วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เช็คที่นี่!! รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” เปิดขั้นตอน – เอกสาร แรงงานไทยกลับจากอิสราเอล ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา 50,000 บาท


 

เช็คที่นี่!! รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” เปิดขั้นตอน – เอกสาร แรงงานไทยกลับจากอิสราเอล ยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา 50,000 บาท ได้แล้วตั้งแต่ 18 ธ.ค.นี้ ที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ

 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม  2566  นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรการเยียวยากรณีการขาดรายได้ของแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งมีแรงงานไทยจะได้รับสิทธิ จำนวน 15,000 คน ๆ ละ 50,000 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 750 ล้านบาท เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากการขาดรายได้ในเบื้องต้นของแรงงานไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล รวมทั้งเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานถูกต้องตามกฎหมายได้รับการดูแลจากภาครัฐอย่างจริงจังนั้น

 นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าการดำเนินการภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวแล้วนั้น ในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้รับรายงานจากนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน ว่าได้มีข้อสั่งการให้สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดเริ่มดำเนินการรับคำร้องได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคมนี้ โดยพี่น้องแรงงานที่กลับมาจากอิสราเอลสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาได้ทั้งในส่วนกลางและภูมิลำเนา ในส่วนกลางยื่นได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน ณ กระทรวงแรงงาน ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ และในส่วนภูมิภาคที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกระทรวงแรงงาน จังหวัด ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ในวันและเวลาราชการ ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 – กันยายน 2567 หรือจนกว่าจะดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาแล้วเสร็จ

 ส่วนวิธีดำเนินการ ขั้นตอนการขอรับเงินและเอกสารประกอบการยื่นคำร้องนั้น

ขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำร้อง ผู้ยื่นสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยา ณ สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดและกระทรวงแรงงาน โดยแยกตามกลุ่มเป้าหมายและเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบการยื่นคำร้อง ดังนี้

 กลุ่มที่ 1 แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล และเดินทางกลับประเทศไทยหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งมีอยู่ 9,475 คน จะต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง โดยมีเอกสารและหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณียื่นคำร้องด้วยตนเอง 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า – ออก ประเทศไทยหรือหนังสือเดินทางชั่วคราว (CI) พร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้าประเทศไทย 4) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 5) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว

 กลุ่มที่ 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศอิสราเอล จำนวน 39 ราย ผู้ยื่นคำร้อง คือ ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบคำร้องขอรับเงินเยียวยา กรณีเสียชีวิต 2) สำเนาใบมรณบัตร 3) สำเนาทะเบียนบ้านผู้เสียชีวิต 4) หนังสือรับรองความสัมพันธ์ทางครอบครัว 5) หนังสือให้ความยินยอมเป็นทายาทโดยธรรม 6) สำเนาบัตรประชาชนทายาท 7) สำเนาทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรส) 8) สำเนาสูติบัตร (กรณีบุตร) 9) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online 10) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารทายาทผู้มีสิทธิ ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว และผู้ยื่นคำร้องขอให้เป็นคนเดียวกันกับที่ยื่นคำร้องรับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิตจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ

 กลุ่มที่ 3 กรณีแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลและเดินทางกลับประเทศไทยก่อนวันที่ 7 ตุลาคม 2566 โดยใช้วีซ่า Re-entry อายุไม่เกิน 90 วัน : ระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม - 6 ตุลาคม 2566 แต่ไม่สามารถเดินทางกลับไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลได้เนื่องจากกรมการจัดหางานชะลอการเดินทางด้วยเหตุภัยสงครามในประเทศอิสราเอล จำนวน 960 คน โดยมีเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องสำหรับการยื่นขอรับเงินเยียวยา ดังนี้ 1) แบบยื่นคำร้อง กรณี Re-entry Visa 2) บัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงพร้อมสำเนา 3) หนังสือเดินทางพร้อมสำเนาหน้าที่มีรูปถ่าย และตราประทับเข้า - ออก ประเทศไทยไม่เกิน 90 วัน 4) Re-entry Visa อายุไม่เกิน 90 วัน) พร้อมสำเนา 5) แบบแจ้งข้อมูลการรับเงินโอนผ่านระบบ KTB Corporate Online และ 6) สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องพร้อมถ่ายรูป ณ สถานที่ยื่น และคำร้องสำเนาเอกสารทุกฉบับให้ผู้ยื่นคำร้องรับรองสำเนาถูกต้องพร้อมลงลายมือชื่อเรียบร้อยแล้ว 

และกลุ่มที่ 4 สำหรับแรงงานไทยกลุ่มที่ยังไม่เดินทางกลับจากอิสราเอล และประสงค์ที่จะเดินทางกลับมาเพิ่มเติม รวมถึงแรงงานไทยที่ยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน เมื่อเดินทางกลับมาแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินเยียวยาในส่วนนี้ได้เช่นเดียวกัน

ขั้นตอนที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน ตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นคำร้องและพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นคำร้องตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยา 

ขั้นตอนที่ 3 สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ รวบรวมเอกสารคำร้องจากสำนักงานแรงงานจังหวัด/กระทรวงแรงงาน 

ขั้นตอนที่ 4 กองบริหารการคลังรับคำร้องจากสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ตรวจสอบความถูกต้อง เสนอปลัดกระทรวงแรงงานพิจารณาอนุมัติเบิกจ่าย กองบริหารการคลัง โอนเงินเข้าบัญชี ผู้มีสิทธิ/ทายาท ได้รับเงินเยียวยา 

ทั้งนี้ สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 หรือศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล กระทรวงแรงงาน  โทร. 02-2321462-3 หรือ 02-2321471 หรือสำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์

  วิเคราะห์ปัญจาลวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต ปัณณาสก์ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล...