วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาทบัณฑิต "ม.สงฆ์มจร" ทรงแนะตั้งอยู่ในความเพียรแน่วแน่ในหลักกรรม


มจร จัดพิธีประสาทปริญญาทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์สำเร็จการศึกษาทั้งสิ้น 4,628 รูป/คน พร้อมทั้งศิลปิน นักแสดงที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมรับปริญญาดุษฎีกิตติมศักดิ์และเข็มเกียรติคุณ 

วันอาทิตย์ ที่ 10 ธันวาคม 2566  สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการประทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตกิตติมศักดิ์และผู้สำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา โอกาสนี้สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า 

“ผู้สำเร็จการศึกษาทุกรูปทุกคน คงตระหนักแล้วว่า ความสำเร็จในชีวิตแต่ละขั้น จำเป็นต้องอาศัย ‘ความเพียร’ เป็นคุณธรรมสำคัญ ที่เสริมส่งให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์สมความปรารถนา ในขณะที่ผู้คนจำนวนมากในสังคมปัจจุบัน มักขาดความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล มีนิสัยใจเร็วด่วนได้ ไม่รู้จักรอ และแสวงหาทางลัดเพื่อให้ได้ผลที่ตนประสงค์ ด้วยวิธีการทุจริต หรืออาศัยพิธีกรรมไร้สาระต่างๆ ทั้งนี้เพราะขาดความมั่นใจแน่วแน่ในหลักกรรม 



ท่านทั้งหลายผู้ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต จึงมีหน้าที่สั่งสมอบรมตน ตลอดจนโน้มน้าวทัศนะของผู้คนในสังคม ให้มีศรัทธามั่นคงในเหตุและผลของการกระทำ ให้ตระหนักแน่แก่ใจว่าทุกข์ โทมนัส หรือภาวะไม่พึงประสงค์ทั้งปวงในชีวิต ย่อมไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ หากขาดความวิริยอุตสาหะ ในอันที่อบรมพัฒนาความรู้ความสามารถของตน จนกระทั่งเกิดสติ และปัญญาซึ่งจักนำพาความพ้นทุกข์ ให้บังเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง สมดังพระพุทธภาษิตที่ว่า ‘วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ.’ ที่แปลว่า ’คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร’ ทุกประการ”



มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2566 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยมีพระสังฆาธิการ ภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ สำเร็จการศึกษา  ทุกระดับชั้น จำนวนทั้งสิ้น 4,628 รูป/คน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย  จ.พระนครศรีอยุธยา  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ( มจร ) เป็นมหาวิทยาลัยแห่งคณะสงฆ์ไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2430 ซึ่งปัจจุบันได้จัดการศึกษามาถึง 136 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และคฤหัสถ์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2540 ขึ้นโดยมีสถานภาพเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และในปี พ.ศ. 2562 อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม



โดยปีนี้ มจร จัดพิธีประสาทปริญญา ประจำปี 2566 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2566   มีผู้สำเร็จการศึกษาทั้งพระสังฆาธิการ ภิกษุ สามเณร และคฤหัสถ์ ทุกระดับชั้น จำนวนทั้งสิ้น 4,628 รูป/คน มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีพันธกิจหลัก 4 ด้าน คือ ผลิตบัณฑิต วิจัยและพัฒนาส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการวิชาการแก่สังคม ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม นอกจากดำเนินงานตามพันธกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายแล้ว มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องประกาศเกียรติคุณพระมหาเถรานุเถระ ภิกษุณี และอุบาสกอุบาสิกา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้บำเพ็ญ สาธารณประโยชน์แก่สังคม ประเทศชาติ พระพุทธศาสนา และ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และเข็มเกียรติคุณ เพื่อเป็นการประกาศสดุดีเกียรติคุณยกย่องเชิดชูในงานพิธีประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัย 



