วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560
"มจร4.0"สุดล้ำ!ใช้E-meetingมุ่งพัฒนาสู่EdPEx
ผอ.วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ "มจร" เผยได้นำการประชุมอีเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Meeting มาใช้เป็นครั้งแรกของ "มจร" สอดรับแผนชาติฉบับที่ 12 หวังลดขยะสำนักงาน และแผนประเมินคุณภาพการศึกษาแบบ "EdPEx"
วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2560 พระหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) ซึ่งวางสถานะ (Positioning) ตัวเองให้เป็น Smart College ให้ได้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) นี้ ได้นำระบบการประชุมอีเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Meeting หรือ Paperless Meeting มาใช้ในการประชุมครั้งแรกของมหาจุฬาฯ เพื่อลดเอกสารที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะทำให้สามารถลดท้นทุนการผลิต และขยะที่กำลังท่วมสำนักงาน ทั้งนี้ส่วนงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีพระมหาชำนาญ วิชาโน เป็นผู้อำนวยการ และทีมงานได้เข้ามาช่วยวางระบบ และสนับสนุนการดำเนินการ ซึ่งหลังจากนี้ จะยกระดับสู่การประชุมของสภาวิชาการในวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ต่อไป
การประชุมแบบ E-Meeting เป็นระบบที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสารมาอํานวยความสะดวกในการดําเนินการประชุม เริ่มตั้งแต่การจัดเตรียม ระเบียบวาระการประชุม การนําเรื่องที่เสนอ เข้าสู่วาระต่างๆ ตามระเบียบปฏิบัติของ หน่วยงานในการประชุมแต่ละครั้ง และการ เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมดูวาระการ ประชุมที่อยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ล่วงหน้าก่อนการประชุม และในระหว่างดําเนินการประชุมผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ของตนเองได้
แนวทางการพัฒนาองค์กรไปสู่การใช้เทคโนโลยีซึ่งนับวันจะมีราคาถูกลงเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ (Digital Organization) นั้น จะส่งผลเชิงบวกต่อการพัฒนาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติไปสู่การประเมินโดยใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะกรรมการประจำวิทยาลัย โดย รศ.ดร.ไทย ทิพย์สุวรรณกุลได้ย้ำว่า หากวิทยาลัยจะก้าวไปสู่ความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริงแล้ว เครื่องมือในการประเมินก็ควรจะสอดรับกับการเป็นนานาชาติเช่นเดียว ซึ่ง EdPEx จะเน้น 7 มิติ คือ การนำองค์กร กลยุทธ์ ผู้เรียน การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ บุคลากร ระบบปฏิบัติการ และผลลัพธ์
"หลังจากนี้ วิทยาลัยฯ ซึ่งได้คะแนนการประเมินในระดับส่วนงาน 4:68 อยู่ในระดับดีมากนั้น จะนำเสนอแนวทางการประเมินแบบ EdPEx ตามที่คณะกรรมการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สกอ. ได้เสนอแนะเอาไว้ และกรรมการประจำวิทยาลัยได้อนุมัติให้ดำเนินการ ไปให้คณะกรรมการสภาวิชาการให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้น จึงจะเสนอต่อคณะกรรมการอุดมศึกษา เพื่อขอรับการประเมินส่วนงานโดยใช้ ExPEx ต่อไป ทั้งนี้ กรรมการอุดมศึกษาจะจัดส่งที่ปรึกษามาช่วยวางระบบพร้อมทั้งสนับสนุนงบประมาณ ทั้งการพัฒนาระบบ และพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประเมินอย่างเป็นทางการในอีก 2 ปีข้างหน้าต่อไป ในขณะระดับหลักสูตรของวิทยาลัยทั้งระดับปริญญา และเอก ที่ได้คะแนนประเมินในระดับ 4:10 และ 3:58 นั้น วิทยาลัยจะเร่งยกระดับการประเมินเพื่อเข้าสู่ TQR ซึ่งอยู่ในฐานของ สกอ. ต่อไป" ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ กล่าว
ชวนส่งโครงการขอรับหนุนงบ"กองทุนในหลวงร.9เผยแผ่พุทธ"
สมเด็จพระวันรัตร่วมแถลงข่าวกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ ๒๕๕๑ ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมอนุโมทนาและร่วมสมทบทุน พร้อมเชิญชวนองค์กรหรือเครือข่ายทางพระพุทธศาสนาที่สนใจสามารถส่งโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
วันอังคารที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๐ เวลา ๐๙.๐๐ น. สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นประธานแถลงข่าวงานกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ ๒๕๕๑ นายสมเกียรติ ธงศรี ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมแถลงข่าวกองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ ๒๕๕๑ ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่
กองทุนเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา ตามพระราชประสงค์ ๒๕๕๑ จัดตั้งขึ้น โดยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจำนวน ๗๒ ล้านบาท ที่ธนาคารออมสินได้ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัย เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖ รอบ วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และทรงมอบคืนให้ธนาคารออมสินนำไปให้จัดตั้งเป็นกองทุนและใช้ดอกผลอันเกิดจากกองทุนนี้ เพื่อเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา และในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ ได้มอบหมายให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเงินจัดตั้งและดอกผลรวมแล้วประมาณ ๑๑๑ ล้านบาท
สำหรับกองทุนนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑.เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนาสู่สังคม ๒.ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการกิจกรรมเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยมุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดี การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขด้วยหลักพุทธธรรม ๓.ยกย่องเชิดชูเกียรติ องค์กร และบุคลากรที่มีความสามารถในการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ๔.ส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา และ ๕.จัดหาและระดมทุนทุกภาคส่วนสมทบกองทุน เพื่อนำมาใช้ในการเผยแผ่พระธรรมในพระพุทธศาสนา
โครงการนี้ดำเนินงานร่วมกันระหว่างมหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรมอันดี จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านร่วมอนุโมทนา และร่วมสมทบทุน เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้สถาพรสืบไป และเชิญชวนองค์กรหรือเครือข่ายทางพระพุทธศาสนาที่สนใจ สามารถส่งโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณได้ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
.........
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ / ข่าว)
เตรียมคัดคนไทยรับโล่ทูตสันติภาพโลกปี61ที่สวีเดน
เจ้าคุณสวีเดนตรวจความพร้อมในการจัดประชุมสันติภาพโลกปี2561 ที่สวีเดนคาดผู้นำทั้งศาสนาและทุกองค์กรสำคัญทั่วโลกร่วมมากกว่า 1,000 คน เตรียมคัดคนไทยรับรางวัลทูตสันติภาพโลก
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2560 พระวิเทศปุญญาภรณ์ เจ้าคุณสวีเดน เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ประเทศสวีเดนหรือเจ้าคุณสวีเดน เปิเผยว่า เวลา 08.00 น. นายเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ เอกอัครราชทูตไทยและภรรยา ได้เดินทางมาถวายภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ที่วัดพุทธารามสวีเดน ในวันคล้ายวันเกิด พร้อมกับหารือเกี่ยวกับการเตรียมการจัดประชุมสันติภาพโลกในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2561 ที่ประเทศสวีเดน หลังจากนั้นเวลา 14.00 น. เดินทางไปที่สตอกโฮล์มโดยมีเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล City Hall หรือ Stockholm Stadshuset ได้พาอาตมาพร้อมคณะชมสถานที่จัดงาน
"การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญต่อโลกมากเพราะจะมีผู้นำทั้งศาสนาและทุกองค์กรสำคัญจากทั่วโลกมากกว่า 1,000 คนมาประชุม และอาตมาเองก็รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ต่างชาติได้เลือกให้เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดงานครั้งนี้ร่วมกับองค์การนานาชาติ และที่สำคัญยิ่งคือเป็นโอกาสดีที่จะได้นำเอาเรื่องสมาธิและปรัชญาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงในการเสริมสร้างสันติภาพและการแก้ปัญหาสังคมโลกได้อย่างยั่งยืนมาเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมครั้งนี้ด้วย" เจ้าอาวาสวัดพุทธารามสวีเดน กล่าวและว่า
เพราะที่ผ่านมาประเทศสวีเดนได้ยกย่องกษัตริย์ไทยเป็นอย่างมาก ตามที่ทราบข่าวแล้วนั้นว่ารัฐบาลสวีเดนจัดพิธีเพื่อถวายพระเกียรติสูงสุดแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ด้วยพิธีตีระฆังแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตราเซราฟีมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยมีคนมาร่วมงานมากถึง 4,000 คน
พระวิเทศปุญญาภรณ์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมสันติภาพโลกในปี 2561 ที่ประเทศสวีเดนครั้งนี้ อาตมาจะมีสิทธิ์นำเสนอให้คนไทยได้เข้ารับรางวัลทูตสันติภาพ (peace ambassador)ในครั้งนี้ด้วย จึงนับเป็นข่าวดีสำหรับบุคคลที่ต้องการเสนอผู้ที่ควรจะได้รับรางวัลทูตสันติภาพ ให้เสนอมาได้ที่เมล์ peaceworld2018@gmail.com หรือไลน์ thestar2017 ภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2561 นี้ โดยการนำเสนอประวัติและผลงานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษมาที่อาตมาจะนำเสนอให้คณะกรรมการได้พิจารณา
"การประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมจำกัดจำนวนผู้เข้าประชุมเพราะห้องประชุมประวัติศาสตร์จุคนได้เพียง1,500 คน เป็นห้องเดียวกันที่มอบรางวัลโนเบลโนเบล ที่มีกษัตริย์และราชวงศ์สวีเดนเสด็จทุกปีในเดือนธันวาคม" พระวิเทศปุญญาภรณ์ กล่าว
วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ปาฎิหาริย์!100วันหลวงพ่อรวยไม่เน่าไม่เปลื่อย
วันที่ 30 ต.ค.2560 คณะสงฆ์และศิษยานุศิษย์ของพระครูสุนทรธรรมนิวิฐ หรือหลวงพ่อรวย ปาสาทิโก วัดตะโก อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ได้เปิดโลงที่บรรจุสรีรสังขารหลวงพ่อรวย ที่ มรณภาพครบ 100 วัน ในวันนี้ ซึ่งบรรดาคณะศิษยานุศิษย์จำนวนมากต่างรอดูด้วยใจจดจ่อว่าสรีรสังขารหลวงพ่อจะเป็นอย่างไร
ปรากฏว่าเมื่อเวลา 09.00 น. ได้เวลาเปิดโลงที่บรรจุสรีรสังขาร คณะศิษย์และประชาชนจำนวนมากที่เฝ้ามุงดูต่างตกตะลึงไปตามๆกันเพราะภาพที่ปรากฎคือสภาพสรีระสังขารหลวงพ่อรวย ไม่เน่า ไม่เปลือย ใบหน้าปกติคล้ายคนนอนหลับ ทั้งที่มรณภาพมาครบ 100 วันแล้ว จึงได้พร้อมใจกันนำสรีรสังขารหลวงพ่อบรรจุใส่โลงแก้วเพื่อให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการะ ณ พระมหาธาตุเจดีย์ปาสาทิโก วัดตะโก อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา
สัมมนากรรมฐานนานาชาติวัดหลวงพ่อกัสสปมุนี
ชาวพุทธโปแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ร่วมสัมมนากรรมฐานนานาชาติวัดหลวงพ่อกัสสปมุนีพระอดีตขรก.กรมสรรพสามิตบวชใกล้เกษียณ อาจารย์สันติศึกษา "มจร"สอนปฏิบัติธรรมประยุกต์ระหว่างสายพองยุบกับสายพุทโธวัดวัดธรรมปัญญา
วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2560 ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อดีตอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหายิทยาลัย อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาได้เดินทางกราบสรีระหลวงพ่อกัสสปมุนี พระอาจารย์วิโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดปิปผลิวนาราม เขาสุนทรีบรรพต จังหวัดระยอง พร้อมกันนี้ได้ร่วมสัมมนานานาชาติเรื่องกรรมฐานกับชาวพุทธจากประเทศโปแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาสนใจชาวพุทธจากประเทศโปแลนด์เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นคนหนุ่มอายุ 37 ปี โดยตนเรียกเขาว่า "The Future of Buddhism In The West" อนาคตของพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก หลังจากนั้นได้ร่วมกันนั่งสมาธิในโบสถ์
ผศ.รท.ดร.บรรจบ กล่าวต่อว่า สำหรับหลวงพ่อกัสสปมุนีได้สละทางโลกเข้าแล้วเข้ามาบวชจนตลอดรอดฝั่งเป็นพระ "สุปฏิปันโน" (ผู้ดำเนินไปดีแล้ว, ผู้เดินไปถูกทางแล้ว)ไม่ใช่ง่ายและทำได้ทุกรูป ต้องมีบุญแต่อดีตชาติเกื้อหนุนอย่างมาก เพราะบวชตอนอายุ 57 ปี ใกล้เกษียณอายุราชการจากกรมสรรพสามิตและมุ่งมั่นปฏิบัติจนได้มาเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีผู้เคารพนับถือมาจนทุกวันนี้
"หลวงพ่อกัสสปมุนีบวชกับพระอุปัชฌาย์เดียวกับผม คือ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) หรือสมเด็จป๋า วัดโพธิ์ และปฏิบัติตามโอวาทพระอุปัชฌาย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นเบื้องต้นนำไปสู่การเป็นพระสงฆ์ที่ดีในเวลาต่อมา เนื่องจากเวลานั้น ท่านมีพรรษายังไม่ครบ 5 พรรษา ยังไม่พ้นสภาพการเป็นพระนวกะ (พระใหม่) ธรรมดาพระนวกะหากจะไปอยู่ปฏิบัติธรรมสำนักใดต้องได้รับอนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ก่อน ดังนั้น ท่านจึงถูกวางเกณฑ์โดยสมเด็จพระอุปัชฌาย์ว่าอยู่ที่ใดก็ตามให้ต้องติดต่อรายงานการปฏิบัติให้ทราบเป็นคราว ๆ และเมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาต้องกลับมาถึงวัดโพธิ์ ก่อนเข้าพรรษา 10 วัน เพื่ออยู่เรียนธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ กับสมเด็จพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านก็ปฏิบัติตามนั้นสม่ำเสมอ จนพ้นข้อกำหนด ที่ภาษาพระวินัยเรียกว่า "นิสยมุตตกะ" (พ้นจากนิสัย, พ้นจากการอยู่แบบพึ่งพาพระอุปัชฌาย์)" ผศ.รท.ดร.บรรจบ กล่าวและว่า
หลวงพ่อกัสสปมุนีเห็นว่าพระปฏิบัติต้องฝึกตนด้วยการไปอยู่ป่า จึงลาสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่ป่า การไปอยู่ที่ภูกระดึงทำให้ท่านพบประสบการณ์หลากหลาย ได้พบภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น หนาวจัด ไฟป่า สัตว์ร้าย ยังได้พบโอปปาติกะ และโลกอีกมิติหนึ่งอย่างเหลือเชื่อ หลังจากช่วงเวลานั้นผ่านไป ท่านได้มาอยู่ที่ระยองเพราะมีเศรษฐีสร้างวัดให้บนภูเขาสุนทรีบรรพต ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ท่านตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดปิปผลิวนาราม" และต่อมากเรียกตัวท่านเองว่า "กัสสปมุนี" เพราะมีความสัมพันธ์กับชื่อทั้งสองมาแต่ครั้งพุทธกาล
"อาจารย์วิโมกข์ ศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อกัสสปมุนีเล่าว่า วัดปิปผลิวนารามยังมีเรื่องสัมพันธ์กับรุกขเทพธิดาจัมปากสุนทรี เทพธิดาประจำวัด และพระยานาควสุโรดม ซึ่งคอยอารักขาวัด ใครจะเชื่อหรือไม่อย่างไรไม่เป็นประเด็น แต่ประเด็นคือหลวงพ่อกัสสปมุนีได้เล่าและเริ่มให้ความสำคัญไว้ เราไปกราบสรีระหลวงพ่อกัสสปมุนีด้วยซึ่งยังไม่ได้ฌาปนกิจ สรีระของท่านอยู่ในโลงไม้ฝังมุก อาจารย์วิโมกข์เล่าว่า หลวงพ่อสั่งไว้ไม่ให้เผา ท่านจะเผาตัวท่านเอง เพราะก่อนหมดลม ท่านได้เข้าเตโชสมาบัติ คือ อธิษฐานจิตให้เกิดไฟลุกไหม้ร่างท่านเองเมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ท่านกำหนดไว้" ผศ.รท.ดร.บรรจบ กล่าวและว่า
วันที่ 26 ตุลาคม ไม่ได้ไปร่วมถวายดอกไม้จันทน์ เพราะมีภารกิจสำคัญจรมา คือ ต้องไปสอนกรรมฐานถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสทึ่วันนี้เป็นวันออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่วัดธรรมปัญญารามบางม่วง อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยการประยุกต์ระหว่างสายพองยุบกับสายพุทโธ
วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ทอดกฐินสร้างวัดมหาจุฬาฯรับพระถังซัมจั๋งยุคใหม่มาเรียน
ทอดกฐินสร้างวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศรับพระถังซัมจั๋งยุคใหม่มาเรียน ฟื้นฟูประวัติศาสตร์นาลันทาสู่มหาจุฬาฯอันยิ่งใหญ่ทางพระพุทธศาสนา บูชาคุณหลวงพ่อปัญญานันทะพระมหาเถระผู้สร้างโบสถ์กลางน้ำที่ใหญ่ที่สุด
วันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่พระอุโบสถกลางน้ำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) อธิการบดี มจร เป็นประธานในการทอดกฐินสามัคคีเพื่อสมทบทุนสร้างวัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ พร้อมกล่าวสัมโมทนียกถาความว่า วันนี้ในนามคณะสงฆ์วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร โดยมีแม่ชีทองสุข นามเจ็ดสี และญาติโยมจากฮ่องกง ในฐานะอธิการบดีมหาจุฬาฯ ขออนุโมทนาที่มาร่วมงานสำคัญของมหาจุฬาฯ ทำให้เรานึกถึงคำว่า "การพัฒนาที่ยั่งยืน" เป็นคำที่พูดถึงต่อเนื่องยั่งยืน มหาจุฬาฯ ๑๓๐ ปี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ จนถึงรัชกาลที่ ๙ และหอประชุม มวก รัชกาลที่ ๑๐ เป็นการพัฒนาไม่หยุด
การมาทอดกฐินครั้งนี้เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะมีการสร้างกุฏิสงฆ์ สร้างศาลาสำหรับพระสงฆ์ รวมกับอุโบสถ โดยมีชื่อวัดว่า "วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศ" แปลว่า วัดที่สร้างถวายพระเจ้าแผ่นดินทรงนามว่า มหาจุฬาลงกรณ์ ปัจจัยทุกบาทจะนำไปสร้างวัด เพื่อถวายรัชกาลที่ ๕ วัดอยู่ภายในรั้วมหาจุฬาฯ ซึ่งประวัติศาสตร์มหาจุฬาฯตั้งอยู่ในวัด โดยมีวัดมหาธาตุเป็นต้น ซึ่งปีนี้มีพระจำพรรษาวัดมหาจุฬาฯจำนวน ๔๗๐ รูป ถือว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่ ขอให้เราอนุโมทนาบุญร่วมกัน การถวายบริวารกฐินถือว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และอานิสงส์ยิ่งใหญ่มาก
วัดมหาจุฬาลงกรณราชูทิศที่เราสร้างขึ้นมาทำให้เรานึกภาพของมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของโลก ชื่อว่า มหาวิทยาลัยนาลันทา นาลันทาที่อินเดียมีความเจริญรุ่งเรื่องมากเมื่อ พศ.๑๐๐๐ ผ่านมา ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยนาลันทารวมเป็นหนึ่งเดียว ชื่อ นาลันทามหาวิหาร มีพระและครูอาจารย์อยู่รวมกันเป็นหมื่นรูปคน รู้จักจากพระถังซัมจั๋งจากประเทศจีน เดินทางจากจีนไปเรียนที่มหาวิทยาลัยนาลันทาถึงเวลา ๕ ปี บันทึกไว้หมดว่าวัดวาอารามเป็นอย่างไร
พระถังซัมจั๋งยุคใหม่จากจีนจากฮ่องกงมาเรียนที่มหาจุฬาฯเป็นการฟื้นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของนาลันทา ด้วยการสร้างวัดมหาจุฬาฯ ซึ่งอดีตที่นี่เป็นท้องทุ่งนา ได้รับการบริจาคจำนวน ๘๔ ไร่ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จาก ๘๔ ไร่ เป็น ๓๒๐ ไร่ โดยมุ่งจะสร้างวัดมหาจุฬาฯ โดยได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อปัญญานันทะเป็นผู้นำในการสร้างอุโบสถกลางน้ำ " แปลกและมหัศจรรย์" ถือว่าเป็นโบสถ์กลางน้ำที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุด สามารถทำกิจกรรมได้ ๔,๐๐๐ รูป เป็นโบสถ์สองชั้น มีจิตรกรรมที่สวยงาม หลวงพ่อปัญญานันทะท่านสร้างให้ ถือว่าเป็นคุณูปการต่อมหาวิทยาลัย
"ฉะนั้นเราต้องนึกถึงหลวงพ่อปัญญานันทะ เพราะทานผลไม้ต้องนึกถึงคนปลูกต้นไม้ ทานน้ำต้องนึกถึงคนขุดบ่อ เราชาวมหาจุฬาต้องนึกถึงหลวงพ่อปัญญานันทะผู้สร้างอุโบสถกลางน้ำวัดมหาจุฬา วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เป็นวันพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อปัญญานันทะ ณ วัดชลประทานรังสกฤษฎ์ พวกเราชาวมหาจุฬาฯต้องไปร่วมงานครั้งสุดท้าย เรามาทำบุญวันนี้ถือว่าเป็นบูชาคุณหลวงพ่อปัญญานันทะ" พระพรหมบัณฑิต กล่าว
.................................
