"มส."รับทราบการแก้ไขปัญหาพระภิกษุสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อเป็นกรอบ แนวทางการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาพระภิกษุสงฆ์สามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอินทพร จั่นเอี่ยม รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในนามเลขาธิการมหาเถรสมาคม ได้ลงนามในมติมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 25/2566 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม มติที่ 731/2566 เรื่องสรุปผลการประชุมกรณีปัญหาสถานะบุคคลของพระภิกษุ สามเณร ความว่า
ทั้งนี้เฟซบุ๊ก Phra Wisit Wongsai ได้โพสต์มติมส.ดังกล่าวพร้อมข้อความว่า "กว่าจะเป็นมติมหาเถรสมาคม” ความหวังการแก้ไขปัญหาพระสงฆ์ สามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อเป็นกรอบ แนวทาง การดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาพระภิกษุสงฆ์สามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย และความมั่นคงของพระพุทธศาสนา มติรับทราบปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหารวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคม เพื่อนำไปแก้ปัญหาสถานะบุคคล และสัญชาติอย่างเป็นรูปธรรม
ขออนุโมทนาขอบคุณภาคีเครือข่าย ๑.กรมการปกครอง ๒.กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ๓. กระทรวงศึกษาธิการ ๔. สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (สตช) ๕. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
๖.สํานักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ๗.มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ๘. มูลนิธิโพธิยาลัย"
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมศาลาปฏิบัติธรรม วัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการเสวนาเรื่อง “ทางออกสถานะการศึกษาสู่การเปลี่ยนแปลง” เพื่อหาแนวทางการจัดการศึกษาให้กับสามเณรไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ที่ไร้โอกาสทางการศึกษา
นายสันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่ากลุ่มสามเณรที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย กลุ่มชาติพันธุ์ที่รอพิสูจน์สัญชาติ รวมไปถึงกลุ่มเคลื่อนย้ายมาจากประเทศเพื่อนบ้านมายังประเทศไทยเพื่อวัตถุประสงค์ทางการศึกษา โดยสามเณรกลุ่มนี้เรียนและทำกิจกรรมร่วมกับฆราวาสแม้มีเงื่อนไขเป็นสมณเพศ ทั้งนี้เวลาจัดเก็บฐานข้อมูลนักเรียนรายบุคคล (Data Management Center: DMC) จำเป็นต้องใช้คำหน้านามเป็นเด็กหญิงเด็กชาย และต้องถอดจีวรโดยสวมใส่ชุดนักเรียนเพื่อถ่ายรูปติดบัตรนักเรียน ทั้งนี้เมื่อปี 2558 ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้แจ้งว่าสามเณรเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มผู้เรียน
“เราจึงพยายามช่องทางการศึกษาอื่นให้กับกลุ่มสามเณร เช่น โรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญ ที่จัดการเรียนการสอนภายใต้สำนักงานพระพุทธศาสนา แต่ได้จัดการศึกษาสำหรับมัธยมศึกษาขึ้นไปเท่านั้น เพราะฉะนั้นลูกเณรกลุ่มนี้จึงไม่ได้มีวุฒิการศึกษาในระดับประถมศึกษาเพื่อที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาได้ ทั้งนี้ก็พยายามหาแนวทางอื่น เช่น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ก็อายุไม่ถึงเกณฑ์เนื่องจากรับเฉพาะอายุ 15 ปีขึ้นไป และที่ผ่านมาเราไม่ได้มีการหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างจริงจังและไม่ได้มีแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับสามเณรกลุ่มนี้ จึงมีความกังวลว่าลูกเณรในระดับประถมศึกษาจะหลุดออกจากระบบการศึกษา”สันติพงษ์กล่าว
ขณะที่พระมหาสมเกียรติ สิริอรุโณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา กล่าวว่าที่ผ่านมาโรงเรียนปริยัติธรรม แผนกสามัญ ได้มีพระราชบัญญัติการศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 ที่ได้บังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาได้จัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา ม.1-ม.6 ผู้เรียน คือ พระภิกษุ สามเณร เท่านั้น เพราะฉะนั้นจะไม่สามารถจัดการเรียนการสอนนอกเหนือจากพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ตัวผู้เรียนคือลูกสามเณรในช่วงอายุระดับประถมศึกษาที่บรรพชาในภาคฤดูร้อนที่ได้สัมผัสและเรียนรู้ด้านพระพุทธศาสนาและไม่ต้องการลาสิกขา ทำให้สามเณรกลุ่มนี้ไม่ได้มีโอกาสเข้ารับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมศึกษา แผนกสามัญศึกษา เขต 5 คือ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน จำเป็นที่ต้องหาทางออกให้กับสามเณรเหล่านี้ที่ยังไม่จบประถมศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 ให้เข้ามาเรียนต่อมัธยมศึกษาให้ได้
