เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในโอกาสที่ยูเนสโก ขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ประจำประเทศไทย คณะทูตานุทูต ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย ผู้บริหารภาครัฐ เอกชน เครือข่ายทางวัฒนธรรม ประชาชน เข้าร่วมงาน ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรวิหาร ไปแล้วนั้น
นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ได้มอบประกาศนียบัตร (Certificate) เพื่อรับรองประกาศ ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการให้แก่กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากนี้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเตรียมการขับเคลื่อนกิจกรรมสงกรานต์ในประเทศไทยไปพร้อมกัน เนื่องด้วยสงกรานต์เป็นประเพณีปีใหม่ไทยที่เฉลิมฉลองในช่วงกลางเดือนเมษายน ของทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้รับการถือปฏิบัติและสืบทอดอย่างยาวนาน ประเพณีอันงดงามและมีความหมายสะท้อนให้เห็นถึงความกตัญญูของคนไทย ที่มีต่อบรรพบุรุษ ความเอื้ออาทรและความปรารถนาดีต่อผู้อื่น ประเพณีสงกรานต์ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้เคารพนับถือ จัดขบวนแห่ของชุมชนที่แสดงถึงตำนานสงกรานต์ จัดละครพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ การละเล่น และการแสดงต่าง ๆ เป็นต้น การได้รับประกาศขึ้นทะเบียนครั้งนี้ นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ประเพณีปีใหม่ไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 18 ณ เมืองคาเซเน สาธารณรัฐบอตสวานา ที่ทราบกันแล้วนั้น
อธิบดีฯ สวธ. กล่าวต่อว่า ในปี 2567 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จะมีจัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ เป็นงานมหาสงกรานต์ โดยคงเนื้อหาในการเผยแพร่สาระคุณค่า สร้างการรับรู้ความเข้าใจ ที่ถูกต้อง และให้ตระหนักถึงความสำคัญตามขนบประเพณีของชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ โดยเตรียมจัดโครงการ “World Songkran Festival : ประเพณีสงกรานต์ไทย หมุดหมายนักท่องเที่ยวทั่วโลก” ดำเนินงานผ่านเครือข่ายวัฒนธรรม 76 จังหวัดทั่วประเทศ และ 50 เขต ในกรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 1 – 21 เมษายน 2567
โอกาสนี้ ขอเชิญชวนพี่น้อง ประชาชนไทย ชาวต่างชาติ ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดมรดกภูมิปัญญาประเพณีสงกรานต์ อันทรงคุณค่าของไทย ให้เกิดการสืบทอดอย่างยั่งยืน และใช้เป็นพลัง Soft power ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ ต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น