เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ฟื้นแผนพิงคนคร ชุบชีวิตเชียงใหม่ ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานดำเนินการ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เคลื่อนงานพื้นที่ พัฒนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และพื้นที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการให้เชียงใหม่เป็นมหานครท่องเที่ยวภาคเหนืออย่างเต็มภาคภูมิ
ดร.ปลอดประสพ ผู้ริเริ่มโครงการพิงคนคร กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ได้เริ่มแผนพิงคนคร เพื่อให้ภาคเหนือของประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางแห่งภูมิภาคอินโดจีน สร้างการท่องเที่ยว สร้างการเดินทาง สร้างเงิน สร้างงานให้คนไทย โดยมี 3 เสาหลักคือ (1) เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ในรูปแบบ Nature Theme Park ซึ่งมีเพียงไม่กี่แห่งในโลก (2) พืชสวนโลก งานมหกรรมจัดแสดงด้านพืชสวนกลางแจ้ง โชว์ศักยภาพด้านการเกษตร และการจัดงานระดับโลกในประเทศไทย และ (3) หอประชุมเฉลิมพระเกียรติและศูนย์แสดงสินค้า OTOP ขนาด 60,000 ตารางเมตร แถมด้วยแผน Cable Car ขึ้นดอยสุเทพ ท่องเที่ยวเส้นทางวิถีชีวิตชาวเขา และ Fresh Water World ที่ใหญ่ที่สุดในโลก คงกลิ่นไอการท่องเที่ยวด้านศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี และความสวยงามตามธรรมชาติของป่าเขาลำเนาไพรครบทุกมิติ
“พิงคนคร เคยดำเนินการและมีแผนพร้อมแล้ว เพียงปัดฝุ่นด้วยทีมทำงานที่มีประสิทธิภาพ ก็จะสามารถทำได้ทันที 10 ปีที่แล้วได้เริ่มต้นไว้ วันนี้ต้องกลับมาทำต่อ แต่ก็ยินดี จากนี้พิงคนคร จะไม่ใช่แค่หน่วยงานทำงบประมาณประจำปีเท่านั้น แต่ต้องสร้างและพัฒนาโครงการใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศไทย กลับมาดึงดูดสายตาคนทั่วโลกเหมือนในอดีตอีกครั้ง” ประธานดำเนินการกล่าว
นายจักรพล กล่าวปิดท้ายว่า การฟื้นแผนพิงคนคร คือการสนับสนุนและสอดคล้องไปกับนโยบายของรัฐบาล โครงสร้างพื้นฐาน เช่น แผนขยายสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ และแผนการสร้างสนามบินแห่งใหม่เพิ่มเติม รัฐบาลนี้ก็พร้อมรื้อแผนและเริ่มติดตามผลักดันหลายส่วนไปแล้ว ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หลั่งไหลเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าการทำงานระดับนโยบายท้องถิ่นที่มีอยู่ โดยได้รับการสนับสนุนนโยบายระดับประเทศ จะยิ่งผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย เชื่อมโยงพื้นภาคเหนือ และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เข้ากับภูมิภาคอินโดจีน-ประเทศจีนตอนล่าง รวมถึงบางประเทศในเอเชียงใต้ เป็นการพัฒนาพื้นที่ทั้งด้านคุณภาพและความหลากหลายอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น