วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2566

“ศุภมาส” รมว. อว. แนะ สอวช. ช่วยเสริมดันสระบุรีแซนด์บ็อกซ์เมืองคาร์บอนต่ำ



“ศุภมาส” รมว. อว. นำคณะเข้าเยี่ยมชมและรับฟังแนวทางการดำเนินงานของ สอวช. มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ดันสระบุรีแซนด์บ็อกซ์เมืองคาร์บอนต่ำ ลดก๊าซเรือนกระจก 8.5 ล้านตันคาร์บอนฯ

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566   นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและบุคลากรกระทรวง อว. เข้าเยี่ยมชมและรับฟังแนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ณ สอวช. อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 โดยมี ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. และคณะผู้บริหาร สอวช. รวมถึงหน่วยบริหารและจัดการทุน ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เข้าร่วมต้อนรับและให้ข้อมูลถึงแนวทางการดำเนินงาน

ดร.กิติพงค์ กล่าวถึง กรอบแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ในระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วน-ระยะกลาง แบ่งเป็น 4 กรอบแนวทาง ได้แก่ 1) การบ่มเพาะ พัฒนาทักษะ ให้คำปรึกษา กับกลุ่ม SME รวมถึงผู้ประกอบการในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ อาหารแห่งอนาคต (Future Food) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) 2) การใช้โมเดลและแพลตฟอร์มแก้จน (ข้อมูลกระบวนการทางสังคม นวัตกรรม เทคโนโลยี) ในการพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นและครัวเรือน 3) การส่งเสริมพื้นที่สีเขียว ผ่านการใช้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ทดสอบนวัตกรรม ปรับโครงสร้างพลังงาน (Green Campus - Solar Rooftop/Smart Energy System) รวมถึงการใช้นวัตกรรมในการพัฒนาเมืองที่เป็นพื้นที่นำร่อง (เขตนวัตกรรม Net Zero Emission) และ 4) การพัฒนาคน 3 ช่วงวัย ผ่านการสนับสนุนให้เกิดมหาวิทยาลัย 1 Sandbox การ Reskill/Upskill แรงงานทักษะสูง และการจัดนิทรรศการ 1 ภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายในระยะยาว คือการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมของประเทศ ซึ่งมีแผนปฏิบัติการแบบ Quick Win เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศคือ มีระบบสนับสนุนผู้ประกอบการครบวงจร เพื่อให้ธุรกิจโตจำนวน 3,000 ราย สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร 1,000 ราย มี Virtual Production Lab ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ 10 แห่ง มีผู้ประกอบการสร้างสรรค์มากกว่า 3,000 ราย และมี Thai Content Platform 4 เครือข่าย/สาขา ภายในระยะเวลา 1 ปี สนับสนุนรายได้ผู้ประกอบการให้เพิ่มขึ้น 3,000 ราย มีสัดส่วนและมูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร 350,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการและมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น 5,000 ล้านบาท โดยขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฐานการผลิตและบริการที่สำคัญของ Creative Content ในเอเชีย ภายใน 3 ปี

ด้านการกระจายโอกาสและความเจริญสู่ภูมิภาค ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ครัวเรือนจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมแก้จนและสร้างอาชีพ 150,000 บาทต่อปี ภายใน 1 ปี  และขยายผลไปยังพื้นที่รวม 40 จังหวัด ภายใน 3 ปี ในด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม การขับเคลื่อน Green Campus ตั้งเป้าใน 1 ปี ให้มีพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมปรับโครงสร้างพลังงาน Green Campus 30 มหาวิทยาลัย ปลดล็อกการใช้พลังงานสะอาด เพิ่มการใช้พลังงานสะอาด 30 เมกะวัตต์ และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าให้เกิดนวัตกรรมสีเขียวด้านพลังงาน เกิด Climate Tech Innovator และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e) ส่วนการขับเคลื่อนสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ ตั้งเป้าใน 1 ปี ให้มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี (Circular Economy, Waste) ในพื้นที่นำร่อง 10 นวัตกรรม และมีพันธมิตรต่างประเทศสนับสนุนงบประมาณ และภายใน 3 ปี เกิดเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีระบบนิเวศเมือง Net Zero Emission ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 8.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2e)

ในส่วนของแผนการพัฒนาคน 3 ช่วงวัย สำหรับหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าให้มี 1 University 1 Innovation Education ให้นักศึกษามีรายได้ระหว่างปี และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าให้มีกำลังคนทักษะสูง 100,000 คน ส่วนของแพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคน ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าให้เกิด University Consortium ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) Bootcamp สร้างกำลังคนทักษะสูง 50,000 คน พัฒนาครู ผู้สอน และครูตำรวจตระเวนชายแดน 3,000 คน และภายใน 3 ปี ตั้งเป้าให้มีกำลังคนทักษะสูง 100,000 คน พัฒนาครู ผู้สอน และครูตำรวจตระเวนชายแดน 6,000 คน ลดเด็ก Drop out ลง 50,000 คน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางขับเคลื่อนให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงและมีศักยภาพทักษะแห่งอนาคตจำนวน 50,000 คน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หนังสือ: หลักสูตรนักธรรมตรียุคเอไอ

คิดเขียนโดยดร.สำราญ สมพงษ์ - แชทจีพีที (เป็นกรณีศึกษา) สารบัญ 1. คำนำ ความสำคัญของการศึกษานักธรรมในสังคมไทย ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลแ...