Science Research and Innovation) Consortium for Net Zero ครั้งที่ 1/2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีหน่วยงานทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ 

ดร.กิติพงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2065 ว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ได้ขึ้นรูป SRI Consortium for Net Zero ขึ้นมา โดยมี สอวช. และ สกสว. เป็นหน่วยงานริเริ่ม และจะขยายเครือข่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนที่เป็น demand side ด้วย ซึ่งเครือข่ายที่เกิดขึ้นนี้ ตั้งเป้านำเอาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าไปหนุนตอบเป้าหมายของประเทศ โดยมี 4 มิติหลักที่ต้องขับเคลื่อน ได้แก่ 1) การผนึกพลังทำให้เรื่อง Net Zero เป็นวาระสำคัญ ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันและเชื่อมโยงเรื่องการลงทุน 2) นวัตกรรม เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ 3) การทำให้ขั้นตอนการทำงานไม่มีความซับซ้อน หรือ ease of doing business เกี่ยวกับการปลดล็อกกฎระเบียบ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และ 4) การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่ภาคชุมชน สังคม ต้องเข้ามาร่วมในองคาพยพนี้ ครอบคลุมไปถึงเรื่องการศึกษา การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการสร้างความตระหนักในสังคม

ดร.กิติพงค์ ยังได้เล่าถึงการดำเนินการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน Net Zero ทั้งในแง่การวิจัยและสร้างองค์ความรู้ มีการให้ทุนวิจัยและพัฒนาผ่านทางหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ มีเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบทบาทผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมสีเขียวสู่การปฏิบัติ และการสร้างชุมชนสีเขียว มีการพัฒนาพื้นที่นำร่องด้านนวัตกรรมสู่ Net Zero จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน และมีการเชื่อมต่อกลไกระดับนานาชาติ ทั้งในเรื่องการประเมินความต้องการจำเป็นด้านเทคโนโลยี (Technology Needs Assessment) ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Technology Technical Assistances) รวมถึงด้านการเงิน มีตัวอย่างการขับเคลื่อนที่สำคัญ อาทิ การพัฒนา Green Campus หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Net Zero และการพัฒนาพื้นที่นำร่องโดยการบูรณาการหลายสาขาและภาคส่วนด้วยนวัตกรรมและกลไกนานาชาติ เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านประเทศและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจากนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี หรือ สระบุรีแซนด์บ็อกซ์ พร้อมเตรียมขยายผลไปยังจังหวัดอื่น ๆ



ด้าน ดร.สุรชัย รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง SRI Consortium for Net zero เพื่อส่งเสริมและผลักดันการใช้ ววน. เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero และเกิดผลกระทบเชิงบวกด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จากการใช้ ววน. ร่วมกับทุกภาคส่วน อีกทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วน ด้วยกลไกของระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ โดยบทบาทหน้าที่ของ Consortium คือ 1) การเป็นคณะทำงานกลางของประเทศด้าน ววน. ครอบคลุม 4 ประเด็น ได้แก่ แผนและนโยบาย เแหล่งข้อมูลด้าน ววน. (Stock of knowledge knowledge) ข้อมูลด้าน Foresight และการใช้ประโยชน์จาก ววน. เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายร่วมกันในทุกภาคส่วนของประเทศ ในด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน 2) ช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างกลไกสนับสนุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น มาตรการและกลไกที่เกี่ยวข้องเพื่อการสนับสนุนและส่งเสริมการนา ววน. ไปใช้ได้จริงทั้งภาครัฐ และเอกชน และ 3) พัฒนาเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับความสามารถด้าน ววน. ของบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อีกทั้ง ดร.สุรชัย ได้เผยถึงความคืบหน้าการพัฒนา Hydrogen roadmap ของประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ในแง่ความท้าทาย ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านไฮโดรเจนระดับชาติ ที่ในอนาคตต้องมีการเปลี่ยนผ่านสู่ไฮโดรเจนสะอาด อีกทั้ง ประเทศไทยยังมีความต้องการประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญในการประเมินผลกระทบจากการใช้ Hydrogen การพัฒนาเทคโนโลยีสู่การใช้ในอุตสาหกรรม รวมถึงทรัพยากรในการริเริ่มโครงการนำร่อง ในส่วนของภาพรวมโครงการจัดทำยุทธศาสตร์และทิศทางที่ชัดเจนในการใช้เทคโนโลยีไฮโดรเจนสีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของไทยนั้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายงานเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนสะอาดที่เหมาะสมกับประเทศไทย รวมถึงที่ตั้งและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยมีการคาดการณ์ว่าผลจากการใช้ไฮโดรเจนสะอาดใน 4 อุตสาหกรรมหลักของไทย ได้แก่ ซีเมนต์ โรงกลั่นน้ำมัน การขนส่งทางถนน และพลังงาน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 50 ล้านตัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท



ทั้งนี้ ในการประชุมได้มีการกล่าวถึงระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 - 2570 โดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รอง ผอ. สกสว. และความก้าวหน้าการพัฒนา CCUS technology roadmap ของประเทศไทย โดย ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญระดับสูง สกสว. รวมถึงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนถึงแนวทางการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารจัดการทุนที่เกี่ยวข้องกับประเด็น Net Zero โดยตัวแทนจากหน่วยบริหารและจัดการทุน 6 หน่วยงาน ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานได้แบ่งปันถึงแนวทางการสนับสนุนการให้ทุนในแผนงาน สาขา หรือยุทธศาสตร์ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero อาทิ ด้านพลังงาน ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ด้านนวัตกรรมการเกษตร ฯลฯ

พร้อมทั้งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมการประชุม ถึงรูปแบบ ความคาดหวัง แนวทางการดำเนินการ และแนวทางการมีส่วนร่วมต่อการดำเนินงานของหน่วยงานใน consortium โดยในภาพรวม ที่ประชุมให้ความเห็นว่า การขับเคลื่อนควรมีการแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นรายสาขา รายเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนในภาพใหญ่ และคณะทำงานควรมีภาคเอกชนเข้าไปร่วมด้วย เพื่อสร้างให้เกิดการเชื่อมโยงตั้งแต่งานวิจัย ไปสู่การทำแผน ทำนโยบาย และลงไปสู่ภาคปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลไปยังประชาชนทั่วไป รวมถึงมีแนวทางการแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยีร่วมกันระหว่างกระทรวงหรือระหว่างหน่วยงานด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ 3. ทีฆจาริกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ 3. ทีฆจาริกวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ปัญจมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทน...