เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 นางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลและกระทรวงแรงงานเตรียมปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ในปี 2567 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่พี่น้องแรงงานซึ่งนับตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันเป็นต้นมาประเทศไทยมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำทั้งหมด 4 ครั้ง ในรอบ 10 ปี ส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการ นายจ้าง มีความกังวลจากการขึ้นค่าแรงงานดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิต โดยในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีความชัดเจนว่า วันที่ 1 มกราคม 2567 คนไทยกลุ่มลูกจ้างจะได้ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน และจะขึ้นทั่วประเทศหรือไม่นั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมการที่จะหารือร่วมกับ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ เพื่อสรุปแนวทางที่ชัดเจนภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 และประกาศเป็นของขวัญปีใหมปี 2567 ให้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณากำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบด้วย ค่าครองชีพ ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ สภาพเศรษฐกิจและสังคม และผลิตภาพแรงงาน ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะช่วยให้แรงงานมีฐานะความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้น ทำให้มีเงินมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ภาระค่าครองชีพสูง และเมื่อมีการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้น ทำให้รัฐบาลมีโอกาสที่จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นด้วย
นางสาวบุปผา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้รับข้อสั่งการจาก นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้เร่งดำเนินการ Upskills Reskills ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะในสาขาที่ มีการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน เช่น สาขาช่างเชื่อม ซึ่งมีความต้องการ ทั้งสถานประกอบกิจการในประเทศและความต้องการในต่างประเทศ ในระยะสั้นนี้จะมีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเพื่อผลิตแรงงานและ up Skill กลุ่มผู้ประกอบอาชีพงานช่างเชื่อม ให้มีความชี่ยวชาญเฉพาะด้าน สำหรับสาขาอื่นๆ ได้ตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือทั่วประเทศเพิ่มสาขาอาชีพ ให้ครอบคลุม 129 สาขาที่ได้ประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือไปแล้ว รวมถึงมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการได้รับการส่งเสริมศักยภาพแรงงาน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการพัฒนาทักษะให้แก่ลูกจ้างของตน โดยปี 2567 มีเป้าหมายยกระดับทักษะแรงงานรองรับการจ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ และเพิ่มผลิตภาพแรงงานรวมกว่า 4 ล้านคน
ต้นทุนค่าแรงนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการ แต่อาจไม่ใช่ทั้งหมด ธุรกิจก็ต้องเทียบกับผลิตภาพแรงงาน หรือความสามารถในการทำงาน เพื่อสร้างสินค้าและบริการนั้น ๆ ออกมาด้วย โดยผลิตภาพแรงงานนั้นเกิดจากการที่แรงงานมีทักษะ ความรู้ และความสามารถในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและมีศักยภาพ เช่น มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ มีทักษะในการทำงานกับเทคโนโลยีและเครื่องจักรกลที่มากขึ้น ทำให้สามารถผลิตสินค้าและบริการนั้นได้ด้วยต้นทุนที่ลดลง ซึ่งการพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถ และผลิตภาพแรงงาน ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายแรงงาน ฝ่ายผู้ประกอบการ รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐ ที่ต้องสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถมีจุดสมดุลของเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้อย่างเหมาะสม อธิบดีบุปผา กล่าวท้ายสุด และกองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น