"เศรษฐา" นำคณะลงพื้นที่ติดตามน้ำท่วมอีสาน 6-7 ต.ค.นี้ รวมถึงจะเยี่ยมชมโครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่อีกด้วย สส.เพื่อไทยชงทำฝายซอยซีเมนต์ ทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำโดยด่วน ทำฟลัดเวย์ระบายน้ำภาคเหนือ–ภาคกลาง เพิ่มถนนสัญจรได้อีก ขยายและเพิ่มประตูระบายน้ำและเพิ่มเครื่องดันน้ำ รื้อฟื้นโครงการบริหารจัดการน้ำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาพิจารณาใหม่
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดยโสธร และจังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ 6-7 ตุลาคมนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย สั่งการช่วยเหลือประชาชน รวมถึงจะไปมอบสิ่งของแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงจะเยี่ยมชมโครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติดในพื้นที่อีกด้วย
โดยวันนี้(6 ตุลาคม) นายกรัฐมนตรีและคณะ จะเดินทางออกจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 (บน.6) ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ไปยังท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยในเวลา 13.15 น. นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย สั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปสถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M7) บริเวณเชิงสะพานเสรีประชาธิปไตย ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี เพื่อพบปะประชาชน และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะไปติดตามสถานการณ์อุทกภัยและพบปะประชาชนต่อที่อำเภอพิบูลมังสาหาร, และที่แก่งสะพือ ตำบลพิบูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
วันที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 น. นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการพบปะประชาชน และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ บ้านทรายงาม ตำบลกุดกุง อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้นในช่วงบ่าย เวลาประมาณ 14.00 น. นายกรัฐมนตรีจะตรวจเยี่ยมโครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติด ณ สถานีตำรวจภูธรหัวโทน อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด แล้วเดินทางกลับกรุงเทพมหานคร
การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะไปติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำชี-มูล รวมทั้งติดตามสถานการณ์อุทกภัยและการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ยังคงมีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างเป็นวงกว้าง
คณะของนายกรัฐมนตรีประกอบด้วย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายพงศ์ศรัณย์ อัศวชัยโสภณ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง จะร่วมคณะตรวจราชการไปในโอกาสนี้
ขณะที่เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และส่งเรื่องให้รัฐบาลดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมี สส.พรรคเพื่อไทยอภิปรายพร้อมนำเสนอข้อมูลข้อเสนอแนะที่จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมร่วมถึงเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
ทำฝายซอยซีเมนต์ ทำธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำโดยด่วน
นายธีระชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่ามีคำถามในใจมาตลอดว่าทำไมภาคอีสาน ถึงมีปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งหนักซ้ำซากทุกปี โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่ในที่ลุ่มใกล้แม่น้ำ จะมีปัญหาน้ำเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ท่วมเรือกสวนไร่นา ส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรและประชาชนอย่างแสนสาหัส
ในภาคอีสาน ลุ่มน้ำที่สำคัญคือ ลุ่มแม่น้ำชี แม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง แต่ปัญหาคือ น้ำเหล่านี้ไหลลงตอนล่างของแม่น้ำมูลผ่านแก่งสะพือ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นเขื่อนหินธรรมชาติคล้ายตัวล็อกน้ำทำให้ท้ายน้ำระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้ยาก รัฐเคยคิดทำทางผันน้ำอ้อมลำน้ำมูล หรืออ้อมแก่งสะพือแต่ก็ทำไม่ได้ รวมถึงด้วยลักษณะภูมิศาสตร์ เมื่อมีน้ำมากเกินก็ไม่มีทางระบายน้ำออกด้านข้างซ้ายขวาได้เหมือนลุ่มน้ำเจ้าพระยารวมถึงสภาพดินในอีสานเป็นดินทราย น้ำมามากก็กัดเซาะริมตลิ่งดินพังทลาย รวมถึงผังเมืองและชุมชนที่ขวางทางไหลของน้ำจึงทำให้น้ำท่วมทุกปี
