วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

3 ภาคีเสนอปิดจุดอ่อนการวิจัย “ฟ้าทะลายโจร” เน้นการพัฒนาสารสกัดที่มีคุณภาพ



 3 ภาคีเสนอปิดจุดอ่อนการวิจัย “ฟ้าทะลายโจร”  เน้นการพัฒนาสารสกัดที่มีคุณภาพ   และระบบการวิจัยทางคลินิกที่ปรับตัวเร็ว โดยนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ  ควบคู่กับการพัฒนาข้อกฎหมายที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางวิชาการ

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2566 วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย   (วภส.)  ร่วมกับสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร   ร่วมกันจัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง  “Lesson Learned from development of Andrographis paniculata health products" เพื่อถอดบทเรียนการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจรในประเทศไทย   และร่วมกันวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง



รศ.ดร.ภก.ชาลี ทองเรือง ประธานวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรไทยที่มีการใช้กว้างขวางทั้งในสถานพยาบาลและประชาชน ทางวิทยาลัยจึงเห็นถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะพัฒนาให้มีผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่มีความหลากหลาย  และตอบโจทย์กับปัญหาสุขภาพที่คนในปัจจุบันประสบ  ซึ่งในต่างประเทศเองนั้นมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรเพื่อลดการอักเสบ  ปรับภูมิคุ้มกัน ลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกเหนือไปจากการบรรเทาอาการหวัด  จึงได้เชิญสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ที่มีประสบการณ์ในการวิจัยฟ้าทะลายโจรมาอย่างยาวนาน และมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรที่มีการรวบรวมข้อมูลการใช้พื้นบ้าน และมีประสบการณ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากฟ้าทะลายโจรมาช่วยกันให้ข้อมูล  ร่วมกันกับวิทยากรผู้มีประสบการณ์การวิจัยฟ้าทะลายโจร  ซึ่งวิทยากรแต่ละท่านก็ได้สรุปประเด็นสำคัญที่ยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมมาให้  ตั้งแต่การปลูกและการเก็บเกี่ยวรวมถึงการแปรรูป  การผลิตและสกัดรวมถึงการควบคุมคุณภาพ และการศึกษาวิจัยทางคลินิก  

“แต่ประเด็นที่เราเห็นร่วมกันว่าต้องเร่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการต่อยอดเชิงพานิชย์และการพึ่งตนเอง  ได้แก่  1) การพัฒนาสารสกัดที่มีความคงสภาพ  2) การพัฒนาระบบวิจัยที่ปรับตัวได้  3) การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการวิจัยให้เกิดขึ้นได้เร็วขึ้น  4) การพัฒนาข้อกฎหมายในการควบคุมและกำกับผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลทางวิชาการที่เกิดขึ้นเร็ว” ประธาน วภส. กล่าว 



รศ.ดร.ภญ.จุฑามาศ  สัตยวิวัฒน์ รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  กล่าวว่า  การประชุมครั้งนี้ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ได้นำข้อมูลจากงานวิจัยที่เราได้ทำมาเผยแพร่ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาทราบกันมากขึ้นว่า สารสำคัญของฟ้าทะลายโจรไม่ได้มีเพียงสารแอนโดรกราโฟไลด์ (andrographolide) ที่ถูกพูดถึงมากในปัจจุบันแต่ยังมีสารอื่นๆ ที่ต่างก็มีฤทธิทางยาเช่นกัน  และที่สำคัญสารเหล่านี้เปลี่ยนแปลงกันไปมาได้  สารแอนโดรกราโฟไลด์ที่เราใช้ในการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในขณะนี้นั้น ก็ยังเปลี่ยนเป็น 14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide ดังนั้นการที่เราจะบอกว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดมีคุณภาพหรือไม่คงดูจากแค่เพียงสารแอนโดรกราโฟไลด์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูถึงสารอื่นๆ ร่วมด้วย  รวมถึงความคงสภาพของผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสารสำคัญบางตัวมีฤทธิ์อย่างหนึ่งดี แต่ก็สามารถเปลี่ยนเป็นอีกตัวที่มีฤทธิ์อีกอย่างหนึ่ง สารสำคัญในฟ้าทะลายโจรเปลี่ยนแปลงได้ง่าย 