“ก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนบาลีสาธิตศึกษา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และโรงเรียนดอยสะเก็ดวิทยาคม ได้มีการทดลองเปิดห้องเรียนประถมศึกษาเกิดขึ้นในปี 2566 โดยมีสามเณรในช่วงระดับประถมศึกษา 81 รูป เมื่อเราเปิดห้องเรียนแล้วจึงเอาชื่อสามเณรไปผูกติดไว้กับสถาบันการศึกษาทางไกล (สทก.) และมีศูนย์พัฒนาการศึกษาทางไกลลุ่มน้ำโขง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อให้มีสิทธิ มีสถานะที่เข้าถึงรหัสตัว G ที่กฎหมายรองรับไม่ให้หลุดออกจากการศึกษา แต่เวลาสอบวัดผลก็เป็นเรื่องยากลำบากเพราะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มีราคาสูง แม้จะมีการศูนย์การเรียนไร้ส้มวิทยา อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกแต่ก็ไม่ใช่ช่องทางที่ยั่งยืนในอนาคต” พระมหาสมเกียรติกล่าว
ด้าน ‘หทัยรัตน์ ชาญศรี’ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเชียงใหม่เขต 1 กล่าวว่า สำหรับเด็กไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ทางสพฐ.ได้กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ ตาก เชียงราย เป็นจังหวัดนำร่องที่เปิดการศึกษาให้กับเด็กรหัสตัว G-Code และกำลังผลักดันให้เด็กตัว G ได้รับเลข 13 หลัก เพื่อให้มีโอกาสถึงการศึกษาต่อได้และสามารถทำงานได้ ส่วนสามเณรที่ขาดโอกาสเข้าถึงการศึกษานั้น สพฐ.กำลังหาแนวทางให้สามเณรเข้าไปเรียนแต่ติดปัญหาในรูปแบบที่เปลี่ยนสถานะจากสมณภาพ เป็นเด็กหญิง เด็กชาย เพราะถ้าไม่เปลี่ยนจะทำให้ไม่ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อจัดการเรียนการสอนจากสพฐ. ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกและเรื่องสิทธิมนุษยชน ตอนนี้ทางสำนักงานได้มีการปรึกษาหารือกันระหว่าง (สพฐ.) กับ (สทก.) เบื้องต้นเพื่อจัดหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
นางวราภรณ์ ฟูสามป๊อก รองศึกษาธิการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา กล่าวว่า หากเปรียบเทียบสามเณรไร้รัฐไร้สัญชาติกับเด็กพิเศษ สามเณรกลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มเด็กพิเศษซ้ำซ้อน ที่มีภาวะปัญหา 2 อย่าง ในขณะนี้ได้รับเรื่องปัญหาสามเณรกลุ่มนี้แล้ว แนวทางการจัดตั้งศูนย์บ้านเรียนถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะให้โอกาสสำหรับลูกเณร โดยที่ผ่านมาเราทราบว่าศูนย์การเรียนไม่ได้รับงบประมาณในการสนับสนุนเนื่องจากมีมูลนิธิให้การสนับสนุนอยู่แล้วและทางสพฐ.ไม่มีงบประมาณให้การสนับสนุนให้กับศูนย์การเรียน ยกเว้นเปิดเป็นบ้านเรียน หรือ homeschool จึงจะมีงบประมาณสนับสนุนซึ่งมีผู้ปกครองเป็นผู้จัดการศึกษาให้กับลูกหลานเอง
“ส่วนเรื่องของศูนย์การเรียน ในเบื้องต้นได้ยื่นเรื่องเข้ามาและได้มีการรับเรื่องแล้ว โดยขณะนี้ต้องการให้ศูนย์การเรียนเสนอหลักสูตรเข้ามา ซึ่งหลักสูตรต้องเป็นหลักสูตรที่อิงกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีพ.ศ.2551 โดยเชื่อมโยงกับหลักสูตรพระปริยัติธรรมศึกษา แผนกสามัญศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาในเรื่องของกฎกระทรวงศึกษาธิการได้มีการกำหนดไว้ว่า การสอนของสำนักพระพุทธศาสนาได้มีข้อจำกัดและข้อห้ามของภิกษุ หรือสามเณร เอาไว้ จึงจะต้องมีการจัดทำหลักสูตรร่วมกันให้สอดและเหมาะสมให้กับศูนย์การเรียนที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งทางศูนย์ได้ขอจัดการเรียนการสอนในระดับชั้น ประถมศึกษา ป.1-ป.6 เมื่อยื่นเรื่องมาแล้วทางกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาจะมีการตรวจสอบในเรื่องของหลักสูตรว่าสอดคล้อง ปี พ.ศ.2551 และทางสำนักพุทธศาสนาหรือไม่ เพื่อจัดการเรียนการสอนให้กับลูกเณรอย่างมีคุณภาพ” นางวราภรณ์กล่าว
มณเฑียร คูคำมี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดการศึกษาของสามเณรอาจจะตกหล่นหรือยังไม่มีสถานภาพของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศต่อไป เราอาจจะเป็นเชียงใหม่โมเดลในการหาแนวทางการศึกษาในบางรูปแบบที่จะสอดคล้องกับการจัดการศึกษาให้กับลูกเณร เป้าหมายที่สูงขึ้นหวังว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมกับปัญหาและมีความชัดเจนเพื่อไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา
(https://transbordernews.in.th/home/?p=35934)
สภาฯไม่สนใจปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ตีตกญัตติตั้ง "กมธ.วิสามัญแก้"
เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม มีการประชุมพิจารณาญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทะเบียนหรือไม่มีสัญชาติไทย ที่นายปารมี ไวจงเจริญ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นผู้เสนอ
โดยสภาฯ เปิดให้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากนั้นมีการลงมติ โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 410 เสียง เห็นด้วย 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 245 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนนเสียง 0 เสียง ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการปัดตกไม่ให้ตั้งกมธ.วิสามัญดังกล่าว แต่ให้ส่งเรื่องไปยังกมธ.สามัญอื่นแทน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น