วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566

อาจารย์ทองย้อยปรารภ! วัดในเมืองวัดในกรุง "ไม่รู้ว่าวัด..หรือบ้าน"??



เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 66 พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย ได้โพสต์เฟชบุ๊คส่วนตัวในนามเพจ “ทองย้อย แสงสินชัย” ว่า “ไม่รู้ว่าวัดหรือบ้าน”  วันนี้ (๒ ตุลาคม ๒๕๖๖) ผมไปสนทนาธรรมกับพระธรรมปัญญาภรณ์ (ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗) หลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุราชบุรี ท่านปรารภว่า วัดในเมือง วัดในกรุง เดี๋ยวนี้ เข้าไปแล้วไม่รู้ว่าวัดหรือบ้าน

บรรยากาศของวัด หาแทบไม่เจอ-ท่านว่า

“บรรยากาศของวัด” ตามทัศนะของหลวงพ่อคือ ต้นไม้ร่มรื่น มีนกหนูปูปีกมาอาศัย มีไก่วัด หมาวัด-บ่งบอกถึงความเป็นเขตอภัยทานและเมตตาธรรม ได้ยินเสียงพระเณรท่องสวดมนต์ ท่องหนังสือนักธรรม-บาลี ภาพพระเณรกวาดวัด เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว บางทีแทบไม่รู้ว่านี่วัดหรือบ้านกันแน่-ท่านว่า

ผมนึกถึงญาติมิตรหลายท่าน ช่วงโรคระบาด วันพระไม่ได้ไปทำบุญที่วัด ท่านก็ “ทำบ้านให้เป็นวัด” คือไหว้พระสวดมนต์ รักษาศีล ปฏิบัติธรรมอยู่กับบ้าน ชาวบ้านทำบ้านให้เป็นวัด

แต่ชาววัดกำลังทำวัดให้เป็นบ้าน

เดี๋ยวนี้ –

อะไรที่มีในบ้าน ก็มีในวัดทุกอย่าง

อะไรที่ชาวบ้านเขามีกัน ชาววัดก็มีครบหมด

แม้แต่การบอกชื่อพระ เดี๋ยวนี้เราก็บอกเหมือนชาวบ้านกันหมดแล้ว

ญาติมิตรจะสังเกตเห็นว่า เวลาผมเอ่ยถึงชื่อหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุราชบุรี ผมจะวงเล็บว่า “ไพบูลย์ ชินวํโส ป.ธ.๗” กำกับไว้ด้วยทุกครั้ง

นี่คือการบอกชื่อพระแบบชาววัด

อย่างนี้เองที่หลวงพ่อท่านว่า-เข้าวัดแล้วไม่รู้ว่าวัดหรือบ้าน

เมืองไทยเรามีวัดราวๆ ๓๐,๐๐๐ วัด เป็น “ทุน” ขนาดมหึมา

วัดเหล่านี้เป็นฐานปฏิบัติการที่วิเศษที่สุดในการศึกษาและปฏิบัติธรรม หรือที่เรียกว่า-เผยแผ่พระพุทธศาสนา

แต่ต้องทำวัดให้เป็นวัดจริงๆ ก่อน

ทำวัดให้มีบรรยากาศของวัดจริงๆ

“บรรยากาศของวัดจริง ๆ” คืออะไร คืออย่างไร หวนกลับไปศึกษาเรียนรู้อดีต ได้ข้อมูลแล้วเอามาวางแผนปัจจุบันและกำหนดอนาคต บรรยากาศของวัดจริงๆ คืออย่างนี้ๆ เช่น-ต้องมีสิ่งนี้ๆ ต้องไม่มีสิ่งนี้ๆ

จะให้เป็นอย่างไร ตกลงกันเสียให้แน่นอน อย่างที่คำสมัยใหม่เรียกว่า ทำโมเดลของวัด

ยกตัวอย่างเช่น-วัดต้องร่มรื่นด้วยแมกไม้

@siampongnews #หนังสือสวดมนต์กระแตปกแข็ง ♬ Dj Jalan Pargoy X Goyang Jaypong - DJ MIFTAH

ไม่ว่าพระระดับไหน-จะจบดอกเตอร์หรือจบประถมสี่ ล้วนเข้าใจหน้าที่ตรงกันว่า ถ้ามาเป็นสมภารวัด-ไม่ว่าวัดในชนบท วัดในเมือง วัดในกรุง ไม่ว่าวัดกว้างวัดแคบวัดใหญ่วัดเล็ก ต้องทำวัดให้ร่มรื่นด้วยแมกไม้ให้จงได้ นี่เป็นนโยบายคณะสงฆ์ไทย ไม่ใช่อัธยาศัยส่วนตัวของสมภาร นี่ในด้านกายภาพ

ส่วนในด้านคุณภาพ ก็กำหนดมาตรฐานลงไป เช่นกิจวัตรประจำวัน ตั้งแต่ตื่นจากที่จำวัดจนเข้าที่จำวัดทำอะไรบ้าง ทุกวัดปฏิบัติตรงกันตามมาตรฐาน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ เช่น-ออกบิณฑบาตทุกเช้า ทำวัตรเช้าทุกเช้า ทำวัตรเย็นทุกเย็น …

อะไรอีก กำหนดลงไป ทุกวัดปฏิบัติตรงกันตามมาตรฐาน

ถามว่า ที่ฝันเฟื่องมานี่ ในทางปฏิบัติจริงๆ ทำได้ไหม?

ตอบว่า ทำได้ ทรัพยากรของเรามีพร้อมที่จะทำได้จริง ๆ  แต่ภูเขาหิมาลัยที่ขวางทางอยู่ก็คือ ผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารการพระศาสนาท่านไม่ทำ..


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วราวุธ" เผย พม.จับมือ พศ.- กรมการศาสนา ตั้งศูนย์คุ้มครองเด็กและสามเณร สร้างพื้นที่ปลอดภัยแก่เด็กและเยาวชนหากถูกละเมิด

เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2567  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมยุษย์ (รมว.พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเด็ก ...