วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"ผอ.สันติศึกษาป.โท มจร" แนะยกพิธีกรรมเป็นวิถีแห่งปวารณาเป็น Soft Power ทางพระพุทธศาสนา


วันที่ ๒๙  ตุลาคม  ๒๕๖๖  ที่วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ  อำเภอวังน้อย  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  พระปราโมทย์  วาทโกวิโท, ดร.  ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ระดับปริญญาโท  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)   เปิดเผยว่าวันนี้(๒๙  ตุลาคม  ๒๕๖๖  ตรงกับขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ เป็นวันออกพรรษาของพระสงฆ์ โดยนิยามของคำว่าปวารณา หรือ มหาปวารณา เป็นวันที่เปิดโอกาสอนุญาตให้เตือนกันและกันได้ ในมิติของกายภาพ พฤติภาพ จิตตภาพ และปัญญาภาพของแต่ละบุคคลและคณะ ถือว่าเป็นการป้องกัน (สังวรปธาน) เพื่อรักษาภาพลักษณ์โดยรวมของคณะรวมถึงเป็นการรักษาศรัทธาสร้างเชื่อมั่นสร้างความไว้วางใจ การสะท้อนหรือการเตือนกันจึงเป็นเครื่องมือของการอยู่ร่วมกันอย่างพุทธสันติวิธี จึงมีคำกล่าวว่า “อันตรายของบุคคลเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่มีใครสามารถเตือนได้” โดยมองว่าตนเองดีที่สุดจนขาดกัลยาณมิตร ขาดครูบาอาจารย์ ขาดโค้ช เคยตักเตือนหรือสะท้อนเพื่อการพัฒนา จึงมองว่าบุคคลที่สุดยอดและไปได้ไกลจะต้องมีโค้ช มีกัลยามิตร มีครูอาจารย์คอยสะท้อนเพื่อการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น 

จึงตั้งคำถามว่าในทางปฏิบัติเราสามารถเตือนกันได้จริงหรือไม่ โดยภาษาสมัยใหม่เราใช้การโค้ชด้วยเครื่องมือ “ฟัง ถาม สะท้อน ชื่นชม” แต่ต้องอนุญาตกันจริงๆ ซึ่งในความเป็นจริงยากมากที่เราจะตักเตือนใครยกเว้นบุคคลนั้น “ใช้อำนาจเหนือในการตักเตือนผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง” จึงมองว่าวันปวารณากระบวนการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้เป็นแนวทางที่ดีมาก “สามารถตักเตือนกันได้โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น” แต่ในทางปฏิบัติแล้วยังมองว่ายังไม่มี “ขั้นตอน วิธีการปฏิบัติ กระบวนการ” ที่นำไปสู่ “วัฒนธรรมเตือนกันอย่างสันติ” ส่งผลการนำไปสู่ความขัดแย้งหลบในรอวันระเบิดได้ ซึ่งความขัดแย้งหลบในน่ากลัวกว่าความขัดแย้งที่ปรากฏออกมา  จึงมองว่าวันปวารณาเป็น “พิธี ไม่ใช่ วิถี” พิธีอาจจะทำเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้นความในใจยังเก็บไว้อยู่ ทำอย่างไรจะยกระดับไปสู่ความเป็น “วิถีแห่งปวารณา” เป็นสันติวัฒนธรรมที่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข      

สิ้นสุดการจำพรรษามาถึงวาระแห่งการออกพรรษา รวม ๒๐ พรรษา รวมตั้งแต่เป็นสามเณร ๒๙ พรรษา จึงสะท้อนถึงปวารณาอันมุ่งให้สามารถเตือนกันและกันได้แต่ต้องมีความใจกว้าง มีขันติธรรม เคารพในความแตกต่าง แต่การเตือนที่ดีที่สุดจงเตือนใจของตนเอง “เตือนใจตนดีที่สุด” ว่าที่ผ่านมาเราผิดพลาดอะไรบ้าง ประมาทอะไรบ้าง ขาดสติกระทบใครบ้าง เป็นการทบทวนอดีตเพื่ออยู่กับปัจจุบันด้วยสติ ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตที่ดีงาม การมีกัลยาณมิตรคอยตักเตือนคอยให้คำปรึกษานับว่าเป็นบุญมหาศาลอย่างยิ่ง เพราะ “บุคคลที่น่าสงสารมากคือใครเตือนอะไรไม่ได้เลย” แต่การกล่าวเตือนจะต้องได้รับการอนุญาตก่อน เป็นการเตือนด้วย “ความจริง ไพเราะ เหมาะกาล ประสานสามัคคี มีประโยชน์ ประกอบด้วยเมตตา ปรารถนาดีเป็นฐาน” 

