วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2566

"เศรษฐา" เผยนำร่องทั้งจังหวัดชัยนาท ทำธนาคารน้ำใต้ดิน หวังช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง



เมื่อวันที่  14  ตุลาคม 2566  เวลา 14.45 น. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงการเดินทางมาลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก วันนี้ ว่า เมื่อเช้าที่มาก็ต้องขอโทษนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ด้วย นึกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่อยากรบกวนช่วงวันเสาร์ แต่มาเจอปัญหาเรื่องของน้ำประปาที่เป็นท่อระบบเก่ามา 87 ปี ก็เลยโทรไปปรึกษารองนายกฯ ซึ่งรองนายกฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวมาเองดีกว่า ซึ่งตนกับรองนายกฯ ก็จะช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป โดยเรื่องน้ำประปาในการอุปโภคบริโภค ของ จ.พิษณุโลกเป็นเรื่องใหญ่ ท่อระบบส่งน้ำสร้างมา 87 ปีแล้ว ฉะนั้นน้ำมีการรั่วไหลตลอดเวลา ไปถึงประชาชนจริง ๆ แค่ 52% ก็น่าเห็นใจ  โดยจะไปดูเรื่องการบริหารจัดการน้ำตรงนี้ให้ดี ส่วนพื้นที่บางระกำ ก็มีปัญหา จุดที่ไปเรื่องคลองส่งน้ำยังไม่ดีพอ ซึ่งพื้นที่จุดนี้ที่มาก็มีปัญหาน้ำท่วมเช่นกัน พอฤดูฝนน้ำก็ท่วม ฤดูร้อนก็แล้ง หน้าที่เราคือต้องทำให้ไม่ท่วมไม่แล้ง ซึ่งตนได้มีการสอบถามกรมวิชาการเกษตร เรื่องการให้องค์ความรู้กับเกษตรกร เกี่ยวกับเรื่องความเป็นกรดเป็นด่าง หรือการทดสอบปุ๋ยในดินมีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพราะจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกร ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรสูงขึ้น และค่าใช้จ่ายที่น้อยลง ถ้ามีการทดสอบก่อน ให้รู้ก่อนว่ามีการขาดปุ๋ยตัวไหน จะได้ให้ปุ๋ยได้ตรงทำให้ผลผลิตสูงขึ้น  

 นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการทำงานเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ว่า จะให้มองตนเองแล้วบอกว่าตนเองทำอย่างไรคงไม่เหมาะสม ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสินดีกว่า หวังว่าจะได้รับความเป็นธรรม และสื่อมวลชนก็ทราบว่าเราทำงานหนักมาก ทำงานทุกวัน วันนี้วันเสาร์วันหยุด รัฐมนตรีหลายท่านก็มา ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เราทำงานทุกวัน พยายามที่จะหาทางออกระยะสั้นให้กับพี่น้องประชาชนในแง่ของการบรรเทาค่าใช้จ่าย เราลดค่าไฟแล้ว ลดค่าน้ำมันดีเซลแล้ว เกษตรกรที่เดือดร้อน เราก็พักหนี้แล้ว และจะมีนโยบายออกมาเรื่อย ๆ 

ส่วนเรื่องนโยบาย Digital Wallet นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกเสียงของประชาชนถือว่าเป็นเสียงที่เราต้องฟัง รวมถึงเสียงของผู้ที่คัดค้านด้วย เสียงแนะนำด้วยว่าจะปรับปรุงอย่างไรเพื่อให้เป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน อยากจะฟังเสียงทุกเสียง ไม่ได้จะไม่ฟังใครหรือไม่น้อมรับคำเตือน

 ส่วนการให้กำลังใจพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็เห็นใจเพราะบางพื้นที่ท่วมแล้วท่วมอีก แล้งแล้วแล้งอีกทุกปี ต้องมีการแก้ไขอย่างบูรณาการ รัฐบาลก็เพิ่งเข้ามาบริหารจัดการได้เพียงเดือนเดียวก็ต้องทำงานต่อไป 

