วันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

"ผอ.สันติศึกษาป.โท มจร" ถอดบทเรียนวัดปากน้ำมิชิแกน จากโบสถ์คริสต์สู่วัดไทยในสหรัฐอเมริกา

 


วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ พระปราโมทย์ วาทโกวิโท, ดร. โค้ชสันติ ผู้อำนวยการหลักสูตรสาขาวิชาสันติศึกษา ระดับปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ถอดบทเรียนและเยี่ยมชม Buddhist Meditation Center Wat Paknam Michigan รัฐมิชิแกน โดยท่านอาจารย์เจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศ (พิมล วิมโล ป.ธ.๙) เป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำมิชิแกน ซึ่งท่านเจ้าคุณพระศรีญาณวิเทศได้ซื้อโบสถ์คริสต์ ปรับพื้นที่ภายในเป็นอุโบสถพร้อมทั้งผูกพัทธสีมา แล้วสามารถปรับพื้นที่เป็นสถานปฏิบัติกรรมฐานของชาวไทยและอเมริกา ซึ่งมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องด้านการพัฒนาสติสมาธิแบบเชิงรุกและเชิงรับ  ถือว่าเดินตามแนวทางนโยบายของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดนของพระพุทธเจ้าซึ่งถอดบทเรียนไว้โดยหลวงพ่อพระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. ภายใต้ คำว่า ตกปลานอกบ้าน ประสานสิบทิศ  ผูกมิตรทั่วหล้า  บริหารจิตเจริญปัญญา  สาลิกาป้อนเหยื่อ  อันประกอบด้วย  

๑) #ตกปลานอกบ้าน

เป็นการจาริกออกไปสอนธรรมนอกวัด ออกไปนอกประเทศเพื่อดึงคนเข้าหาพระพุทธศาสนา และการใช้สื่อต่างๆส่งธรรมออกไปถึงคนทั่วโลก โดยใช้ AI มาบูรณาการสอนธรรมะซึ่ง AI สามารถจดจำความต้องการของผู้คนได้ เป็นการวิเคราะห์ผู้ฟัง เพื่อการสื่อสารธรรมะให้ตรงประเด็นตามความต้องการ  

๒) #ประสานสิบทิศ 

เป็นการรวบรวมคนดีมีฝีมือนอกวัดมาช่วยงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่จัดขึ้นทั้งในวัดและนอกวัด เพราะสุดยอดของคนเก่งคือการใช้งานคนเก่งบริหารคนเก่งมาช่วยงาน จึงต้องเป็นนักประสานสิบทิศ 

๓) #ผูกมิตรทั่วหล้า 

เป็นการยื่นไมตรีจิตมิตรภาพให้กับคนทุกคน แม้กระทั่งเพื่อนร่วมโลกที่นับถือศาสนาอื่นเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ผ่านการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านการรู้เขารู้เขา เพราะโลกเป็นสังคมความพหุวัฒนธรรม จะต้องหากิจกรรมทำร่วมกันที่ไม่ใช่เรื่องศาสนา เช่น ขจัดความยากจน ยิ่งเราไปอยู่ในสังคมที่มีเสียงข้างน้อยจะต้องเน้นเรื่องโลกัตถจริยา เป็นการสงเคราะห์ชาวโลก ออกไปช่วยเหลือชาวโลก

๔) #บริหารปัญญา 

เป็นการศึกษาหาความรู้เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและการสร้างเครือข่ายแห่งปัญญาเพื่อใช้เป็นที่ปรึกษาและแหล่งอ้างอิง ซึ่งเราไม่ได้เก่งทุกเรื่อง "ทำเองก็ได้ จัดการให้คนอื่นก็ได้" อะไรที่เราไม่เชี่ยวชาญจะต้องใช้ปัญญาของคนอื่นมาช่วยเรียกว่า "ใช้ปัญญาผู้เชี่ยวชาญ" แต่เราต้องเตรียมปัญญาตนเอง โดยวิธีการบริหารปัญญา ๒ ประการ ประกอบด้วย ๑)เตรียมหาปัญญาใส่ตัวเอาไว้ใช้ในภายหน้า เป็นการหาความรู้ที่ถูกต้องเอาไว้ใช้งาน  ๒)เตรียมอาศัยปัญญาของคนอื่นในยามอับจน ซึ่งการใช้ล่ามไม่ต้องอาย เรื่องนี้จะปรึกษาใคร ถ้าจะฝึกอบรมจะเชิญท่านใดมาเป็นวิทยากรซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญ 

๕) #สาลิกาป้อนเหยื่อ 

การไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยลีลาการสอนธรรมที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย จะต้องวิเคราะห์ผู้ฟังเขาต้องการแนวทางคำสอนพระพุทธศาสนาแบบใด ซึ่งมี ๓ ประการ ประกอบด้วย ๑)คันถะธุระสอนแบบวิชาการมีงานวิจัยอ้างอิงสอนจากพระไตรปิฎก  ๒)วิปัสสนาธุระสอนแบบฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานในรูปแบบต่างๆ  ๓)สังคหธุระสอนแบบการช่วยเหลือชุมชนสังคมผ่านงานจิตอาสาเป็นกิจกรรม  โดยสอนตามความเหมาะสม 

โดยพระสารีบุตรมีปัญญามากย่อมแสดงธรรมโดยย่อก็ได้ แสดงโดยพิสดารก็ได้ ตามสติปัญญาของผู้เรียน เสียงของพระสารีบุตรไพเราะกังวานเหมือนเสียงนกสาลิกา โดยลีลาสาลิกาป้อนเหยื่อ มุ่ง ๑)ผู้ฟังคือจุดเด่นเป็นศูนย์กลาง ๒)ยึดแนวทางพุทธเทศนา ๓)แทรกนิทานสาธกยกภาษิต ๔)แถมวิจิตรอลังการด้านภาษา ๕)อ้างคำคมปวงปราชญ์ศาสดา 

โดยมุมส่วนตัววิเคราะห์และมองว่าการเผยแผ่ธรรมในต่างแดนยิ่งดินแดนที่มีความหลากหลายจะต้องมีฐานของขันติธรรมทางศาสนาโดยมีองค์ประกอบของขันติธรรมทางศาสนาประกอบด้วย ๑)การอนุญาต (Permission) ๒)การอยู่ร่วม (Coexistence) ๓)การเคารพ (Respect)  และ ๔)การยอมรับ (Appreciation/Acceptance)” ในความแตกต่างหลากหลาก แม้แตกต่างกันจะต้องมีฐานแห่งการเคารพกัน สันติภาพจึงเป็นฐานสำคัญในการทำงานในต่างแดนที่มีเสรีภาพ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

วิเคราะห์ ๕. ปารายนวรรค ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย สุตตนิบาต ในปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ "ปารายนวรรค...