วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2566

ผู้นำต้องทำก่อน! ปลูก "ผักสวนครัว หล่อเลี้ยงชีวิต" พัฒนาการเมืองคอน น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริสร้างความมั่นคงด้านอาหาร



ปลูกผักสวนครัวสวนผสมในสวนหลังบ้าน "เป็นผู้นำต้องทำก่อน" ใช้พื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์ พร้อมทั้งเตรียมหารือร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมช่องทางการตลาด เพื่อสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนที่ปลูกผักสวนครัวในครัวเรือนจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566   นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงผลสำเร็จจากการปลูกผักสวนครัว รวมกว่า 30 ชนิด ในพื้นที่ 5 ไร่ ที่สวนหลังบ้านของตนเอง ณ บ้านควนยาว หมู่ที่ 1 ตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีหลักคิดที่สำคัญ คือ การน้อมนำเอาหลักการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอดจนหลักทฤษฎีใหม่ตามศาสตร์พระราชา และแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเพื่อนข้าราชการและพี่น้องประชาชน ตามแนวคิด "ผู้นำต้องทำก่อน" ซึ่งการมีผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้กินในครัวเรือน ปลูกผักที่ชอบ รับประทานผักที่ปลูก นำผักสวนครัวมาประกอบอาหาร เริ่มตั้งแต่การใช้พื้นที่ว่างในบริเวณสวนหลังบ้านให้เป็นประโยชน์ โดยหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจากพืชยืนต้นในสวน ก็แบ่งพื้นที่มาปลูกผักสวนครัว สามารถเก็บเกี่ยวได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งสามารถนำผลผลิตส่วนที่เหลือจากการบริโภคไปแบ่งปันหรือนำไปขายที่ตลาด ขยายผลต่อยอดสู่การ "สร้างรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ" เป็นต้นแบบให้กับพี่น้องประชาชน

นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตนในฐานะนักพัฒนาชุมชนซึ่งเป็นคนมหาดไทย มีแรงบันดาลใจ มี passion ในการรณรงค์ให้ประชาชนทุกครัวเรือนทั่วประเทศได้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินวิถีชีวิตประจำวัน ประกอบกับให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกมิติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งในด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  ตนมีต้นแบบคนสำคัญ คือ ท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ซึ่งทั้งสองท่านได้เน้นย้ำถึงการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตามโครงการ "บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง" และ "ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน" โดยปลุกพลังกลไกกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นผู้นำขับเคลื่อนในพื้นที่ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด พัฒนาการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ พัฒนากร เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้ปลูกพืชผักสวนครัว สร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ขับเคลื่อนการสร้างความมั่นคงทางอาหารมาโดยตลอด ตั้งแต่นายอภินันท์ เผือกผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คนที่ 51 ซึ่งท่านได้ทำสิ่งต่าง ๆ มากมายด้วยตนเอง แม้ว่าจะมีอายุราชการเพียงแค่ 1 ปี แต่ท่านก็ไม่เคยหยุดที่จะทำงาน ตลอด 365 วันที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คนที่ 51 จนทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การปลูกผักบนแปลง โคก หนองนา ณ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งท่านมีแนวคิดให้พวกเราทุกคนว่า "การจะทำให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวบ้านได้ เราจะต้องเริ่มทำของที่บ้านของหัวหน้าส่วนราชการก่อน" ต่อมาจนถึงในสมัยของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชท่านปัจจุบัน คือ นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เป็นผู้นำคนสำคัญในการเสริมสร้างสิ่งที่ดีในชีวิตของพี่น้องประชาชน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ทั้ง 2 ท่านได้เน้นย้ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะข้าราชการกรมการพัฒนาชุมชน ที่มีหน้าที่ดูแลการพัฒนาความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ซึ่งเรามีพัฒนาการอำเภอ 23 อำเภอ ก็ได้ดำเนินการแล้ว ซึ่งทุกเช้าพวกเราจะทำคลิปวีดีโอรณรงค์การปลูกผักสวนครัวในพื้นที่ของตนเองในลักษณะ "ผู้นำต้องทำก่อน" 

"จากการดำเนินการปลูกผักสวนครัวในพื้นที่บ้านของหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าว ทำให้สามารถช่วยเหลือครอบครัว อย่างน้อยคือครอบครัวของเราเองได้ ทำให้เห็นภาพว่า เราได้กินทุกอย่างจากผักที่เราปลูก เราได้กินผักที่เราอยากกิน และที่สำคัญที่สุด "เราได้กินผักปลอดสารพิษที่ทำให้เรา ปลอดภัยและมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง" เพราะการปลูกพืชปลอดสารเคมีเราใช้ภูมิปัญญาความรู้จากบรรพบุรุษและของชาวบ้านเอง ซึ่งเราสามารถนำไปถ่ายทอดเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ใช้ภูมิปัญญาความรู้ในการไล่แมลง กำจัดแมลง มาจากการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เช่น ตะไคร้หอม จึงเป็นผักปลอดสารพิษที่ทุกคนในครอบครัวมีความมั่นใจและสามารถรับประทานปลอดภัย ควบคู่กับการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน เพื่อที่จะนำเศษอาหารมาใส่รวมและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักสารบำรุงดิน ดังนั้น เราจึงสามารถทำให้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม และเห็นถึงผลประโยชน์ในสิ่งที่ชาวบ้านจะได้รับจากการปลูกพืชผักสวนครัวและผักปลอดสารพิษ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ตนได้เคยหารือกับผู้บริหารขององค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย ขณะที่ท่านมาตรวจราชการที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพูดคุยถึงเรื่องการขยายช่องทางตลาด โดยการนำผลผลิตของพี่น้องประชาชนไปขายเพื่อสร้างรายได้ เราจึงมีแนวคิดขยายผลจากหลัก "3 ร." คือ "โรงเรียนชุมชน โรงเรียนศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล" ไปสู่ ร. อันที่ 4 คือ "เรือนจำ" ซึ่งเป็นแนวคิดของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชคนที่ 51 ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดการรวมกลุ่ม เพื่อนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ผักสวนครัว คือ ผักปลอดสารพิษที่ได้จากแปลงโคก หนอง นาในพื้นที่ ซึ่งมีจำนวนกว่า 429 แปลง รวมถึงแปลงพืชผักสวนครัวในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยการส่งเสริมช่องทางการตลาดของภาครัฐอย่างถูกวิธีและยั่งยืน พร้อมกับรวบรวมเอาผลผลิตมาวางขาย ซึ่งตัวอย่างที่ผ่านมาเราได้มีการจัดงานสภากาแฟ โดยนำเอาผลิตภัณฑ์จากชาวบ้านมาวางขาย เป็นผลิตภัณฑ์ของดีที่มาจากธรรมชาติ 100% โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนที่มาวางขายกว่า 18,000 บาท ในวันเดียว ซึ่งจะได้ขยายผลโครงการฯ ร่วมกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีนครศรีธรรมราช (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เพื่อเป็นตัวเชื่อมในการนำเอาผลผลิตจำนวนมากของจังหวัดนครศรีธรรมราชไปเพิ่มช่องทางการตลาดได้อีกในอนาคต" นายจตุพลฯ กล่าวในช่วงต้น

นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต่ออีกว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชได้ทำอย่างจริงจังในการรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนทุกคนได้หันมาปลูกพืชผักสวนครัว 30 ชนิด อาทิ มะเขือยาว มะเขือเปราะ ตะไคร้ มะละกอ มะพร้าว สับปะรด พริกขี้หนู บัวบก ตำลึง ผักหวาน ผักน้ำ ผักกาด ผักคะน้า เป็นต้น ซึ่งเป็นผักที่เราทำกินเองตามปกติทุกวัน เพื่อทำให้ทุกคนมีผักรับประทานในครัวเรือน มีเหลือแบ่งปันเจือจุน และพัฒนาให้มีช่องทางที่จะขายได้ หากเรามีตลาด ทุกคนก็จะหันมาปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งตนในฐานะพัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราชมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในผู้นำเสริมสร้างสิ่งที่ดีดังกล่าว และไม่หยุดนิ่งไว้ที่ตัวเรา ด้วยการจัดทำคลิปวีดีโอนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เห็นว่าพื้นที่ที่เราได้ขับเคลื่อนปลูกผักสวนครัวอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อชีวิต รวมทั้งรณรงค์ให้ข้าราชการในสังกัด และเชิญชวนเพื่อนข้าราชการในจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ทำในลักษณะนี้ในทุกวัน และไม่ลืมที่จะนำแนวทางการทำงานแบบ RER หรือ Routine Job Extra Job และ Report โดยเฉพาะ  Report ถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบและให้คำแนะนำเพิ่มเติม

