“จังหวัดชุมพร” เป็นประตูสู่ภาคใต้ของประเทศไทย ชื่อเรียกขาน “ชุมพร” ปรากฏในประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 1,500 ปี บทบาทของ “เมืองชุมพร” ปรับเปลี่ยนไปตามการปกครองแต่ละยุคสมัย แต่สิ่งที่ตกทอดสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน คือความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ที่ยังคงร่วมสมัย
ศาสตร์แห่งสมุนไพรไทยสืบทอดกันมาหลายร้อยปีที่ “ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรไทย”แห่ง “วัดน้ำตก” หรือ “วัดคีรีวงก์” อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร เป็นทั้งศูนย์สงเคราะห์ผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน และคลังความรู้สมุนไพรไทย เรียกได้ว่าเป็นโรงพยาบาล แก้เจ็บ แก้จน สำหรับคนทุกระดับชั้น
พระมหาขวัญชัย อัคคชโย เจ้าอาวาสวัดคีรีวงก์ ซึ่งเป็นทั้งศูนย์รวมใจของผู้คนและผู้นำในการขับเคลื่อนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของที่นี่ บอกเล่าว่า เมื่อผู้ป่วยเข้ามาที่ศูนย์ฯ ก็จะได้รับคำแนะนำเรื่องการกินอยู่อย่างไรให้ปลอดภัย รู้ถึงคุณค่าของสมุนไพร วิธีการนำสมุนไพรนำแต่ละส่วนของสมุนไพรแต่ละชนิดมาใช้ให้ตรงกับโรคก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรักษา
“เรามีเครือข่ายในการปลูกสมุนไพร เงินที่ได้จากการทำบุญของชาวบ้านจะนำไปซื้อสมุนไพรของชาวบ้านที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ก่อนหน้าที่จะมีการใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์และบ่อบาดาล ต้องจ่ายค่าไฟแต่ละเดือน 38,000 – 40,000 บาท เพราะต้องใช้ในการบดยาและอบยา การเข้ามาสนับสนุนของสำนักงานพลังงานจังหวัดจึงเป็นเรื่องที่มีคุณประโยชน์อย่างมาก” พระมหาขวัญชัยกล่าว
ขณะที่ นายเกรียงไกร บัวมี พลังงานจังหวัดชุมพร กล่าวเสริมว่า สำนักงานพลังงานจังหวัดชุมพร ตระหนักถึงการใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนในมิติด้านพลังงาน จึงได้ส่งเสริมให้ทุกกระบวนการของการผลิตใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีการใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ลดค่าใช้จ่ายของการสูบน้ำ ส่วนการตากสมุนไพรก็ใช้โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ในการตากและควบคุมคุณภาพสมุนไพรควบคู่กัน
“ในการปรุงยาเรามีระบบเตามณฑล 2 กระทะ ที่ให้ความร้อนสูง ที่ผ่านมาจากเคยจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ที่เดือนละประมาณ 40,000 บาท หลังจากใช้พลังงานทดแทนแล้ว เหลือเพียง 15,000 – 20,000 บาท ซึ่งนอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้ว ทางวัดยังสามารถผลิตยาที่มีคุณภาพ มีระยะเวลาการผลิตที่รวดเร็วขึ้น ส่งผลต่อการให้บริการประชาชนได้มากขึ้นด้วย” พลังงานจังหวัดชุมพรกล่าวย้ำ
คลังความรู้สมุนไพรไทย โรงพยาบาล แก้เจ็บ แก้จน แห่งนี้ เปิดประตูต้อนรับผู้มาเยือนเสมอ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรไทย หมอพื้นบ้าน วัดคีรีวงก์ (วัดน้ำตก) หรือ โทร. 063-5146499, 089-9702009 และ เฟซบุ๊ค วัดคีรีวงก์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น