วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

ถามนายกฯเศรษฐา “วัวโลละร้อย จะขายได้กี่โมง ขายที่ไหน” โรงเชือด-เกษตรกรจี้รัฐ ลืมตาดูความจริง



 ช่วงแรกของการเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน ประชาชนต่างคาดหวังว่ารัฐบาลนายเศรษฐาจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเกษตรกรรากหญ้า ที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ถูกตำหนิว่า “มือไม่ถึง” เพราะพรรคเพื่อไทยโปรโมตตัวเองว่า เป็นมือแก้เศรษฐกิจ

 แต่ความหวังของประชาชนกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา จากความคาดหวังสูงสุด ต้องยอมรับว่า วันนี้เริ่มถดถอย เพราะนโยบายหลายอย่างที่ประกาศไว้ไม่เกิดขึ้นจริง ไม่ต้องพูดถึงนโยบายเงินดิจิตัล ที่เวลานี้ยังหาข้อสรุปกันไม่จบ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทอยู่ที่ไหน ปริญญาตรี 25000 บาท ยังไม่ขยับ ราคาผลผลิตการเกษตรไม่เห็นหน้าเห็นหลัง



 ปัญหาภาคเกษตร ในห้วงแรก รัฐบาลมีท่าทีขึงขัง เอาจริงเอาจริง จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 3 เท่า อย่างปัญหาการลักลอบการนำเข้าเนื้อสัตว์ ทั้งหมู เนื้อเถื่อน ตีนไก่เถื่ิแรกน ยางพาราเถื่อน แรกๆ ข้าราชการหลายคนหนาวๆร้อนๆ เดินสายตรวจค้นโกดัง ข้าราชการโดนเด้ง แต่ผ่านมา 4-5 เดือนแล้ว เรื่องนี้ก็เหมือนจะจับมือใครดม เอาผิดไม่ได้ นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมที่เป็นตัวหลักสำคัญในการออกมาเคลื่อนไหวแฉเรื่องนี้ ออกมา ยอมรับว่า “คดีหมูเถื่อนตีนไก่สวมสิทธิ์ ถูกแทรกแซงคดีเงียบ ก็เป็นมวยล้มต้มคนดู รัฐบาลก็ทอดทิ้งเกษตรกร”

 เมื่อครั้งประกาศโชว์ผลงาน 60 วันแรก เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ พลิกโฉมประเทศไทย นายเศรษฐา แถลงว่า ประเทศจีนและองค์กรทางด้านรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหาร ปศุสัตว์ และเกษตรกรรม ที่ซาอุดิอาระเบียถึงความต้องการเนื้อวัวจากประเทศไทย ระบุว่า ทั้ง 2 ประเทศมีความต้องการเนื้อวัวที่ชำแหละแล้วเป็นจำนวนมาก แต่ไทยมีโรงเชือดที่ใหญ่ที่สุดคือที่จังหวัดชุมพร เชือดได้วันละ 200 ตัวเท่านั้น ในขณะที่บราซิลมีกำลังการผลิตในการเชือดวัวสูงถึง 45,000 ตัวต่อวัน รัฐบาลก็กำลังพิจารณาสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ในการเชือด พร้อมทั้งคำนึงถึงหลักศาสนาอาหารฮาลาล เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น 3 เท่าตามนโยบายที่ประกาศไปก่อนหน้านี้



ครบ 6 เดือน (180 วัน) ก็ยังโชว์ลีลาแสดงวิสัยทัศน์ 8 ด้าน อย่างไร้ความหวัง ไม่กล้าโชว์ผลงาน มีแต่บอกเรื่องจะทำในอนาคต

 วันนี้โรงเชือดที่ชุมพร ก็ยังมีปัญหาสภาพคล่องไม่มีเงินไปซื้อวัวมาเชือด ได้ยินข่าวมาว่า ทำเรื่องขอสินเชื่อจากแบงก์รัฐ ก็ไม่ได้ อ้างเงื่อนไขติดปัญหาสารพัด ทั้งๆที่เป็นนโยบายรัฐ แต่ดูเหมือนกลไกราชการไม่ยอมตอบสนอง

 นายหัวไทรไปเยี่ยมชมโรงเชือดชุมพรมาแล้ว ถือว่าเป็นโรงเชือดที่ได้มาตรฐาน แต่ยังมีปัญหาสภาพคล่องอย่างที่ว่า วัวเข้าโรงเชือดต่อวันยังไม่เพียงพอกับศักยภาพในการเชือดต่อวันถึง 200 ตัว

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อบ้านเราก็ยังพัฒนาไปไม่ถึงขั้นมาตรฐาน ยังต้องยกระดับขึ้นไปอีก อย่างโครงการโคบาลชายแดนใต้ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้งบประมาณกว่า 1,566 ล้านบาท โดยเฉพาะในระยะนำร่อง เริ่มกังวล อาจจะเป็นหนี้ในอนาคต เพราะกู้รัฐมาทำโครงการ