"นอกจากนี้ ตนยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นำเอาพื้นที่ว่างซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพักอาศัยในต่างประเทศและมีการเสียภาษีที่ดินอย่างถูกต้อง แต่ไม่ได้ใช้พื้นที่ในการทำประโยชน์ มาร่วมกันทำข้อตกลงเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ไม่มีพื้นที่ให้ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่แห่งนั้น โดยมีเรือนจำในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชทั้ง 4 แห่ง เป็นตลาดรับผลผลิต ซึ่งปัจจุบันเราได้ดำเนินการแปลงต้นแบบแล้วในพื้นที่อำเภอทุ่งสง เป็นแปลง HLM จำนวน 12 ไร่ โดยให้คนในครัวเรือนที่ตกเกณฑ์จาก TPMap และ ThaiQM มาประกอบอาชีพในพื้นที่ หารายได้ ซึ่งเจ้าของแปลงยินดีที่จะให้ใช้พื้นที่ในการทำประโยชน์ โดยใช้คันนาทองคำ ป่าโคก หนอง นา มาปลูกผักระยะสั้น แบ่งเป็นแปลงย่อย ๆ ให้แต่ละครอบครัวได้มาใช้ประโยชน์ เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันหลายครัวเรือน โดยตนคิดว่าสิ่งที่พวกเราทำในวันนี้ เราเดินมาถูกทางแล้ว เพราะไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์บ้านเมืองอย่างไร เราก็มีความมั่นคงในด้านอาหาร มีคลังอาหารไว้รับประทาน อีกทั้งทำให้ชาวบ้านมีรายได้จริง แต่สิ่งสำคัญ คือ "เราต้องทำอย่างต่อเนื่องและไม่ขี้เกียจ" ใช้พื้นที่ว่างทุกตารางเมตรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผมเองก็ใช้เวลาว่างเสาร์ - อาทิตย์ ในการปลูกผักสวนครัวร่วมกับครอบครัว โดยไม่ต้องลงทุนมาก ใช้แค่แรงกายแรงใจ และยังได้ประยุกต์ไปถึงการดูแลสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยร่วมกับคณะกรรมการฯ ส่งเสริมให้คนที่เป็นหนี้หรือไม่มีอาชีพที่มั่นคงที่เคยผิดพลาด มารวมกลุ่มกันใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่าง สามารถจะสร้างรายได้สร้างอาชีพ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน ขจัดความยากจนของพี่น้องประชาชนได้" นายจตุพลฯ กล่าวเพิ่มเติม

นายจตุพล ศรีดำ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวในช่วงท้ายว่า หากประชาชนทุกคนลุกขึ้นมาร่วมแรงร่วมใจกันปลูกผักทุกครัวเรือน รวมกลุ่มรวบรวมเอาผลผลิตร่วมกับทางราชการเพื่อขยายผลช่องทางการตลาด ก็จะเกิดผลดีอย่างยั่งยืน จึงขอเชิญชวนพี่น้องคนไทยทุกคนให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพึ่งพาตนเอง เพื่อที่หากเราต้องเผชิญในยามวิกฤต เราจะสามารถยืนด้วยตนเองได้ มีอาหารหล่อเลี้ยงชีวิตของตนเองและครอบครัว อันจะทำให้ทุกครัวเรือนมีความมั่นคงและมีความสุข นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

กกต.แจงขั้นตอนสมัครรับเลือกเป็น สว. พร้อมขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ 10 พ.ค.นี้

  เมื่อวันที่  8 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง แจ้งว่าผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา สามารถขอรับใบสมัครได้ตั้งแต่ว...