วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566

“เจ้าคุณประสาร”เปิดใจวันมหาปวารณา เพราะความจนจึงต้องสนใจการเมือง



เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566  “เจ้าคุณประสาร” หรือ พระราชวัชรสารบัณฑิต เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความเนื่องใน “วันมหาปวารณา” เล่าปมในใจที่ทำให้ชีวิตสนในการเมืองว่า

วันนี้เป็นวันมหาปวารณา ความหมายในทางพระพุทธศาสนาคือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ในการว่ากล่าวตักเตือนนั้นศัพท์ใช้คำว่าด้วยเมตตาการุณย์ และสำหรับผู้ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนนั้นก็จะนำไปปรับปรุงแก้ใข และจะไม่ทำในสิ่งนั้นๆอีก (ปฏิกฺกริสฺสามิ) สำหรับปวารณานั้นในทางสงฆ์ถือว่าทำกันเป็นปกติ ว่ากล่าวตักเตือนกันเสมอๆ ดังนั้นในวันนี้จึงถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวกันได้ครั้งใหญ่ ครั้งพิเศษ จึงเรียกวันนี้ว่า มหาปวารณา

พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้นหลักในการบวชคือบวชเพื่อศึกษาและฝึกฝนอบรมตนเอง ดังนั้นผู้ที่เข้ามาบวชจะต้องศึกษาในไตรสิกขาและจะต้องฝึกฝนอบรมตนเองเพื่อพัฒนาจิตใจให้ลดละในโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นรากเหง้าอกุศลมูล

ในส่วนอาตมานั้นในวันนี้ก็มีโอกาสได้ทำหน้าที่ในหลายเรื่อง หลากหลายบทบาทโดยอาศัยร่มเงาของพระพุทธศาสนาและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรวมทั้งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร ด้วย ในการทำหน้าที่ต่างๆนั้นมีทั้งคนยกย่องสรรเสริญ มีนินทาว่าร้าย มีคนพอใจ ได้ประโยชน์ มีคนเกลียดชัง สูญเสียประโยชน์ แต่นี่ก็เป็นไปตามโลกธรรม พระพุทธองค์ตรัสสอนไว้แล้ว โลกใบนี้จึงเป็นเช่นนั้นเอง เพราะทุกคนที่เกิดมาก็ล้วนแต่จะต้องพบต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ ไม่มีใครหลีกหนีไปได้ สำคัญขอให้เรา ตัวเราหนักแน่น มั่นคงยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง ดีงามคำนึงถึงประยชน์ของชาติ พระศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรวมทั้งวัดมหาธาตุด้วย

ส่วนตัวอาตมานั้นนอกจากงานในหน้าที่ต่าง ๆ อย่างที่เล่ามาแล้ว อาตมายังมีแนวคิด แนวปฎิบัติและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนหลายกลุ่ม หลายพวก ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มทางการเมือง ซึ่งในทางการเมืองนั้นแน่นอนว่าเมื่อใคร ผู้ใดได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแล้วไม่ว่าพระหรือฆราวาสก็ย่อมจะมีความร้อน แผดเผา ซึ่งก็เป็นธรรมดาและเป็นไปตามธรรมขาติ เมื่ออาตมาได้เข้าไปสัมผัสมาพอสมควรแล้ว จึงมีผู้คนกล่าวหาว่าเป็น “พระการเมือง” พระฝักไฝ่การเมือง พระเล่นการเมือง เป็นต้น ซึ่งอาตมาก็ต้องยอมรับและยังต้องยอมรับผลต่าง ๆที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

วันนี้อาตมาจึงยืนยันว่าอาตมามีจุดยืนในเรื่องนี้แบบหนักแน่น เนื่องจากเห็นประโยชน์ของการเมือง และ นักการเมือง ตอบสนองสิ่งที่ชาวชนบทแบบอาตมา ไฝ่ฝันและต้องการได้ นั่นคือ

อาตมาเป็นคนชนบทอีสาน คนบ้านนอกเกิดมาพร้อมสมบัติติดตัวคือความยากจน ความยากจนค้นแค้น อัตคัดขัดสน ชาวบ้านยากจน ขาดโอกาส ถูกเอารัดเอาเปรียบ และคนอีสานยังถูกดูถูกเหยียดหยามสารพัดอีกด้วย อาตมาจึงสนใจการเมือง เกี่ยวข้องกับการเมืองเพราะมองเห็นว่าการเมือง และอำนาจทางการเมืองนั้นจะช่วยเหลือผู้คนทั้งประเทศได้ ช่วยให้คนมีอาชีพ มีรายได้ให้หายจน ลืมตาอ้าปากได้ มีศักดิ์มีศรี มีการสาธารณสุขดีมีคุณภาพชีวิต ให้โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม ไม่เหลือมหล้ำ สิ่งเหล่านี้ถ้าตัวเราเองมีเงินเป็นหมื่น เป็นแสนล้านก็ทำไม่ได้ การเมือง อำนาทางการเมือง อำนาจรัฐเท่านั้นที่จะทำได้ ที่จะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ของประเทศได้ อาตมาสนใจ เข้าไปเกี่ยวข้องในเรื่องการเมือง มีจุดยืนทางการเมืองในแง่มุมนี้ ในแง่มุมนี้จริง ๆ จะเห็นได้ว่าถ้ามองลงไปให้ลึกแล้วอาตมาจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองทำนองนี้หลายท่าน หลายคนเช่น โครงการอีสานเขียว   โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน สงครามความยากจน สงครามยาเสพติด 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ที่อาจทำให้หลายคน หลายพวกไม่ชอบ ไม่พอใจ เกลียดขัง มองอาตมาในภาพการเมืองในแบบที่อาจจะไม่ลงในรายละเอียดแต่นี่คือตัวตนที่แท้จริงของอาตมา.

วันมหาปวารณา ก็เลยเปิดโอกาสเปิดใจเล่าความในใจให้ทราบ ทั้งปรารถถึงเรื่องวันมหาปวารณาคือวันที่ชาวพุทธ พระภิกษุกล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ และรวมถึงมูลเหตุที่ต้องสนใจการเมือง..


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๔. เสขปริหานิยวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ๔. เสขปริหานิยวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ บทนำ พระไตรปิฎกเล่มที่ 2...