วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2566

วธ. เสริมสร้าง Soft Power ในมิติศาสนา ร่วม“เทศกาลนวราตรี” 9 วัน 9 คืน ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)



วธ. เสริมสร้าง Soft Power ในมิติศาสนา ร่วมสืบสานเทศกาลแห่งการฉลองบูชาพระแม่อุมาเทวี ครั้งยิ่งใหญ่ “เทศกาลนวราตรี” 9 วัน 9 คืน ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม)

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566  เวลา 08.30 น. นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ประธานในพิธีอภิเษกสมรสของพระแม่อุมาเทวีและพระศิวะ งานเทศกาลนวราตรี ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมี นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้นำองค์การศาสนา ศาสนิกชน องค์กรเครือข่าย ประชาชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมในพิธี ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ดำเนินนโยบายร่วมกับองค์การศาสนา 5 ศาสนาจัดโครงการ“เสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา” ประกอบด้วย กิจกรรม “เสน่ห์วันวาน เทศกาลงานวัด” ของศาสนาพุทธ “วันอาซูรอสัมพันธ์” ของศาสนาอิสลาม “เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส” ของศาสนาคริสต์“เทศกาลนวราตรี”, “เทศกาลดิวาลี” ของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู และ “วันครบรอบ 554 ปี วันคล้ายวันประสูติคุรุนานักซาฮิบ องค์ปฐมศาสดา” ของศาสนาซิกข์ เพื่อส่งเสริม Soft Power ในมิติศาสนา 5 ศาสนา สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติศาสนา เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มั่นคง และสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันระหว่างศาสนิกชนส่งผลให้เกิดความสงบสันติสุขของสังคม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวต่อไปว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนา ได้ร่วมกับองค์การทางศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ในประเทศไทย ประกอบด้วย สำนักพราหมณ์ราชครู ในสำนักพระราชวัง สมาคมฮินดูสมาช สมาคมฮินดูธรรมสภา และวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) จัดงานเทศกาลนวราตรีระหว่างวันที่ 14 – 24 ตุลาคม 2566 ณ วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขกสีลม) แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยเทศกาลดังกล่าว เป็นช่วงเวลาที่ศาสนิกชนชาวฮินดูบูชาพระแม่อุมาเทวี จากความเชื่อตามตำนานที่พระแม่อุมาเทวี ได้ปราบอสูรที่ชื่อว่า “มหิษาสูร” ที่สร้างความเดือดร้อนวุ่นวายไปทั่ว เหล่าทวยเทพจึงอัญเชิญพระแม่อุมาเทวีในร่างอวตารเป็นองค์ “พระแม่ทุรคา” ซึ่งสู้รบกับมหิษาสูรตลอดทั้ง 9 วัน 9 คืน และปราบลงได้สำเร็จในวันที่ 10 ศาสนิกชนจึงได้จัดพิธีขึ้นเพื่อบูชาพระแม่อุมาเทวีในชัยชนะครั้งนี้ และในวันที่ 10 คือ วันสุดท้ายของเทศกาล เรียกว่า “วันวิชัยทศมิ” หรือ “วันรามนวมี” อันมีความหมายถึงวันเฉลิมฉลองในชัยชนะในคืนที่สิบซึ่งแสดงถึงธรรมะที่สามารถชนะอธรรม และการมีปัญญา ศาสนิกชนจะมีการนำเทวรูปพระแม่อุมาเทวีและเทวรูปอื่นๆ ขึ้นขบวนแห่ไปบนเส้นทางเพื่อรับบารมีจากองค์เทพในคืนนี้ ตลอดเทศกาลศาสนิกชนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ ๆ สวยงาม เต้นรำ ร้องเพลง และเฉลิมฉลองกันตลอดทั้งวันทั้งคืน 

ทั้งนี้ ภายในงานดังกล่าว ยังมีการจัดกิจกรรมบูชาองค์เทพที่สำคัญของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ที่เป็นที่เคารพนับถือของศาสนิกชน ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญซึ่งเป็นไปตามลำดับวันในพิธี ดังนี้ 

วันที่ 14 ต.ค. ซึ่งเป็นวันก่อนเริ่มเทศกาลนวราตรี จะมีการบูชาองค์พระพิฆเนศวร เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ตามคติฮินดูที่ว่า ก่อนเริ่มบูชาเทพทุกองค์ต้องเริ่มบูชาจากองค์พระพิฆเนศวรก่อนเสมอ ต่อมาในช่วงบ่ายถึงค่ำเป็นพิธีบูชาเทพประจำแผ่นดิน และเทพแห่งดาวนพเคราะห์ทั้งเก้า เพื่อขอจัดงานนวราตรีประจำปี เมื่อกำหนดการทั้งหมดเสร็จสิ้น จะมีพิธีบูชาพระแม่ทั้ง 3 ตลอดทั้งวันเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ตามกำหนดการดังนี้ 

วันที่ 15 – 17 ต.ค. 66 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาทุรคา เทพแห่งอำนาจ บารมี  

วันที่ 18 – 20 ต.ค. 66 พิธีบูชาองค์พระแม่มหาลักษมี เทพแห่งความมั่งคั่ง อุดมสมบูรณ์  

วันที่ 21 – 23 ต.ค. 66 พิธีบูชาพระแม่มหาสรัสวดี เทพแห่งศิลปวิทยาการ 

ที่สำคัญในวันที่ 21 ต.ค. 66 ช่วงเช้า มีการจัดพิธีอภิเษกสมรสขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและองค์พระศิวะมหาเทพ ซึ่งจะมีการจัดรูปแบบของขบวนขันหมากและพิธีอภิเษกตามความเชื่อของศาสนาฮินดู โดยจัดเพียง 1 ครั้งในรอบปีเท่านั้น จึงเป็นพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจจากศาสนิกชน และคู่รักหรือคู่ครองที่จะมาขอพรเพื่อการแต่งงาน และการสมหวังในความรัก โดยในปีนี้กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาได้รับเชิญร่วมในพิธีการสำคัญนี้อีกด้วย

อีกหนึ่งพิธีกรรมที่ได้รับความสนใจอย่างมาก คือ ขบวนแห่วันวิชัยทัศมิ ประจำปี 2566 ในวันที่ 24 ต.ค. 66 ถือเป็นการแห่เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะขององค์พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ในภาคพระแม่ทุรคา ที่มีชัยต่อมหิษาสูรตามตำนาน ซึ่งในขบวนแห่ดังกล่าว ประกอบด้วยรถแห่ จำนวน 5 คัน คือ รถแห่องค์พระพิฆเนศวร รถแห่พระขันธกุมาร รถแห่พระกฤษณะ รถแห่พระกตวรายัน และรถแห่พระแม่ ทั้ง 3 องค์ คือ พระแม่ศรีมหาอุมาเทวี พระแม่มหาลักษมี และพระแม่มหาสรัสวดี โดยขบวนแห่เริ่มเคลื่อนออกจากวัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก สีลม) ซึ่งเมื่อหลังจากเสร็จพิธีแล้ว คณะพราหมณ์จะนำสายสิญจน์ที่ผ่านทำพิธีตลอดทั้ง 10 วัน มาผูกข้อมือให้แก่สานุศิษย์ผู้ศรัทธา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว. วธ.) กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการเสน่ห์แห่งสีสัน เทศกาลแห่งศรัทธา ภายใต้การจัดกิจกรรมเทศกาลของศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู เป็นการส่งเสริมให้ศาสนิกชนได้ปฏิบัติศาสนกิจตามศาสนา อันเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันศาสนาให้เป็นเสาหลักที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณธรรม ศาสนิกชนทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความรักสามัคคีสืบต่อไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเทศกาลในมิติทางศาสนา เป็นการยกระดับเทศกาลประเพณีให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดความศรัทธาและความเชื่อ โดยการบูชาสิ่งที่เป็นวัตถุมงคล และของที่ระลึก ที่จะช่วยส่งเสริมรายได้ให้กับผู้ประกอบการในการขายสินค้าและบริการต่าง ๆ ก่อให้เกิด สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในมิติศาสนา ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ธรรมิกวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์

  วิเคราะห์ธรรมิกวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 14 อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ ธรรมิกวร...