ในปีนี้ สภามหาวิทยาลัยได้อนุมัติให้มีการมอบถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 74 รูป/คน เข็มเกียรติคุณ 43 รูป/คน โดยปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มีพระภิกษุสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพสักการะ ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและนานาชาติ เข้ารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อาทิ พระพรหมวชิรมงคล เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส, พระพรหมมุนี  วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน, พระธรรมวชิรดิลก วัดสุทัศนเทพวราราม, พระเทพปัญญาภรณ์ วัดตากฟ้า, พระเทพมุนี วัดปากน้ำภาษีเจริญ พระราชเสนาบดี วัดบางพลีใหญ่, พระราชรัตนโมลี เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร,พระครูคัมภีร์ปัญญาวิกรม วัดอรุณราชวราราม, แม่ชีสิรินกานต์ สุขประเสริฐ กรรมการมูลนิธิพุทธะมหาเมตตาและมูลนิธิบุญญานุภาพ ส่วนพระเถระผู้ใหญ่ต่างประเทศซึ่งมาจาก 5 ประเทศด้วยกัน ได้แก่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา,สาธารณรัฐประชาชนจีน,ราชอาณาจักรกัมพูชา,สาธารณรัฐอินเดีย,สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ในประเทศ อาทิ คุณอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่ม BJC บิ๊กซี, คุณปัญญา นิรันดร์กุล ประธานบริษัท เวิร์คพอยท์, คุณไทด์ บรรลือฤทธิ์ ดารานักแสดง, นายอธิวัฒน์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา    (คุณต้น) ดารานักแสดง, คุณสมส่วน พรหมสว่าง (เพลิน พรหมแดน) ศิลปินแห่งชาติ, คุณพายัพ ชินวัตร CEO ชินวัตรไหมไทย,คุณกฤษฎา จ่างใจมนต์ CEOเนเจอร์กิฟ, คุณวิภาวรรณ พรหมวิหาร ภริยาประธานสภาแห่งชาติลาว, คุณอนุรุธ ว่องวานิช ประธานกลุ่มบริษัทอังกฤษตรางู   คุณไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น, คุณประเสริฐ วรปัญญา อดีตวุฒิสมาชิกจังหวัดลพบุรี, คุณจิรฐา ทองเมตตา CEO แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) นายพันธ์รบ กำลา ผู้ก่อตั้งบริษัทชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว เป็นต้น



นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับการอนุมัติให้ได้รับเข็มเกียรติคุณจำนวน  43 รูป/คน และมีดารานักแสดง นักร้อง พิธีกร ผู้มีชื่อเสียง อาทิ คุณประยูร ศรีจันทร์ (ไผ่ พงศธร) นักร้องนักแสดง คุณรัชนก ศรีโลพันธุ์ ศิลปินนักร้อง นักแสดง, นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายสุภชัย วีระภูชงค์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด นางทัศนี จ่างใจมนต์ ผู้บริหารเนเจอร์กีฟ, Miss Nandar Mor Myint Thu age ตำแหน่ง CEO of Shwe Nay Min Gyi Co., Lte., Managing Director of Golden Oriental Leaf Co., Ltd. Mr.Han Myint Thu ตำแหน่ง CEO of Rain Forest Co.,Ltd, Managing Director of Myanmar intrenational School.Mr Phone Si Thu ตำแหน่ง CEO of Nest Sustainable Agroforestry Co., Ltd., Managing Director of Shwe Than Lwin Trading Co., ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาเป็นต้น 



โดยมีเจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จประทานปริญญาบัตร ประจำปี 2566 โดยมีพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ดุษฎีบัณฑิต มหาบัณฑิต บัณฑิต ทั้งในประเทศและต่างประเทศจากทั่วโลกถวายการต้อนรับในภาคบ่าย และ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นผู้ประทานปริญญาบัตรในช่วงเช้า

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่มีพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และคฤหัสถ์ โดยปัจจุบัน การจัดการศึกษาในประเทศประกอบด้วย 11 วิทยาเขต 28 วิทยาลัยสงฆ์ 3 หน่วยวิทยบริการ และสถาบันสมทบในต่างประเทศอีก 5 แห่ง มีทั้งหลักสูตรภาษาไทยและหลักสูตรอินเตอร์ ระดับชั้นปริญญาตรี-โท-เอก มีจำนวนทั้งสิ้น 20,346รูป/คน ประกอบด้วยนิสิตปริญญาตรีจำนวน 14,356 รูป/คน นิสิตปริญญาโท 3,748 รูป/คน  นิสิตปริญญาเอก 2,242 รูป/คน

ในปีนี้ มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมสำหรับบัณฑิตทุกระดับที่กำลังจะจบการศึกษาและต้อนรับนิสิตในปีการศึกษาใหม่ ด้วยพื้นที่โดยรอบ อาคารเรียนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงหอพักสำหรับการรองรับนิสิตจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อยกระดับความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของโลก เพื่อการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและเรียนรู้พระพุทธศาสนา ทั้งนี้ มจร ถือเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีพระสงฆ์นานาชาติมาศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรี-โท-เอก ทั้งหลักสูตรอินเตอร์ และหลักสูตรภาษาไทย มากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ครูติ๋วชูสกลนครเมืองพุทธธรรม เพื่อไทยเปิดตัวส่งชิงนายก อบจ.

"สกลนครดีกว่าเดิม"  ເນື້ອເພງ : ດຣສົມພົງສ໌ ທຳນອງ - ຮ້ອງໂດຍ : suno     คลิกฟังเพลงที่นี่ (Intro)   แดนธรรมพุทธา สกลนครเมืองงาม โค ข้...