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊กPramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มจร)
วันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ลูกเณรทั่วไทยบวชส่งเสด็จพ่อหลวงสู่สวรรคาลัย
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พลเอกประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติกระทรวงกลาโหมจัดโครงการอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล จำนวน 990 รูป โดยร่วมกับวัดพิชยญาติการาม วรวิหาร และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขณะเดียวกันมหาเถรสมาคมได้มีมติมอบหมายให้วัดต่างๆ ทั่วประเทศดำเนินการจัดโครงการดังกล่าวด้วย
ทำให้มีพสกนิกรได้อุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น นักแสดงหนุ่ม “ภัทร ฉัตรบริรักษ์” น้องชายพระเอก "บอย ปกรณ์ นักร้องหนุ่ม "อ่ำ อัมรินทร์ " นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง ‘สุรชัย ไกรวาปี’ หรือ‘ต้อย หมวกแดง’ หนุ่มหล่อ "ชิน ชินวุฒิ" "นาคเบิ้ล ปทุมราช" หรือ ศิลปินชื่อดัง แห่งค่ายเพลง อาร์สยาม “หนิง ปณิตา ธรรมวัฒนะ” ที่ตัดสินใจปลงผม บวชชี กับการบวชพุทธสาวิกา ศีล 10 ในโครงการ 70 ปี 70 ล้านความดี อนุสาวรีย์มีชีวิต ถวายพ่อ ที่เสถียรธรรมสถาน นักมวยชื่อดัง "บัวขาว บัญชาเมฆ"
นอกจากการอุปสมบทหรือบวชพระแล้ว ยังได้เห็นภาพของการบรรพชาหรือบวชเป็นสามเณรทั่วประเทศเช่นเดียวกัน อย่างเช่นพระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา เปิดเผยว่า มหาจุฬาฯ พร้อมด้วยมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และหลักสูตรสันติศึกษา ผนึกกำลังกันคัดยุวชนช่อสะอาดจาก 28 หมู่บ้านทั่วประเทศ มาเป็นพัฒนาและฝึกอบรมต่อยอดเป็นสามเณรช่อสะอาด เน้นพัฒนาทั้งกายสะอาด พฤติกรรมสะอาด จิตใจสะอาด และปัญญาสะอาด หลังจากนั้นจะนำสามเณรช่อสะอาดเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2560 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โดยมี ศ.วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่ลานพระบรมรูป ร.9 พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นประธานในพิธีบรรพชาสามเณรกุลบุตรชาวอินเดีย จำนวน 89 รูป เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองกุสินารา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ลานพระบรมรูป ร.9 วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ระหว่างวันที่ 6 - 27 ตุลาคม 2560 สำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร สำนักงานพระธรรมทูตสายอินเดีย - เนปาล วัดไทยพุทธคยา วัดนาคปรก และกรมการศาสนา กระทรวงวัฒรธรรม ได้จัดโครงการปลูกต้นกล้ายาตราพุทธภูมิ รุ่นที่ 2 บรรพชาสามเณรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และน้อมเกล้าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ทีมงานธรรมะห่มดอย โครงการพระธรรมจาริก วัดศรีโสดา พระอารามหลวง โรงเรียนสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ โรงเรียนวัดวิเวกวนาราม ได้จัดบรรพชาอุปสมบท พุทธศาสนิกชนบนพื้นที่สูงเป็นประจำทุกปี ในช่วงเข้าพรรษา และเมื่อออกพรรษาแล้ว ได้จัดการเดินเดินธุดงค์ธรรมะห่มดอยปฏิบัติธรรมเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นปีที่ 3 โดยตั้งเป้าหมายรับสมัครพระภิกษุสามเณรเข้าร่วมเดินธุดงค์ธรรมะห่มดอยจำนวน 200 รูป และจะเริ่มเดินในวันที่ 26 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม 2560 นี้
นอกจากนี้เด็กชายพุทธิกานต์ กิตติธรางกูร บุตรชายของนายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดลพบุรี (ผอ.พศจ.ลพบุรี) ที่เพิ่งย้ายมาดำรงตำแหน่ง ได้บรรพชาเป็นสามเณรในโครงการบรรรพชาถวายเป็นพระราชกุศล น้องกรณ์ หรือ ด.ช.จิรกรณ์ เสือแผ้ว ก็ได้บวชที่วัดป่ามณีกาญจน์ เลขที่ 67/3 หมู่ 3 ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ด้วย
พระมหาจุฬาฯลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วมกรุงเก่า
วันที่ 27 ต.ค.2560ที่ผ่านมา พระมหาราชัน จิตฺตปาโล รักษาการผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เปิดเผยว่า ได้ร่วมเดินทางเป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยไปแบ่งปันน้ำใจแก่พี่น้องชาวอำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในการนี้คณะจิตอาสานำโดยพระมหาพุทธศักดิ์ ฐานิสฺสโร รองผู้อำนวยการกองคลังและทรัพย์สิน ได้สละทุนทรัพย์ส่วนตัวรวมทั้งรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้งที่ได้จากการบิณฑบาตที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่นิสิตมหาวิทยาลัยไดร่วมกันช่วยบริจาค มูลค่าประมาณ 50,000 บาท จัดทำเป็นถุงยังชีพจำนวน 300 ถุง นำไปมอบแด่คณะสงฆ์ในอำเภอเสนา ที่ประสบภัยน้ำท่วม ไม่สามารถออกรับบิณฑบาตรได้
"ขออนุโมทนาบุคลากรจากส่วนงานต่างๆ ทั้งกองกิจการนิสิต กองวิเทศสัมพันธ์ ส่วนเทคโนฯ สำนักทะเบียน และฝ่ายยานพาหนะ ที่เสียสละเวลาวันหยุดมาช่วยกันลำเลียงส่งของถึงมือผู้ต้องการความช่วยเหลือในครั้งนี้" พระมหาราชัน กล่าว
วัดไทยทั่วโลกร่วมใจส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
วัด-สำนักปฏิบัติธรรมไทยทั่วโลกกว่า 1,000 แห่ง พร้อมคนไทยและชาวต่างประเทศกว่า 5 แสนคน พร้อมใจส่งเสด็จ "ในหลวงร.9" สู่สวรรคาลัย
วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2560 พระวิเทศปุญญาภรณ์ (บุญทิน) เจ้าอาวาสวัดพุทธาราม ประเทศสวีเดน เลขานุการสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป เปิดเผยว่า วัดไทยทั่วโลกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจจัดพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมกันทุกทวีป ทั้งจัดพิธีในวัด สถานทูตและสถานที่ต่างที่เหมาะสมอย่างสมพระเกียรติ
โดยมีวัดไทยทั่วโลกในต่างประเทศตอนนี้อยู่ประมาณ 500วัด หากรวมวัดทั่วไปที่ยังเป็นสำนักสงฆ์หรือสำนักปฏิบัติธรรม ปฏิบัติศาสนกิจจะมีมากถึง 1,000 แห่ง เมื่อรวมแล้วคนไทยในต่างประเทศและชาวต่างประเทศทั่วโลก ทุกทวีปไม่รวมในไทย ไม่ต่ำกว่า 500,000 คน ที่ได้ร่วมพิธีในการวางดอกไม้จันทน์ และพิธีถวายเกียรติยศสูงสุด
"ประธานสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป ได้กำหนดนัดหมายการประชุมวิสามัญขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายน2560 เป็นกรณีพิเศษ เพื่อสรุปงานตลอดปีและร่วมกิจกรรมที่วัดไทยในทวีปยุโรปได้จัดถวายในหลวงในครั้งนี้เพื่อถวายรายงานแด่ประธานสำนักงานกับกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศเพื่อนำเสนอมหาเถระสมาคมและรัฐบาลไทยรับทราบต่อไป" เลขานุการสหภาพพระธรรมทูตไทยในทวีปยุโรป กล่าว
พระครูบาบุญชุ่มเจริญจิตภาวนาถวาย"ในหลวงร.9"
วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้ร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยได้เจริญจิตภาวนาและถวายดอกไม้จันทร์ ณ วัดดอยเวียงแก้ว อ.เขียงแสน จ.เชียงราย
...........
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Nathivich W. พระณธีร์วิชญ์ วรโภคินธนะโชค)
วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
"ในหลวงร.9"พระผู้ทรงงานบนฐานแห่งปัญญา
"ในหลวงร.9"พระผู้ทรงงานบนฐานแห่งปัญญา : มุมมองพระสงฆ์เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม
วันนี้ (26 ตุลาคม 2560) เป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดถึงบรรดาผู้นำจากทั่วโลก ได้รวมพลังทั้งกายและจิต ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิธ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ รัชกาลที่ 9 ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร มณฑลพิธีถวายดอกไม้จันทน์ตามจังหวัดต่างๆ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และมณฑลพิธีที่จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำ เพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก จนเป็นที่รักของปวงพสกนิกร แม้องค์กรระดับนานาชาติหลายองค์กร ก็ประจักษ์ในผลงานที่พระองค์ได้ทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระสติปัญญา ดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ต่างถวายรางวัลเพื่อยกย่องพระเกียรติคุณดังกล่าว และเชิญชวนให้นานาประเทศได้นำเอาแนวพระราชดำริ และตัวอย่างกิจกรรมที่ทรงทำไว้เป็นแบบอย่าง ไปใช้ในการพัฒนาประเทศและโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ในฐานะพระสงฆ์ในเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังคม 4 ภาค โดยเฉพาะเครือข่ายพระนักพัฒนาชมชนภาคเหนือ (คพชน) ที่มีหลักคิดในการทำงานที่สำคัญคือ “พุทธธรรมนำปัญญาพัฒนาท้องถิ่น” จึงอยากเสนอมุมมองการทรงงาน ที่สามารถสร้างคุณูประการให้แก่สังคมไทยและสังคมโลก ผ่านกรอบ “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป
หากสังเกตการทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี พระองค์ได้ทรงใช้หลัก “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” ตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแบบอย่างที่น่าศึกษาเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง โดยหลักการทรงงานที่ทรงใช้ก็คือหลัก “ปัญญาวุฒิธรรม” ได้แก่