ดังนั้นการศึกษาความคงสภาพจึงมีความสำคัญมาก อีกประเด็นหนึ่งที่เราค้นพบจากงานวิจัย คือ ยาฟ้าทะลายโจรทั้งที่ผลิตจากสารสกัดและผงหยาบมีความแปรปรวนของสารสำคัญ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีสารสำคัญไม่คงที่จากสภาพอากาศและแหล่งปลูก   แต่การละลายของสารสกัดนั้นมีความแปรปรวนมากอาจจะเนื่องมาจากตัวทำละลายและกระบวนการสกัด ทำให้ปล่อยสารออกมาได้ไม่ดี ซึ่งตรงนี้สถาบันวิจัยก็มีความตั้งใจว่าจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อควบคุมกำกับคุณภาพของยาฟ้าทะลายโจรให้สอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการ  ในขณะนี้ทางสถาบันได้พัฒนาสารสกัดน้ำจากฟ้าทะลายโจร ตามความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่ใช้ด้วยการต้มน้ำ พบว่าสารสกัดมีการละลายและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี สามารถลดขนาดยาลงได้เมื่อเทียบกับการใช้สารสกัดด้วยตัวทำละลายอื่น ซึ่งในอนาคตจะมีการศึกษาการออกฤทธ์และความคงสภาพเพิ่มเติมโดยนำเทคโนโลยีมาใช้



ดร.ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองว่า   ที่ผ่านมาประเทศไทยเรามีงานวิจัยมุ่งเป้าที่จะพัฒนาฟ้าทะลายโจรไปเชิงพานิชย์  แต่เรายังขาดมิติงานวิจัยที่ไปสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้  ใช้ฟ้าทะลายโจรเพื่อรักษาตนเองเบื้องต้น ซึ่งส่วนสำคัญที่จะช่วยยืนยันผลการใช้และนำไปแนะนำให้ประชาชนใช้ได้ถูกต้องมากขึ้น คือ การวางระบบการวิจัยทางคลินิก ที่ปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์  ซึ่งวันนี้มีวิทยากรได้นำเสนอระบบการวิจัยในสหราชอาณาจักรที่ปรับตัวเร็ว หรือ adaptive clinical trial ที่มีการใช้แอพลิเคชั่นมาคัดเลือกอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการและติดตามผลการรักษาผู้ป่วยจากที่บ้าน ที่ควรนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเรา เพราะในช่วงการระบาดของโควิดที่ประชาชนจำนวนมากใช้ฟ้าทะลายโจร เนื่องจากมีการขาดแคลนยาแผนปัจจุบัน แต่เรากลับไม่มีระบบการวิจัยที่ดีพอจะเก็บรวบรวมผลการใช้เหล่านี้เอามาประเมิน  แต่มาเริ่มทำวิจัยในช่วงที่ผู้ป่วยจำนวนมากได้รับวัคซีนแล้ว และยังทำในอาสาสมัครอาการน้อยอีก ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีแนวโน้มหายได้เองอยู่แล้ว  จึงไม่เห็นผลความแตกต่างในการักษา 

นอกจากนี้ ปัญหาสุขภาพที่เรามีอยู่ขณะนี้ คือ ไข้หวัดใหญ่  มีการวิจัยก่อนหน้าว่าฟ้าทะลายโจรน่าจะช่วยได้  หากเราไม่มีการวางแผนเตรียมการการวิจัยในโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลแบบนี้  และยังคงใช้ระบบเดิม  ก็คงยากที่จะมีผลการวิจัยดีๆ ออกมาสนับสนุนการใช้  จะเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะพัฒนาแพลตฟอร์มการเก็บข้อมูลผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่จากร้านยาที่เป็นเครือข่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และนำมาประมวลผล  เรื่องนี้อยากฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางระบบการวิจัยทางคลินิกให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์  อีกเรื่องที่อยากฝากคือ climate change ที่คงส่งผลกระทบต่อสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีความไวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว  เราคงต้องเร่งศึกษาและพัฒนาสายพันธุ์ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...