วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2566

"อาจารย์วิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มจร"เสนอบทความวิจัย "พระพุทธศาสนาแบบประชานิยมในสังคมเกษตรกรรมของไทย" เวที "นวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน"

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566  ดร.บรรพต แคไธสง ตำแหน่งอาจารย์ประจำหลักสูตรวิทยาลัยสงฆ์บุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว" Banpot Khathaisong" ความว่า วันพุธที่ 6  ธันวาคม 2566  สมาคมพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษาแห่งประเทศไทยและสมาคมส่งเสริมการวิจัยร่วมกับบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม จัดประชุมวิชาการเสนอผลงานการวิจัยบัณฑิตศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 7 RMU NGRC2023 โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการ ววน.และนายกสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ บรรยายพิเศษในหัวข้อเรื่อง "นวัตกรรมเพื่อการศึกษาที่ยั่งยืน" ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฎมหาสารคาม  

ในงานนี้ผมได้นำเสนอบทความวิจัยเรื่อง "พระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านในสังคมเกษตรกรรมของไทย" เพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเชิงวิชาการและพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน พระพุทธศาสนาเชิงวิชาการนั้นเป็นพระพุทธศาสนาในภาคปริยัติที่เน้นการศึกษาและการสืบทอดผ่านตัวหนังสือหรือคัมภีร์เป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามการที่พระพุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ได้จนกระทั่งปัจจุบันนั้นนอกจากผลของการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนของชาวบ้านผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา หรือพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (Popular Buddhism) เป็นพระพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยที่เป็นสังคมแบบเกษตรกรรม 

และที่สำคัญพระพุทธศาสนาในภาคอีสานมีการเชื่อมโยงกับประเพณีอีสานที่เรียกว่า "ฮีตสิบสอง คองสิบสี่" ซึ่งผู้วิจัยแบ่งฮีตสิบสองเป็นสองประเภท คือ ฮีตสิบสองที่มาจากประเพณีและคำสอนทางพระพุทธศาสนา เช่น บุญเข้ากรรม บุญเทศมหาชาติ บุญเข้าพรรษา บุญออกพรรษาและบุญกฐิน ส่วนอีกประเภทคือประเพณีการทำบุญที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตเกษตรกรรม เช่น บุญข้าวจี่ บุญคูณลาน บุญข้าวประดับดิน บุญบั้งไฟ บุญข้าวสากหรือบุญสารทไทย   บทความวิจัยนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า นอกจากพระพุทธศาสนาเชิงวิชาการ (Textual Buddhism) แล้ว สังคมไทยยังมีพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านหรือแบบประชานิยม (Popular Buddhism) ที่ประคับประคองให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมไทยตั้งแต่อดีตมาจนถึงยุคปัจจุบัน 

การวิจัยเรื่องนี้เป็นการวิจัยจากชีวิตและประสบการณ์ของคนที่เป็นลูกชาวไร่ชาวนา เกิดมาในสังคมเกษตรกรรม เพราะที่ผ่านมาพระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านมักถูกมองข้ามและในยุคปัจจุบันที่สังคมเจริญด้วยเทคโนโลยี วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาวบ้านกำลังถูกคนรุ่นใหม่ทอดทิ้ง ด้อยค่าและไม่ให้ความสำคัญ ทั้ง ๆ ที่พระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านเป็นความเชื่อ เป็นประเพณี วัฒนธรรมที่ประคับประคองสังคมชนบทที่คนส่วนใหญ่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรไทยเป็นเกษตรกร พระพุทธศาสนาแบบชาวบ้านทำให้สังคมชุมชนหมู่บ้านในชนบทของไทยดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...