วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เวที 50 ปี 14 ตุลาชี้เอ็นจีโอช่วยชาวบ้านแก้ปัญหา ชื่นชมคนเวียดนามรำลึกถึง "ลุงโฮ" วีรบุรุษตลอดกาล



เมื่อวันที่  14  ตุลาคม 2566  เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์  ถนนราชดำเนิน กรุงเทพมหานคร มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา  (ถ.ศรีนครินทร์ แขวงพัฒนาการ เขตสวนหลวง กทม. 10250) จัดสัมมนาทางวิชาการครั้งที่ 5  เนื่องในโอกาสครบรอบ 50ปี 14 ตุลา ในหัวข้อ “จังหวะก้าวการพัฒนาทีสมดุล ต่อเนื่อง มั่นคง และรอบด้าน” มีบรรดาอดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลา  2516 และ 6  ตุลา 2519  อดีตนักการเมือง และอดีตผู้นำในภาคส่วนต่างๆ พร้อมประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมงาน อาทิ นายชั่งทอง โอภาสศิริวิทย์ อดีตตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด  นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสมาชิก นายปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระ นายพงษ์ศักดิ์ พยัคฆวิเชียร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส นายพีรพล ตริยะเกษม ประธานมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา  และนายไพศาล พืชมงคล นักคิดอิสระ 


นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต กรรมการมูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายหัวข้อการเคลื่อนไหวองค์กรชุมชนและการเมืองว่า ช่วง 14 ตุลา ตนเองเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรมากเป็นพวกสุขนิยมมากกว่า ขณะเดียวกันในศิลปากรก็ผลิตนักคิดนักเขียนมากมาย อย่างเช่น 2 กุมารจากคณะโบราณคดี คือ  สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ที่ได้แต่งกลอน ความว่า “กูเป็นนิสิตนักศึกษา วาสนาสูงส่งสโมสร ย่ำค่ำนี่จะย่ำไปงานบอลล์  เสพเสน่ห์เกสรสุมาลี กูเป็นนิสิตนักศึกษา พริ้งสง่างามผงาดเพียงราชสีห์ มันสมองของสยามธานี ค่ำนี้กูจะนาบให้หนำใจ กูเป็นนิสิตนักศึกษา เจ้าขี้ข้ารู้จักกูหรือไหม หัวเข็มขัด กลัดกระดุม ปุ่มเน็คไทร์ หลีกไปหลีกไปอย่ากีดทาง 

“บทกลอนทำให้เกิดสะกิดใจและเกิดแรงกดดัน และเข้ามาร่วมในเหตุการณ์ 14 ตุลา ตอนนั้นยอมรับว่าไม่กลัวใคร ไม่กลัวตาย และถูกด่าว่าเป็นกบฏ ซึ่งก็เหมือนกับเด็กที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตอนนี้ พวกตนเคยมีประสบการณ์มาก่อน และได้บอกให้เด็กๆเหล่านี้ใจเย็นๆ”  



นายชัยพันธ์กล่าวว่า หลังช่วง 14 ตุลา เกิดการพัฒนาชุมชน โดยองค์กรพัฒนาชุมชนหรือเอ็นจีโอ  ซีงตนเองทำงานกับสมัชชาคนจน ซึ่งเป็นการรวมพลังของกลุ่มต่างๆที่มีปัญหาทั้งพวกป่าไม้ สลัม และเกษตรกร หลายเรื่องแก้ได้เพราะเอ็นจีโอ แต่ตอนนี้เอ็นจีโอกลับถูกตราหน้าว่ารับเงินต่างชาติ ซึ่งในความเป็นจริงก็มีทั้งเอ็นจีโอดีและไม่ดี ยกตัวอย่างเขื่อนปากมูลสร้างโดยไม่ได้ศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาจากสหประชาชาติย้อนหลังกลับไประบุว่าไม่ควรสร้าง เพราะเป็นการสร้างกั้นลำน้ำ ทำให้น้ำตีย้อนกลับไปท่วมอำเภอวารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ส่งผลให้ปลาหลายสายพันธุ์สูญไปจำนวนมาก 

ขณะที่ชาวบ้านที่นั่นอาศัยทำประมงน้ำจืด เพราะทำนาข้าวปลูกได้เพียงฤดูเดียว ส่วนคนที่อยู่บนเขาบนดอย ก็มีการไปไล่คนบนดอย กล่าวหาว่าไปตัดไม้ทำลายป่า ไปบุกรุก ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปจับม้งบนดอยปุย แทนที่จะแก้เขตอุทยานแห่งชาติ คนพวกนี้เขาเดือดร้อนก็ต้องไปรวมตัวกัน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เอ็นจีโอต้องเข้าไปช่วย



 “เรื่องเหล่านี้แก้ได้อย่างไร เมื่อไหร่ก็แก้ไม่ได้สักที กี่รัฐบาลก็ทำไม่ได้ เพราะเรื่องทั้งหมดความผิดพลาดมาจากเรื่องของการเมือง ที่สำคัญอยู่ที่นักการเมือง บ้านเราไม่มีนักการเมืองที่น่าชื่นชม ช่วยบอกหน่อยว่าจะชื่นชมใครดี ผมเองชื่นชมลุงโฮเวลาไปเวียดนาม  วันนี้มีคนร้องไห้ให้กับลุงโฮอยู่เลย ที่โฮจิมินห์ ศพลุงโฮยังเก็บไว้อยู่ที่โฮจิมินห์ แผ่นดินที่มีอยู่นี้ ถ้าลุงโฮไม่ลุกขึ้นพาสู้ จะไม่มีเวียดนามวันนี้ เขารำลึกถึงขนาดนี้ แต่ของบ้านเรานั่งด่าบรรพบุรุษ รู้ไหมว่ารัชกาลที่ 5 กว่าจะต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด ต้องนั่งเรือ 3 เดือนเพื่อไปเยอรมันไปรัสเซีย เพื่อขอให้ฝรั่งเศส อังกฤษ อย่ามาแบ่งภาคสยาม เด็กพวกนี้เคยรู้ไหมถ้าปล่อยให้การเมืองอยู่แบบนี้  จะไปต่อไม่ได้ ”   

ก่อนจบการอภิปราย นายชัยพันธ์ท่องบทกลอนบทหนึ่งว่า  “ไม่มีอำนาจใดในโลกเหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป มายืดหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมจะมีชีวิตใหม่ เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน”

 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการ

  วิเคราะห์แนวนโยบายเชิงรุกในการป้องกันและคุ้มครองพระพุทธศาสนาที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบสำนักงานพระพุทธศาสนาแ...