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป คือปรากฎการณ์เอลนีโญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งในระยะสั้นนี้อยากขอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเร่งด่วนคือยังไม่ควรทำโครงการขนาดใหญ่ แต่เร่งใช้ทรัพยากรไปกับโครงการขนาดเล็ก ฝายซอยซีเมนต์ (ผลการศึกษาอยู่ที่รองศาสตราจารย์ สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 และประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมลํ้า ล่าสุดได้เสนอแนวคิดกับกระทรวงมหาดไทย) ธนาคารน้ำใต้ดิน (ดูต้นแบบที่วัดป่าศรีแสงธรรม อ.โขงเจียม อ.อุบลราชธานี ตรงตามแนวคิดของนายเศรษฐาที่ระบุว่าเทคโนโลยีขั้นต่ำ) เร่งหาพื้นที่ในการกักเก็บน้ำให้ถี่มากที่สุดเพื่อบรรเทาปัญหาในหน้าแล้งที่จะมาถึงโดยด่วน
ทำฟลัดเวย์ระบายน้ำภาคเหนือ–ภาคกลาง เพิ่มถนนสัญจรได้อีก
นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ สส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีนโยบายการสร้างฟลัดเวย์ คือสร้างทางด่วนระบายน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาเวลามีน้ำมาก แนวผันสองข้างทางของแม่น้ำเจ้าพระยา เรียกว่าฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาข้างละ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑล
วันนี้โครงการนี้ยังไม่เกิดเพราะเกิดรัฐประหาร และผมเชื่อว่าถ้าไม่มีการรัฐประหาร โครงการนี้จะเกิดขึ้นและช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในที่ลุ่มเจ้าพระยา นอกจากจะได้ทางระบายน้ำแล้ว สองข้างทางของฟลัดเวย์ยังจะได้ถนนสองข้างทางเพิ่มทางสัญจรให้พี่น้องประชาชนควบคู่กันไปอีกด้วย
ขยายและเพิ่มประตูระบายน้ำและเพิ่มเครื่องดันน้ำ
นางเทียบจุฑา ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมที่ง่าย สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอโครงการใหญ่ คือการใช้ประตูระบายน้ำและลำคลองที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า ลำคลองและทางระบายน้ำมีปัญหาตื้นเขิน ขาดการขุดลอกคลองมีวัชพืชปกคลุมเต็มจนกีดขวางทางระบายน้ำ ซึ่งทราบมาว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะใช้งบประมาณแค่เล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ตลอดสองลำน้ำในอีสานมีประตูระบายน้ำช่วยกักเก็บน้ำจำนวนมาก แต่ประตูระบายน้ำดังกล่าว เป็นประตูระบายน้ำเก่าและแคบ ขาดการบำรุงรักษา ถ้ามีงบประมาณจำนวนหนึ่งช่วยขยายประตูระบายน้ำให้ใหญ่ขึ้น และมีเครื่องดันน้ำเพิ่มขอแค่ประตูละ 5 เครื่องเท่านั้น ก็จะช่วยระบายส่งน้ำในแต่ละช่วงประตูได้รวดเร็วช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังของพี่น้องได้อย่างรวดเร็วขึ้นแน่นอน
รื้อฟื้นโครงการบริหารจัดการน้ำสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลับมาพิจารณาใหม่
นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ สส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าปีก่อนน้ำท่วมบ้านเรือนพี่น้องหมื่นครัวเรือน ปีนี้ท่วมพันกว่าครัวเรือน ไม่ได้อยู่ที่ท่วมมากท่วมน้อย แต่ท่วมทุกปี สงสารพี่น้องต้องคอยแต่เคลื่อนย้ายข้าวของ ที่จริงอีสานเคยมีโครงการ 2 โครงการ คือโครงการผันน้ำมูลสู่แม่น้ำโขงสมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และโครงการการบริหารจัดน้ำอย่างบูรณาการสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร โครงการดังกล่าวหายหมด เชื่อมั่นว่าในรัฐบาลนี้ จะนำโครงการดังกล่าวกลับขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง และถ้าเราทำได้สำเร็จ หลายจังหวัดในภาคอีสานตั้งแต่นครราชสีมา สุรินทร์ ศรีสะเกษ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด รวมถึงอีกหลายจังหวัด ประชากรหลายล้านคน เกษตรกรหลายล้านไร่จะได้ประโยชน์กักเก็บน้ำยามหน้าฝนและมีน้ำใช้ในหน้าแล้งอย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น