เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 พระสุธีรัตนบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดสุทธิวราราม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก Suthito Aphakaro ความว่า อาคารโคมแสนดวง @ ลำพูน พลัง Soft Power จากประเพณียี่เป็ง
วันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ได้รับความเมตตาอย่างยิ่งจากพระเดชพระคุณ พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน และผู้บริหาร คณาจารย์วิทยาลัยสงฆ์ลำพูนในการประกอบพิธีเปิดอาคารโคมแสนดวง อาคารหอพักนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ลำพูน โดยมีพระมหาเถระ อาทิ พระพรหมโมลี พระพรหมเสนาบดี และพระพระพรหมบัณฑิต เมตตามาเป็นประธานในการเปิดอาคาร
สิ่งที่น่าสนใจของคำว่า “โคมแสนดวง” มาจาก ความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในประเพณียี่เป็งของชาวล้านนาที่มีความเชื่อในการจุดโคมลอย เพื่อถวายเป็นพุทธะบูชาและการบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกลายเป็นที่มาของประเพณีจุดโคมลอยในล้านนา ต่อมาเมื่อการจุดโคมลอยมีผลกระทบต่อการบินของอากาศยานจึงมีการขอความร่วมมือจากวัด ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ให้งดจุดโคมลอยเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น พระเดชพระคุณพระเทพรัตนนายก จึงดำริในการจุดโคมแขวนเพื่อบูชาพระธาตุหริภุญชัยและพระเกตุแก้วจุฬามณีแทน โดยการนำโคมแขวนไปประดับตามหน้าวัด กำแพงวัด ถนนในชุมชน จนกลายเป็นภาพที่สวยงามของโคมล้านนา ซึ่งจังหวัดลำพูนมีการแขวนโคมมากกว่า 300,000 ดวงในแต่ละปี
กุสโลบายของพระเทพรัตนนายก คือ การให้ชมรม/โรงเรียนผู้สูงอายุแต่ละแห่งในจังหวัดลำพูนจัดทำโคมจำนวน 5,000 ดวงบ้าง 10,000 ดวงบ้าง โดยมีราคาต้นทุน 40 -50 บาท จากนั้น ท่านนำมาติดตั้งสายไฟและหลอดไฟบริเวณทั่วเมืองลำพูนและพระธาตุหริภุญชัย แล้วให้คนบูชาโคมในราคา 99 บาท โดยในนัยยะว่าเป็นสิริมงคลแห่งการบูชาพระแก่เจ้าจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (โคม 300,000 ดวง x 99 บาท = ประมาณ 30 ล้านบาท คืนให้กับชุมชน ผู้สูงอายุ และค่าสายไฟ ค่าไฟ ประมาณ 20 กว่าล้านบาท) ส่วนที่เหลือพระเดชพระคุณ นำมาสร้างอาคารโคมแสนดวง และบริจาคเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมในจังหวัดลำพูน
พลังสร้างสรรค์จากประเพณียี่เป็งล้านนา กลายเป็น Soft Power ที่แท้จริง นักท่องเที่ยวสุขใจ ผู้สูงอายุเบิกบาน สืบสานตำนานล้านนา สร้างคุณค่าให้การศึกษาและวัฒนธรรม “โคมล้านดวง” จะขึ้นในปีต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น