1) สัปปุริสังเสวะ (เสวนาผู้รู้)
2) สัทธัมมัสสวนะ (ฟังดูคำสอน)
3) โยนิโสมนสิการ (คิดให้แยบคาย)
4) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติให้ถูกต้อง)
การที่พระองค์จะมี “พระอัจฉริยภาพ” หรือ “ทรงภูมิปัญญา” เป็นที่ประจักษ์อย่างที่เราได้สัมผัสอยู่ ณ วันนี้ได้นั้น ทรงพัฒนาพระอัจฉรียภาพของพระองค์ผ่าน “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” มาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เรามักจะไม่ค่อยสนใจ “กระบวนการพัฒนาพระอัจฉริยภาพ” กันสักเท่าใดนัก แต่กลับไปสนใจและชื่นชมผลหรือความสำเร็จกันเสียมากกว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มีพระราชจริยาวัตรที่สำคัญอย่างหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ทรงงาน กล่าวคือ ทรงให้ความสำคัญกับหลัก “สัปปุริสังเสวะ – การเสวนาผู้รู้” ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมภูมิรู้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั่วประเทศ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ตลอดถึงปราชญ์ชาวบ้านผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุกๆแห่งที่เสด็จทรงงาน เป็นเหตุสำคัญให้พระองค์ได้รับฟังข้อมูลที่รอบด้าน มาประกอบในการพิจารณาดำเนินโครงการในพระราชดำริถึง 4447 โครงการ ในส่วนนี้ถือเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาพระอัจริยภาพ ที่รวมเรียกว่า “ปรโตโฆสะ” ที่เป็น “กัลยาณมิตร”
จากข้อมูลที่รอบด้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้นำมาพิจารณาโดยหลัก “โยนิโสมนสิการ” พิจารณาอย่างแยบคาย โดยในช่วงเวลาที่ทรงแปรพระราชฐานไปทรงงานในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ จะเป็นพระราชวโรกาสที่จะได้มีพระราชดำริทบทวน ด้วยเหตุด้วยผล หาความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ข้อดีข้อเสีย คุณและโทษ หรือตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เป็นต้น ก่อนจะตัดสินพระทัยในการพัฒนาและดำเนินโครงการตามพระราชดำริดังกล่าว ซึ่งมีถึง 4447 โครงการ
โครงการในพระราชดำริ จำนวน 4447 โครงการ เป็นเครื่องยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ใช้หลัก “ธัมมานุธัมมปฏิบัติ” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนา “พระอัจฉริยภาพ” ภายหลังจากที่ทรงมีกัลยาณมิตรและพระราชดำริที่แยบคายแล้ว ตัวอย่างเช่น
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยทรงเริ่มจาก “เขื่อนขนาดใหญ่” ในระยะแรกของโครงการในพระราชดำริ แต่เมื่อทรงกลับไปใช้หลัก “ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ” อีกครั้งก็ทรงเห็นถึงผลกระทบ กระทั่งปัจจุบันทรงนำเสนอและสร้างตัวอย่างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้วย “ฝายชลอน้ำ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ฝายแม้ว” รวมถึงนวัตกรรมแหล่งน้ำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำ โดยมีหลักการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 (แหล่งน้ำ : นาข้าว : ไร่/สวน : ที่อยู่อาศัย) ที่กลายเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ เวลานี้
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ที่ทรงเห็นว่าด้วยบริบทที่แตกต่างของภูมิภาคทั่วประเทศ จะใช้รูปแบบการพัฒนารูปแบบเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงทรงทดลองและสร้างให้เป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมกับบริบทต่อไป
หลัก “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” จึงเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนา “พระอัจฉริยภาพ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ที่เหล่านักพัฒนาสังคมท้องถิ่นทั้งหลายควรนำมาพิจารณา และปรับใช้ในการทำงาน เพื่อลด “ความผิดพลาด” ในการทำงานพัฒนาสังคม ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่เน้นการเพิ่มตัวเลขจีดีพี (GDP) ไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่มี “คนเป็นศูนย์กลาง” และ “ดูแลสิ่งแวดล้อม”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีฯ เพื่อ “น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้” และ “ถวายความอาลัยแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” ตลอดถึงตามรอยพ่อด้วยการนำหลัก “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” มาสืบสาน เพื่อพัฒนาตนและพัฒนาสังคมที่อุดมด้วย “ปัญญา” ต่อไป
.........................