แม่พันธุ์วัวขนาดเล็ก ไม่แข็งแรง ผลัดตกโคลนและไม่สามารถลุกเองได้ และแม้สมาชิกในกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงโคทาชิมะ ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี จะช่วยมันขึ้นมา แต่ความอ่อนแอของมัน จึงไม่อาจขุนให้เป็นแม่พันธ์ที่สมบูรณ์ได้แล้ว จึงต้องขายเพื่อรอเชือดในราคา 6,000 บาท ทำให้ขาดทุนทันที 11,000 บาท เนื่องจากกลุ่มเกษตรที่เข้าร่วมโครงการโคบาลชายแดนใต้ งบประมาณ 1,566 ล้านบาท จำเป็นต้องซื้อแม่พันธุ์วัวมาในราคาตัวละ 17,000 ตามสัญญาในโครงการ



ในฐานะเคยไปเห็นปัญหาขออนุญาตนำเสนอ คือ ถ้าโรงเชือดที่ชุมพร ซึ่งถือว่า มีความพร้อมที่สุดแล้วยังทำไม่ได้ตามศักยภาพ ก็อย่าไปคิดว่า จะมีนโยบายสร้างโรงเชือดที่นู้นที่นี่อีก เพราะงบลงทุนหลักเป็นพันล้านต่อโรง จะกลายเป็นเรื่องหวานคอแร้ง

 

วันนี้ราคาโคเนื้อมีชีวิตขายได้กิโลกรัมละ 75 บาท ขณะที่ต้นทุนกิโลกรัมละ 80 บาท ถ้ารัฐบาลมัวดีแต่พูด อีกไม่นานเกษตรกรจะจนลงอีก 3 เท่า ไม่ใช่รวย 3 เท่า

ทางออกเรื่องนี้ #นายหัวไทรแนะต้องทำคู่ขนานหลายเรื่อง คือ

1.ต้องทำให้โรงเชือดเดินหน้าสายการผลิตได้ เพราะโรงเชือดซื้อโคเนื้อเข้าไปเชือดกิโลกรัมละ 100 บาท

2.การลดต้นทุนค่าอาหารเลี้ยงโคเนื้อไม่เกิน 70 บาท แต่ให้คุณภาพคงเดิม ภาครัฐต้องเร่งรัดให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

3.เกษตรกรหรือฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการต้องไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง โดยกรมปศุสัตว์เข้าไปตรวจรับรอง

4.สมาคม-สหกรณ์ผู้โคเนื้อรวบรวมโคเนื้อปลอดสารเร่งเนื้อแดงจากฟาร์มที่ผ่านการรับรองโดยกรมปศุสัตว์ ส่งโรงฆ่าสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการ

5.โรงฆ่าสัตว์ต้องตัดแต่งซากโคให้เป็นชิ้นส่วนตามมาตรฐานสากลพร้อมจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก (ถ้าตลาดมีรองรับจริงตามที่รัฐบาล กล่าวอ้าง)

6.กรมปศุสัตว์ทำความตกลงกับผู้ขออนุญาตนำเข้าเนื้อโคที่ยกเว้นภาษีภายใต้ FTA ขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรในประเทศด้วยการซื้อชิ้นเนื้อโคของเกษตรกรแทนการนำเข้า

7.กรมปศุสัตว์ขอยืมเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 100 ล้านบาท ให้โรงฆ่าสัตว์ที่เข้าร่วมโครงการยืมใช้เป็นเงินหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2% (สถาบันการเงินของรัฐเรื่องมาก ไม่ยอมปล่อย)

ข้อเสนออันนี้ไม่ใช่เรื่องของการอุ้ม ไม่ใช่การทุ่มงบประมาณแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่เป็นมาตรการช่วยเหลือเพื่อให้วงจรการผลิตเดินไปได้ ที่เหลือกลไกตลาด และภาคเอกชน เขาเดินกันไปได้เอง ​วันนี้นายหัวไทรเดินตามไปคอกวัวขุน เจอแต่คำถามว่า “วัวโลละร้อย จะส่งขายได้กี่โมง ส่งขายที่ไหน”

ต้องยอมรับความจริงว่า เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงวัวเนื้อประสบปัญหาด้านการตลาด ทั้งไม่มีที่ระบาย ต้องค่อยๆขายทีละตัวสองตัว เมื่อมีงานศพ งานแต่ง รังแต่จะแบกรับต้นทุน และท้ายที่สุดคือ “ขาดทุน” โรงเชือดก็ขาดเงินหมุนเวียนซื้อวัวเข้าโรงเชือด

อยากเรียกร้องให้รัฐบาล ลืมหูลืมตา ดูข้อเท็จจริง รับฟังปัญหาจากผู้รู้จริง จะได้แก้ไขปัญหาถูกจุด และเป็นระบบ

 #นายหัวไทร

 #ทำเฒ่าเรื่องเพื่อน

 #วัวเนื้อ #โรงเชือด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ มหาวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

  วิเคราะห์ มหาวรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25: พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต บทนำ มหาวรรค (Mahāvagga) ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พร...