เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัดจากแดง ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และสถาบันโพธิยาลัย ได้จัดสัมมนาระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2566 โดยมีคณะภิกษุครูบาอาจารย์ผู้ทรงความรู้จากหลายประเทศคือ ไทย, เมียนมา, กัมพูชา และศรีลังกา เรื่องการวางหลักสูตรเพื่อการเข้าถึงพระไตรปิฎก ได้อย่างครบถ้วนทั้งอรรถะและพยัญชนะ (สาตฺถํ สพฺยญฺชนํ)จึงได้ลงมติตั้งเป็นสมาคมขึ้น ชื่อว่าติปิฏกาลังการสมิติ (สมาคมติปิฏกาลังการะ) และได้ข้อเห็นพ้องจากที่ประชุมตั้งหลักสูตรชื่อว่า หลักสูตรธัมมาลังการะ
โดยคัมภีร์หลักๆ ที่เรียน คือ พระวินัยปิฎก, อังคุตตรนิกาย และธรรมบท แบ่งเรียนเป็น 3 ชั้น (ชั้นละประมาณ 15 สัปดาห์ หรือรวมระยะเวลาเรียน 3-5 ปี)
ชั้นที่ 1 เรียน พระวินัยปิฎก มหาวรรค, อังคุตตรนิกาย เอกก-ติกนิบาต, ธรรมบท 2 วรรค
ชั้นที่ 2 เรียน พระวินัยปิฎก จุลวรรค-ปริวาร, อังคุตตรนิกาย จตุกก-ฉักกนิบาต, ธรรมบท 8 วรรค
ชั้นที่ 3 เรียน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์-ภิกขุนีวิภังค์, อังคุตตรนิกาย นิบาตที่เหลือ, ธรรมบท วรรคที่เหลือ
คุณสมบัติของผู้จะเข้าเรียนหลักสูตรธัมมาลังการะ
- ทรงจำภิกขุ-ภิกขุนีปาติโมกข์ได้ พร้อมทั้งเคยเรียนกังขาวิตรณีอรรถกถา
- ได้กัจจายนสูตร พร้อมทั้งเคยเรียนปทรูปสิทธิ, ปทวิจาร
- เคยเรียนอภิธัมมัตถสังคหอรรถกถาพร้อมทั้งอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา
- เคยเรียนมาติกา, ธาตุกถา และยมก
- เคยแปลธัมมปทัฏฐกถามาแล้ว
ขณะที่คณะทำงานกำลังจัดทำสื่อการสอนหลักสูตรอยู่
ขณะที่ พระเมธีวัชรบัณฑิต ผู้อำนวยการวิทยาลัย วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติและผู้อำนวนการหลักสูตรสันติศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Hansa Dhammahaso" ว่า แนวทางที่ครูบาอาจารย์กลุ่มนี้กำลังดำเนินการนับว่าน่าสนใจมาก ส่วนตัวมองว่า การศึกษาแบบนี้จะทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าเนื้อตัวของคัมภีร์บาลีที่เป็นคัมภีร์ชั้นต้นของพระพุทธศาสนา ภาษาใด ทรงไว้ซึ่งพุทธพจน์ ภาษานั้น เรียกว่าภาษาบาลี ตามนัยแห่งบาลีที่ว่า พุทธวจนัง ปาเลตีติ ปาลี เพราะเวลาที่เราพูดถึงคำว่า บาลี ย่อมหมายถึงผู้เรียนพุ่งตรงไปที่คัมภีร์หลัก ก่อนที่จะขยายไปสู่อรรถกถา ฏีกา อนุฎีกา และปกรณ์วิเสสต่างๆ
การเรียนภาษาบาลีเพื่อเข้าถึงนัยแห่งบาลีในเชิงลึก ทั้งการฟัง พูด อ่าน และเขียนเป็นภาษาบาลีล้วนๆ โดยยังไม่ต้องเจือปนกับภาษาอื่นๆ จะทำให้เข้าถึงเจตนารมณ์ และช่วยตอบโจทย์ของครูบาจารย์ว่า เพราะเหตุใด?? จึงต้องออกแบบระบบและระเบียบภาษาขึ้นมาใหม่เพื่อบรรจุหลักธรรมคำสอนที่พระพุทธเจ้าค้นพบแล้วนำมาสอนเหล่าสาวกทั้งหลาย
น่าสนใจว่า มหาจุฬาฯ เอง หาคนเรียนสาขาบาลี ระดับปริญญาโท และเอก เพื่อเข้าถึงหัวใจบาลียากเต็มทน ทั้งๆ ที่การเรียนสาขาบาลีคือการพาตนเองไปสู่น่านน้ำแห่งหลักคำสอนที่ถูกต้องโดยไม่ต้องให้ใครมาแปลหรือบอกว่าคำสอนที่แท้จริงคืออะไร เพราะเราสามารถเข้าได้ด้วยการเรียนรู้ หรือว่า ปัญหาอยู่ที่ระบบการศึกษาแบบตะวันตกที่แบ่ง หรือแยกส่วนการเรียนรู้แบบหน่วยกิต ไม่ว่าจะเป็นวืชาละสองหรือสามหน่วยกิต อาจจะไม่เหมาะกับการเรียนบาลี เป็นไปได้ไหมว่า การเรียนบาลีต้องเรียนแบบองค์เรียน เป็นสูตร เป็นหมวดๆ โดยไม่ถูกตัดขาด ตัดตอนด้วยระบบหน่วยกิต
ในที่สุด จึงต้องกลับมาเรียนรู้แบบที่พระสงฆ์กลุ่มนี้กำลังจับมือกันออกมาประกาศแนวทางในการเรียนรู้ตามประเพณีนิยมที่ครูอาจารย์สายเถรวาทได้เคยสั่งสมประสบการณ์จากรุ่นสู่รุ่น โดยใช้การเรียนรู้บาลีผ่านการฟัง พูด อ่าน และเขียนด้วยภาษาบาลีบริสุทธิ์ 100% เพื่อรักษาคำสอนบริสุทธิ์ 100% ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เรากำลังเห็นกลุ่มพระสงฆ์ที่ตั้งใจ มีศรัทธา และมีสติปัญญา จับมือกันทำงานรักษาภาษาบริสุทธิ์ ที่ทำหน้าที่รักษาคำสอนบริสุทธิ์ โดยไม่สนใจปริญญานอกตามแนวทางการจัดการศึกษาแบบตะวันตก แต่มุ่งการศึกษาที่พัดพาผู้เรียนถึงปริญญาในด้วยคำสอนบริสุทธิ์ที่ถอดรหัสผ่านภาษาบาลีบริสุทธิ์
ขออนุโมทนาในความตั้งใจของพระสงฆ์กลุ่มนี้ ที่กำลังเดินทางมาในจังหวะที่ถูกที่ถูกทาง และเหมาะสมโดยประการทั้งปวง สำหรับความมุ่งมั่นในศึกษาบาลีแท้ เพื่อรักษาคำสอนแท้ ให้ภาษาบาลีเป็นหนึ่งในภาษาศาสนาสากลสำหรับรักษาคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้า เพื่อความยั่งยืนของพระพุทธศาสนาสืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น