การเตือนจึงเป็นขุมทรัพย์ที่ดีเพื่อการนำไปพัฒนาต่อยอด แต่การเตือนที่ดีที่สุดคือการเตือนจิตใจของตนเอง อย่ารอให้ใครมาเตือน แต่จงหมั่นเตือนตนเองเป็นวัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต ระวังวาจาก่อให้เกิดความขัดแย้ง เพราะ “การโกหกมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าการพูดความจริงเสมอ” เพราะต้องจ่ายด้วยความน่าเชื่อถือของตนเอง จงหมั่นสร้างสัจจบารมี  สิ่งที่น่าสนใจมากในกระบวนการออกพรรษา คือ “ระบบอาวุโส” ซึ่งเป็นการความเคารพกันโดยมีการเคารพกันด้วยระบบอาวุโส ซึ่งไม่เกี่ยวกับตำแหน่งภายนอกใดๆ ซึ่งการเคารพกันในระบบอาวุโสถือว่าเป็นแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงให้สงฆ์ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติถือว่าเป็นพุทธสันติวิธี ตำแหน่งจะมากมายแต่เข้ามาสู่โครงสร้างสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ จะต้อง “เคารพกันตามระบบอาวุโสเท่านั้น” ถ้าสงฆ์ยังยึดมั่นในหลักการนี้จะนำมาซึ่งความผาสุกตลอดไป 

วันออกพรรษาที่มีเครื่องปวารณาเป็นฐานเป็นการป้องกันความขัดแย้งและป้องกันการใช้ความรุนแรง ซึ่งสอดรับกับ “สันติวัฒนธรรมในองค์กร” การทำสันติวัฒนธรรมไม่ใช่ไม่มีความขัดแย้ง เราไม่สามารถขจัดความขัดแย้งออกไปได้แต่เราสามารถบริหารไม่ให้เกิดความขัดแย้ง จึงต้องทำ   ๓ มิติ ประกอบด้วย “การป้องกัน การจัดการ การเยียวยารักษาสันติภาพ” โดยมุ่งการเคารพยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย เช่น ความแตกต่างทางเพศ ความแตกต่างทางศาสนา  สันติวัฒนธรรมต้องไม่ใช้ความรุนแรงทางตรงและทางอ้อม สร้างวัฒนธรรมที่ไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงสันติวัฒนธรรมจากการฟังกันอย่างจริงจัง สร้างความเข้าใจเกิดฉันทามติ เพราะเสียงส่วนใหญ่อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ จะต้องสร้างความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ

จึงมองว่า “การปวารณาจึงเป็นสันติแห่งวัฒนธรรม” อันประกอบด้วย ๑)วัฒนธรรมเคารพยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย ๒)วัฒนธรรมไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ๓)วัฒนธรรมการฟังนำไปสู่ทางออกอย่างพึงพอใจ ๔)วัฒนธรรมการขอขมาและการโทษอย่างจริงจัง ๕)วัฒนธรรมการให้อภัยให้กันและกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเริ่มจากตัวเราผ่านการแง้มใจ จึงต้องวิเคราะห์ความขัดแย้ง บุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างสันติวัฒนธรรม ซึ่งสันติวัฒนธรรมอาจจะไม่มีสูตรสำเร็จแต่เราสามารถนำไปบูรณาการได้ทุกมิติรวมถึงวัฒนธรรมของการปวารณา

จึงสรุปว่าวันปวารณาจึงเป็นสันติวัฒนธรรมนับว่าเป็นวิถีแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยนำไปสู่กระบวนการผ่านเครื่องมือการโค้ช โดยมีขั้นตอนประกอบด้วย ๑)การสะท้อนตนเองว่าในรอบสามเดือนหรือหนึ่งที่ผ่านมาท่านทำอะไรได้ดีพร้อมเป็นมีคุณค่าและมีความหมายต่อชีวิต ๒)ความผิดพลาดของตนเองผ่านการกระทำท่านมีความผิดพลาดอะไรบ้าง ๓)จะปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นอย่างไรบ้าง ๔)เป้าหมายที่อยากจะลงมือทำให้สำเร็จท่านจะลงมือทำอะไร อย่างไร        โดยมุ่งกลับมา “ปวารณาตน” ด้วยการกลับมาดูตนในสิ่งที่ต้องพัฒนาของตนเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะการไปปวารณากับคนอื่นไปสะท้อนคนอิ่นอาจจะนับมาซึ่งความขัดแย้งที่แสดงออกและความขัดแย้งหลบในถ้าไม่มีขั้นตอนที่ถูกต้องและมีใจไม่กว้างพอ การปวารณาจึงต้อง “ปวารณาสติ” ด้วยการมีสติทั้งสองฝ่าย สอดรับกับสัมมุขาวินัยเป็นการอยู่พร้อมหน้ากันและสติวินัยมีสติทุกฝ่าย ในอธิกรณสมถะ  จึงไม่ควรใช้วิธีการ “ปวารณาอคติ”  ซึ่งการปวารณายังป้องการดราม่าอีกด้วย 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ออโต้ ไดรฟ์ อีวี" ผนึก "แกร็บ แท็กซี่" เปิดให้เช่า"แท็กซี่ไฟฟ้า" ธุรกิจสีเขียว ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ออโต้ ไดร์ฟ อีวี จับมือ แกร็บ ประเทศไทย หนุนโครงการ Grab EV เร่งให้พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เช่ารถแท็กซี่ไฟฟ้า รับ-ส่งผู้โดยสารผ่...