ผู้สื่อข่าวถามว่า การมาลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมในครั้งนี้มั่นใจหรือไม่ว่า รอบนี้ปีนี้พื้นที่ภาคกลางจะไม่มีน้ำท่วมยาว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มั่นใจ เพราะเพิ่งเข้ามาได้เดือนเดียว และเห็นถึงปัญหาว่าสะสมมานาน แต่ก็จะช่วยบรรเทาพื้นที่ที่มีการท่วม ทั้งนี้ ต้องคิดระยะกลาง ระยะยาว ด้วยว่าปีหน้าจะทำอย่างไรอีก 3 ปีจะทำอย่างไร ก็คงต้องมีโครงการออกมาอีกพอสมควร 

ส่วนกรณีธนาคารน้ำใต้ดินที่จะป้องกันน้ำแล้ง ที่จะทำได้ภายใน 3 เดือนเป็นอย่างไรนั้น นายกฯ กล่าวว่า ทฤษฎีธนาคารน้ำใต้ดินเป็นทฤษฎีที่หลายภาคส่วนเห็นด้วย แต่ก็ต้องการให้พื้นที่ที่มีความต้องการธนาคารน้ำใต้ดิน ต้องให้เขาเห็นด้วย ถึงจะทำได้ ซึ่งเมื่อกลางวันที่ผ่านมา จากหารือกับนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี จะมีการนำร่องทำธนาคารน้ำใต้ดินที่ จ.ชัยนาท ทั้งจังหวัด แล้วจะดูว่าจะสามารถช่วยเรื่องไม่ท่วมไม่แล้งได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ หากจังหวัดอื่นหรือเขตอื่นเห็นด้วยก็พร้อมที่จะขยายออกไป โดยรูปแบบธนาคารน้ำใต้ดินจะต้องขุดบ่อ สมมติขนาด 40 เมตร คูณ 40 เมตร ขุดลงไปก่อนให้ทะลุชั้นดินเหนียว ไม่จำเป็นต้องลึกถึงตาน้ำ แล้วจะเป็นพื้นที่เก็บกักน้ำเวลาฝนตกลงมา จะซึมลงไปทะลุสะดือน้ำไปเก็บอยู่ใต้ดิน เวลาหน้าแล้งก็ดูดน้ำไปใช้ น้ำที่เก็บขังอยู่ใต้ดินเหนียวก็จะถูกดูดกลับขึ้นมาทำให้บ่อน้ำสามารถช่วยเรื่องฤดูแล้งได้ด้วย ฤดูฝนฝนตกลงไปก็ซึมลงไป ช่วยเรื่องไม่แล้งไม่ท่วมได้ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เราพยายามผลักดันกันมานานแล้ว แต่ก็เข้าใจว่ามีบางท่านไม่เห็นด้วย เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการมีความเห็นแย้งคือต้องพิสูจน์ แทนที่จะทำทั้งประเทศก็ทำในจังหวัดที่ สส. หรือประชาชนเห็นด้วยว่าควรจะต้องทำ ก็จะทำก่อน โดยอยากให้มีการเข้าใจและเป็นส่วนหนึ่งของพลังที่มีความเชื่อในทฤษฎีนี้จริง ๆ แล้วจึงบริหารจัดการกันไประหว่างที่คอยโครงการใหญ่ ๆ เช่น การขุดคลองขนาดใหญ่ หรือทางเบี่ยงน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณมาก เรื่องนี้ก็จะช่วยบรรเทาหรืออาจช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนด้วย 

ส่วนจะมีโอกาสเห็นระบบบูรณาการน้ำสำเร็จในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็อยากเห็นเพราะระยะเวลา 4 ปีก็เป็นระยะเวลาที่ยาวพอสมควร บางโครงการก็บอกว่าจะทำภายในปี 2567 ถ้าเริ่มต้นได้เร็วและผ่านงบประมาณแล้ว ก็อยากให้เร่งทำ เพราะเวลาคนเดือดร้อนก็คือเดือดร้อน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หนังสือ: ไวยากรณ์ภาษาบาลียุคเอไอ

คิดเขียนโดยดร.สำราญ สมพงษ์ - แชทจีพีที สารบัญ 1. คำนำ ความสำคัญของภาษาบาลีในโลกปัจจุบัน บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพัฒนาการศึกษาและการเ...