วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2566

World Festival Country นโยบายดันไทยให้เป็น High Income Country



เมื่อวันที่ 6  ธันวาคม 2566 ดร.หญิง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์   ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า  World Festival Country นโยบายดันไทยให้เป็น High Income Country

ลอยกระทงในปี 2566 นี้คึกคักมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ นับตั้งแต่โควิดเป็นต้นมาเลยนะคะ พี่น้องประชาชนต่างออกมาเที่ยวชมงานสืบสานประเพณีไทยกันมากมาย แม้จะมีข้อถกเถียงกันเรื่องขยะจำนวนมากที่เกิดจากกระทง 

โดยส่วนตัวหญิงก็เห็นด้วยว่ากระทงจำนวนมากที่กลายเป็นขยะนั้นสร้างผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งเราจำเป็นต้องหาวิธีปรับแก้กันต่อไปเพื่อไม่ให้ประเพณีอันดีงามของไทยกลายเป็นเทศกาลที่ทำลายแม่น้ำลำคลองของเราเอง แต่ทั้งนี้เนี่ย หากเราลองมาโฟกัสที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเทศกาลลอยกระทงปีนี้เนี่ย เรียกได้ว่าคึกครื้นคึกคักเงินสะพัดมากกว่าปีก่อน ๆ 

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ออกมาคาดการณ์ว่าลอยกระทงในปีนี้มีเงินสะพัดมากกว่า 10,000 ล้านบาท เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีที่ตัวเลขสูงขนาดนี้ ภาคประชาชนมีการใช้จ่ายในระดับที่ใกล้เคียงกับก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งในภาพรวมถือเป็นสัญญาณบวกนะคะว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งและรัฐบาลกำลังเดินมาถูกทางแล้วที่จะยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ของไทยดันให้เมืองไทยเป็น “ประเทศแห่งเทศกาลโลก”

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 รัฐบาลที่มีคณะทำงานอย่าง คณะกรรมยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เป็นหัวเรือใหญ่ได้ประกาศจัดงานเทศกาลกว่า 3,000 กิจกรรมทั่วประเทศยาวไปจนถึงสิ้นปี ภายใต้ชื่อ “Thailand Winter Festival” หรือเทศกาลฤดูหนาวแห่งประเทศไทย และ Colorful Bangkok Winter Festival 2023 ที่ได้รวมงานกว่า 3,000 งาน และกว่า 200 งาน ที่จะทยอยจัดขึ้นภายใน 2 เดือนของปีนี้ ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 

ในปีหน้ารัฐบาลยังตั้งเป้าว่า จะจัดเทศกาลและกิจกรรมกว่า “10,000 กิจกรรม ตลอด 365 วัน ทั้ง 77 จังหวัด” ทั่วประเทศไทย เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศแห่งเทศกาล” หรือ Festival Country ซึ่งเราจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดี สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล สร้างอนาคตใหม่ที่สดใสให้กับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าออกจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางได้สักที

หญิงจะชวนทุกคนมาดูกันค่ะว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ดันให้ไทยกลายเป็นประเทศแห่งเทศกาลนี้ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้อย่างไรบ้าง ประเทศไทยและคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากความทะเยอทะยานครั้งใหญ่นี้กันบ้าง

1. กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ สร้างวงจรแห่งการเติบโต

ก่อนหน้านี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2566 ขยายตัวเพียง 1.5% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาสที่ 2/2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งออกรวมชะลอตัวจากการส่งออกที่ลดลง เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้สภาพัฒน์ต้องปรับการคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 2.5% จากที่คาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.0% 

จะเห็นนะคะว่า การส่งออกที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 เติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้มากขึ้น คือ ส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้น

เมื่อมีงานเทศกาลที่ไหนก็จะมีคนไปที่นั่น ลองนึกภาพดูสิคะว่าถ้าตลอดทั้งปี มีกิจกรรมเกิดขึ้นมากกว่า 10,000 กิจกรรม ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ เราจะสามารถกระตุ้นให้คนออกมาท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอย กิจการท้องถิ่นมีโอกาสลงทุนผลิตสินค้าออกมาเพื่อตอบสนองกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 เมื่อมีงานเทศกาลที่ดึงดูดลูกค้าจากพื้นที่ต่าง ๆ ให้มารวมกัน ก็เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ กลายเป็นวงจรแห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปไม่รู้จบ กระจายความมั่งคั่งไปยังพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ไม่ใช่เพียงกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างเดียว เทศกาลลอยกระทงที่ผ่านมาก็เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่าการจัดกิจกรรมในจังหวัดต่าง ๆ ได้สร้างเม็ดเงินให้หมุนวนในระบบเศรษฐกิจมากขนาดไหน

นอกจากนี้ การจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การอีเวนต์ทั่วไปเพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทั่วไปเท่านั้น แต่จะเป็นงานที่เปิดพื้นที่ประชาชนมีส่วนร่วมในออกจัดร่วมกับภาครัฐ เปิดพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนได้มีเวทีในการแสดงออกตามความสนใจ จัดกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับหลายพันล้านบาทและดันให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นชดเชยภาคการส่งออกที่หายไป 

ประเทศจีนก็เคยใช้การจัดงานเทศกาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการบริโภคมากขึ้นเหมือนกันนะคะ ตอนนั้นเศรษฐกิจจีนโดนเล่นงานมาหนักจากโควิด จึงใช้โอกาสช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนมกราคม ส่งเสริมให้มีการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ มากขึ้นและจัดให้เป็นฤดูแห่งการช็อปปิ้ง ลากยาวไปจนเดือนกุมภาพันธ์ที่มีงานเทศกาลโคมไฟร่วมกับเทศกาลวาเลนไทน์ 

 2. สร้างการท่องเที่ยวเฟสติวัล ดึงนักท่องเที่ยวหน้าใหม่

ในปีนี้ภาคการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นนะคะ ตามประมาณการก็แตะหลัก 30 ล้านคน แม้จำนวนจะยังไม่สูงเท่าช่วงก่อนโควิดที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 40 ล้านคนในปี 2562 ทำให้ภาคบริการของไทยฟื้นตัวขึ้นตามมาด้วย แต่จากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงเรื่อย ๆ จากที่ตั้งเป้าว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยราว 4,040,000-4,400,000 คน กลับพบว่า 11 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยเพียง 3,013,190 คน และคาดว่าปีนี้จะนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาไทยไม่ถึงเป้า น่าจะอยู่ที่ 3,400,000-3,500,000 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีรายงานของ China Trading Desk ที่ระบุว่า ในไตรมาสที่ 3 ประเทศไทยตกมาอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศที่ชาวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยว รองจาก สิงคโปร์ ยุโรป เกาหลีใต้ มาเลเซีย และออสเตรเลีย ตามลำดับ 

อย่างที่ทราบกันนะคะว่า นักท่องเที่ยวจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มเดินทางไปเที่ยวประเทศอื่นมากขึ้นและเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยน้อยลงเรื่อย ๆ ย่อมกระทบกับภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการของไทย

การผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น “ประเทศแห่งเทศกาล” จะเป็นการชูจุดขายใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวหน้าเดิมให้เดินทางเข้ามาสัมผัสประสบการณ์แบบใหม่ และยังเป็นดึงดูดนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ที่อยากสัมผัสเทศกาลไทยในระดับโลก เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่จะถูกยกระดับสู่ World Water Festival หรือกระทั่งงานเทศกาลประจำพื้นที่อย่างไหลเรือไฟ ลอยโคมยี่เป็งก็จะถูกยกระดับให้ยิ่งใหญ่สู่ระดับภูมิภาค 

นอกจากนี้ยังดึง “เทศกาลใหญ่ระดับโลกมาจัดที่ไทย” เช่น งานเฟสติวัล EDM อย่าง Tomorrowland รวมถึงดึงให้ศิลปินดังระดับโลกมาจัดคอนเสิร์ตในประเทศไทย ซึ่งหากเราสามารถทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางงานเทศกาลดนตรีและคอนเสิร์ตในระดับภูมิภาคได้ ก็จะสามารถดึงดูดแฟนเพลงศิลปินให้เดินมาดูคอนเสิร์ตและท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก และตามแผนการที่จะจัดกิจกรรมตลอดทั้งปี ยังทำให้ประเทศไทยมีเทศกาลที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

แน่นอนค่ะว่า รัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นที่ฐานเพิ่มเติมเพื่อยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทย เช่น สนามบินอันดามัน ระบบขนส่งมวลชน หรือนโยบายฟรีวีซ่า และเริ่มผลักดันการแก้ไขกฎหมายที่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ การลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์การแสดงหรือภาษีที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานเทศกาลต่างๆ ปรับปรุงระบบศุลกากรให้สะดวกมากขึ้น 

ที่สำคัญที่สุด คือ การอำนวยความสะดวกแก่ผู้จัดงานเทศกาลและกิจกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ ลดขั้นตอนและเวลาทำเอกสารขออนุญาตหลายหน่วยงาน และยังเพิ่มความมั่นใจและความง่ายในการทำงานให้กับภาคเอกชน

หากกฎหมายพร้อม โครงสร้างพร้อม ภาพลักษณ์พร้อม หญิงเชื่อค่ะว่าจะทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางหลั่งไหลมายังประเทศจำนวนมหาศาล ภาคการท่องเที่ยวไทยจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น และเปิดประตูโอกาสสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกในอนาคต

• หลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับเป็นประเทศรายได้สูง

เป้าหมายที่จะดันให้ไทยกลายเป็น “ประเทศแห่งเทศกาล” เป็น 1 ในอีกหลากหลายนโยบายที่จะเติมเงินในกระเป๋าของพี่น้องคนไทยและทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่เราติดอยู่มาหลายทศวรรษ และกลายเป็นประเทศรายได้สูงได้ในที่สุดค่ะ

รัฐบาลยังมีอีกหลายนโยบายที่จะ ลดรายจ่าย-เพิ่มรายได้-ขยายโอกาส ให้กับพี่น้องคนไทย เช่น นโยบายรถไฟฟ้า 20 นโยบายแก้หนี้นอกระบบ ที่จะช่วยลดค่าครองชีพของประชาชน นโยบาย OFOS ที่จะยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยและสร้างงานกว่า 20 ล้านตำแหน่ง นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่จะสร้างโอกาสในชีวิตให้กับคนไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และนโยบายอื่น ๆ อีกมากมายที่จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจให้แข็งแรงต่อทุกอุตสาหกรรม

 เป้าหมายในการเป็น World Festival Country จึงเป็นเพียงบันไดขั้นแรกที่จะพาประเทศไทยให้กลายเป็น High Income Country หรือประเทศรายได้สูง เพื่อโอกาสของคนไทย เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้ลูกหลานของเราอยู่ดีกินดีต่อไปในอนาคต


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"วิเคราห์ ทิฏฐิสังยุตต์ มูลปัณณาสก์ ทุติยเปยยาล - นวาตสูตร

  "วิเคราห์   ทิฏฐิสังยุตต์  มูลปัณณาสก์  ทุติยเปยยาล  -   นวาตสูตร  - เนวโหตินนโหติตถาคตสูตร - รูปีอัตตาสูตร - อรูปีอัตตาสูตร -รูปีจอร...