วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

บึงกาฬเตรียมเสนอ “บึงโขงหลงและย่านชุมชนเก่า” เป็นมรดกจังหวัด ส่งเสริมคุณค่าและเศรษฐกิจในพื้นที่ 


 

เมื่อวันที่  20 กุมภาพันธ์ 2567   เพจสวท.บึงกาฬ กรมประชาสัมพันธ์ ได้โพสต์ภาพและข้อความว่า จังหวัดบึงกาฬ เตรียมเสนอ “บึงโขงหลงและย่านชุมชนเก่า” เป็นมรดกจังหวัด ส่งเสริมคุณค่า และเศรษฐกิจในพื้นที่ 

ที่ ศาลาขัตติยานุสรณ์ โรงเรียนบึงโขงหลงวิทยาคม อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ นายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการประกาศบึงโขงหลง และย่านชุมชนเก่า เป็นมรดกจังหวัด โดยมีนางสาวกนกกาญจน์ โกติรัมย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานจัดการสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้นำเสนอความเป็นมาของมรดกจังหวัด การดำเนินงานที่ผ่านมา และการเสนอบึงโขงหลง และย่านชุมชนเก่าเป็นมรดกจังหวัด และมีการเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชุมชน อาทิ นายสายชล เหล่าภักดี ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดบึงกาฬ, นายถิ่น แดวขุนทด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอบึงโขงหลง ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรมประจำจังหวัดบึงกาฬ, นางอมรรัตน์ วังสะพันธ์ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดบึงกาฬ, นายนพดล บัวโรย หัวหน้าฝ่ายป้องกันฯ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง, ตัวแทนชุมชน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ครู และนักเรียนโรงเรียนบึงโขงหลงวิทยาคม

นายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า จังหวัดบึงกาฬ มีแหล่งธรรมชาติ และแหล่งศิลปกรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะบึงโขงหลงซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้ชุมชนในสมัยก่อนมีการตั้งถิ่นฐานและมีการขยับขยายพื้นที่ของชุมชนมาอยู่อาศัยในพื้นที่มากขึ้น รวมทั้ง ความเชื่อและความศรัทธาของชุมชนต่อ "เจ้าปู่อือลือนาคราช" ซึ่งเป็นเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่แห่งนี้ จึงทำให้พื้นที่บึงโขงหลง และย่านชุมชนเก่ามีต้นทุนสำคัญที่จะนำไปสู่การต่อยอดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนฐานทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม จากคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่บึงโขงหลง และย่านชุมชนเก่า ทำให้เกิดความคิดว่าต่อไปจะรักษาคุณค่าและความสำคัญ รวมทั้ง วัฒนธรรมของพื้นที่แห่งนี้ โดยให้บึงโขงหลงยังคงความอุดมสมบูรณ์ และรักษารากเหง้าอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อส่งเป็นมรดกให้กับรุ่นลูกและรุ่นหลานต่อไปได้อย่างไร ซึ่งการเสนอบึงโขงหลง และย่านชุมชนเก่า เป็นมรดกจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬ และชุมชนในพื้นที่บึงโขงหลง 

สำหรับมรดกจังหวัด คือ มรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมของจังหวัด และท้องถิ่นที่มีคุณค่าความสำคัญในระดับจังหวัด และได้รับการประกาศเป็นมรดกจังหวัด เพื่อประกาศให้ทราบถึงคุณค่า ความสำคัญของพื้นที่ ส่งเสริมความภาคภูมิใจของชุมชนในความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ตลอดจนเป็นการสร้างมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจ โดยการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชิงสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม ด้วย ซึ่งการประกาศพื้นที่แหล่งธรรมชาติ และย่านชุมชนเก่าเป็นมรดกจังหวัด ไม่มีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่ขึ้นอยู่กับระเบียบ กฎ ข้อบังคับ ข้อเทศบัญญัติ และข้อกฎหมายของพื้นที่นั้น ๆ 

นอกจากนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ยังได้รับฟังการนำเสนอโครงงานจากนักเรียนโรงเรียนบึงโขงหลงวิทยาคม ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ยหมักจากจอกหูหนูยักษ์ จากปัญหาจอกหูหนูยักษ์ที่บึงโขงหลง พร้อมร่วมถ่ายภาพกับครู และนักเรียน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ร่วมรับฟัง/ แสดงความคิดเห็นทุกคน

 

เรียบเรียง : สวท.บึงกาฬ กรมประชาสัมพันธ์

ภาพข่าว : สวท.บึงกาฬ กรมประชาสัมพันธ์


 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์จวงจื่อในปริบทพุทธสันติวิธี: ความเป็นมาและสภาพปัญหาหลักการ อุดมการณ์ วิธีการ แผนยุทธศาสตร์ โครงการ อิทธิพลต่อสังคมไทย และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

บทนำ จวงจื่อ หนึ่งในปราชญ์สำคัญของลัทธิเต๋า ได้นำเสนอแนวคิดที่เป็นแก่นแท้ของการดำรงอยู่ การหลุดพ้น และการมีเสรีภาพผ่านคำสอนและกา...