วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

รัฐบาลจัดพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว



วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 14.30 น. รัฐบาลจัดแถลงข่าวพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม  H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย และนายสุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 พร้อมนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา เข้าร่วมงาน ณ ห้องแกลอรี่ 5 หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม 



นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า รัฐบาลไทยร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ดำเนินงานโครงการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ตามโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุจากมหานทีคงคาสู่ลุ่มน้ำโขง จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนืองในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  ในระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม 2567 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวงกรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ อุบลราชธานี และกระบี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อว่า เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ศาสนิกชนชาวไทย

และประเทศเพื่อนบ้านจะได้ร่วมสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ที่เป็นองค์ดั้งเดิม ที่ค้นพบในสถูปโบราณ เมืองกบิลพัสดุ์ และเมืองสาญจี จากสาธารณรัฐอินเดีย มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  



จึงขอเชิญชวนศาสนิกชนร่วมรับขบวนการอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในส่วนกลาง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.00 น. กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดริ้วขบวนอัญเชิญอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา โดยจัดเป็นขบวนโคม ขบวนการแสดง 4 ภาค การแสดงกลุ่มชาติพันธุ์ การแสดงจากอินเดีย ขบวนธงชาติไทย ธงชาติอินเดีย ธงธรรมจักร และธงฉัพพรรณรังสี ขบวนโคมประทีปและโคมดอกบัว ขบวนรถมาฆบูชาประดิษฐานพระพุทธรูปปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ รถบุปผชาติประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุ  ขบวนเฉลิมพระเกียรติ และขบวนจิตอาสา เป็นต้น  และในเวลา 17.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในมีพิธีเปิดงาน และพิธีเจริญพระพุทธมนต์ หลังจากนั้นเปิดให้ประชาชนเข้าสักการบูชา ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ในส่วนภูมิภาค อัญเชิญไปประดิษฐานในส่วนภูมิภาคใน 3 จังหวัด ให้ประชาชนได้เข้าสักการบูชา ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 5 - 8 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ หอคำหลวง อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ วัดมหาวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ ระหว่างวันที่ 15 - 18 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 20.00 น. ณ วัดมหาธาตุวชิรมงคล จังหวัดกระบี่ โดยในทุกวันตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป จะจัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เสริมสิริมงคลให้กับศาสนิกชนที่เข้ากราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ และพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ โดยแต่ละพื้นที่จะมีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตามอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่อย่างยิ่งใหญ่ 

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการ “การอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอินเดียมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อหลอมรวมพลังศรัทธาของศาสนิกชนชาวไทยทั่วโลก ซึ่งถูกรังสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อพระพุทธศาสนา บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง แบ่งเป็นส่วนการจัดแสดงนิทรรศการความเป็นมาของพระบรมสารีริกธาตุ / การค้นพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ เมืองปิปราห์วา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย / สังเวชนียสถาน 4 ตำบล / การบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต วัดสระเกศ และข้อมูลเกี่ยวกับพระธาตุที่นำมาจัดแสดงในประเทศไทย รวมถึงนิทรรศการเกี่ยวกับพุทธประวัติจากประเทศอินเดีย และส่วนของการจัดกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา พุทธศักราช 2567  ระหว่างวันที่ 24 - 26 กุมภาพันธ์ 2567 รวมถึงมีการเปิดศูนย์สร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ชมสาธิตการบรรยายธรรม กิจกรรมธรรมะบันเทิง โดยพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี การสาธิตผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณธรรม ชมสินค้าของดีเขตกรุงเทพมหานคร สวดเจริญพระพุทธมนต์ เจริญจิตภาวนา การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และการแสดงภาพยนตร์ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอีกด้วย” นายเสริมศักดิ์กล่าว



H.E. Mr. Nagesh Singh เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลไทย มีคำขอต่อรัฐบาลอินเดีย ในการขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกสองพระองค์ คือพระสารีบุตรและมหาโมคัลลานะ ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 19 มีนาคม 2567 โดยพระธาตุศักดิ์สิทธิ์จะเสด็จมายังประเทศไทย เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสอันน่ายินดีที่สุดนี้ ในนามของประชาชน รัฐบาลอินเดีย ขอแสดงความนับถือและความปรารถนาดีอย่างหาที่สุดมิได้ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงพระชนม์ชีพที่ยืนยาว ทรงมีพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์ และทรงพระเกษมสำราญ ซึ่งการมาเยือนขององค์พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ในครั้งนี้ ไม่บ่อยนักที่จะนำออกนอกประเทศ รัฐบาลอินเดียนำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมที ได้ตกลงที่จะส่งพระบรมสารีริกธาตุมายังประเทศไทย โดยคำนึงถึงความสำคัญสูงสุดในการเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดดั่งญาติมิตรของระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในประเทศได้กระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในการมีส่วนร่วมในทางธุรกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรม Soft power ของประเทศไทย และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดหมายสำคัญทางประวัติศาสตร์ในความสัมพันธ์ทวิภาคีอินเดีย-ไทย



ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า งานมหามงคลนี้เกิดขึ้นจากสามัคคีธรรมของทุกฝ่าย ในการเชื่อมต่อพลังศรัทธาประชาชน 2 ภูมิภาคจากลุ่มแม่น้ำคงคา คือ สาธารณรัฐอินเดีย ถิ่นกำเนิดพระพุทธศาสนา สู่ลุ่มแม่น้ำโขง คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม  ซึ่งเป็นดินแดนพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่อย่างมั่นคง โดยมีต้นทางคือสถาบันโพธิคยาฯ จัดโครงการธรรมยาตราพระบรมสารีริกธาตุ มหานทีคงคา ลุ่มน้ำโขง ขึ้น มีรัฐบาลไทยโดยกระทรวงวัฒนธรรม กรมการศาสนา เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมพระอรหันตธาตุพระอัครสาวก พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ มีผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาลอินเดียเป็นผู้อัญเชิญมา ด้วยการประสานงานจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จึงควรถือโอกาสนี้นำธรรมวิชัยจากแดนพุทธภูมิมาสร้างศาสนาธรรมให้ปักหลักมั่นคง ด้วยการนำคำสอนขององค์พระศาสดาซึ่งคือปริยัติธรรม นำมาปฏิบัติ เพื่อให้เกิดปฏิเวธธรรม มีความเข้าใจและเข้าถึงธรรมะได้จนสามารถยกระดับจิตใจให้ทุกคนในแผ่นดินลุ่มน้ำโขงได้มีความสุขกับการใช้ชีวิตต่อไปโดยไม่เบียดเบียนกัน รู้จักคำว่าอภัยและรับรู้ลมหายใจให้มากที่สุด เพื่อสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงธรรมะให้เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดความรัก ความสามัคคี และสร้างสันติสุขโดยธรรมให้เกิดขึ้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมการศาสนา www. Dra.go.th และสายด่วนวัฒนธรรม 1765

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์อุรควรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต

  วิเคราะห์อุรควรรคในพระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 17 ขุททกนิกาย สุตตนิบาต: ปริบทพุทธสันติวิธี บทนำ พระไตรปิฎกเล่มที่ 25 พระส...