(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai)
มหาจุฬาฯจัดปฏิบัติธรรมบูชาส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
ระหว่างวันที่ 23-27 ตุลาคม 2560 สถาบันวิปัสสนาธุระ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้จัดกิจกรรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 องค์สถาปนามหาวิทยาลัย และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร องค์ผู้เป็นพุทธมามกะ อุปถัมภ์ค้ำชูมหาจุฬาฯ ตามแนวทางของรัชกาลที่ 5 มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และประชาชนทั่วไป ร่วมปฏิบัติ
นอกจากกิจกรรมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว ยังมีการบริบายพิเศษอาทิ พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจร บรรยายพิเศษ เรื่อง "วิปัสสนากรรมฐานในชีวิตประจำวัน" พระโสภณวชิราภรณ์ รองอธิการบดี ฝ่ายกิจการต่างประเทศ เรื่อง "งานคือชีวิตชีวิตคืองาน วิปัสสนากัมมัฎฐานคือคำตอบ" รศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป เรื่อง "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระผู้สถาปนา มจร"
ทั้งนี้พระอาจารย์หรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสาขาสันติศึกษา มจร ที่ได้ร่วมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานด้วย กล่าวว่า มหาจุฬาฯ จัดตั้งสถาบันวิปัสสนาธุระขึ้นมา เพื่อให้เป็นส่วนงานรองรับการ "นำธรรม ไปทำ" เพื่อจะได้รู้จักธรรมอย่างแจ่มชัด ตามแนวสัทธรรม 3 คือ "รู้จำ (ปริยัติ) รู้จัก (ปฏิบัติ) และรู้แจ้ง (ปฏิเวธ)" และเป็นไปตามแนวหลวงพ่อสมเด็จพุทธโฆษาจารย์ได้ย้ำว่า "มหาจุฬาฯ ปริยัติต้องยอด ปฏิบัติต้องเยี่ยม" ซึ่งแนวทางของการเชื่อมปริยัติและปฏิบัติเข้าด้วยกัน คือ แนวทางที่หลวงพ่ออาจ อาสภะมหาเถระ ได้วางรากฐานนี้เอาไว้ให้มหาจุฬาฯ
แนวทางของการเชื่อมปฏิยัติและการปฏิบัติเข้าด้วยกันนี้ ได้รักษามหาจุฬาฯ มาจนถึงวันนี้ และถ้ามหาจุฬาฯ จะเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน ย่อมไม่สามารถหนีจากหนทางนี้ได้ มหาจุฬาฯ ทิ้งการปฏิบัติเมื่อใด เมื่อนั้นมหาจุฬาฯ จะอยู่ไม่รอดในสังคมไทย เพราะสังคมไทยและสังคมโลกกำลังโหยหาความสุขภายใน และเครื่องมือเดียวที่จะตอบโจทย์ดังกล่าวได้ คือ "สมาธิ" และองค์กรหนึ่งที่จะนำสติกับสมาธิเข้าสู่สังคมยุคดิจิทัลตามพุทธประสงค์ได้ดีทั้งปริยัติและปฏิบัติ คือ "มหาจุฬาฯ"
ขณะเดียวกัน วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (IBSC) และหลักสูตรสาขาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต ร่วมกันปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยมีพระอาจารย์หรรษา ธมฺมหาโส เป็นวิปัสสนาจารย์ นำปฏิบัติ ระหว่าง 24-29 ตุลาคม 2560 เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่วัดบ้านท่าคอยนาง ต.สวาย อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ
โดยวันที่ 26 ต.ค.2560 นี้ผู้ปฏิบัติปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้ตื่นเวลา 03:30 น. เพื่อปฏิบัติธรรมรับอรุณ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันพระราชทานพระบรมศพ ขออำนาจแห่งบุญกุศลได้โปรดเป็นพลวปัจจัย หนุนส่งให้พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย ตราบจนบรรลุมรรค ผล นิพพานในโอกาสอันควรแก่เหตุปัจจัยด้วยเทอญฯ
เจ้ามัลละกษัตริย์ทรงร่วมน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย
เจ้ามัลละกษัตริย์ พร้อมข้าราชการ ประชาชนชาวเมืองกุสินารา กว่า 1,500 คน ร่วมวางดอกไม้จันทน์น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย "ในหลวงร.9"
วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นสถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ประธานฝ่ายบรรพชิต เจ้ามัลละกษัตริย์ พร้อมทั้งมหาราชินี เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9
ภาคเช้ามีการประกอบพิธีสวดพุทธมนต์บำเพ็ญกุศลภายในพระอุโบสถและทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 10 รูป สดับปกรณ์ จากนั้นภาคบ่ายประกอบพิธีวางดอกไม้จันทน์ ณ ลานพระบรมรูป ร.9 โดยในพิธีประกอบด้วยเจ้ามัลละกษัตริย์ Maharaja Bahadur H.M. Mrigendra Pratap Shahi , King Mall เป็นประธานจุดธูปเทียนเครื่องน้อยหน้าพระบรมรูป ร.9 พร้อมทั้งวางพวงมาลาถวายสักการะ จากนั้นพระอภิธช อัคคมหาสัมธัมม โชติกะ ดร.พระภัททันตะ ญาณิสสระ เจ้าอาวาสวัดพม่า กุสินารา นำพระสงฆ์นานาชาติ 9 ประเทศ พม่า อินเดีย ศรีลังกา ธิเบต ภูฐาน กัมพูชา เวียดนาม เนปาล สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย พระครูสุวัฒน์ชยาทร รองหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล นำพระสงฆ์ไทย สวดพุทธมนต์ สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย นักบวชฮินเดียสวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย และนักบวชมุสลิม สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย
จากนั้น เจ้ามัลละกษัตริย์พร้อมทั้งมหาราชินี ทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ และเป็นประธานในพิธีวางดอกไม้จันทน์ส่งน้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สู่สวรรคาลัย
ในวันนี้มีพระสงฆ์นานาชาติ ข้าราชกาลชั้นผู้ใหญ่ ครู นักเรียน พ่อค้า ประชาชน เมืองกุสินารา กว่า 1,500 คน เดินทางมาน้อมส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย ณ ลานพระบรม ร.9 ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ และทุกท่านจะได้รับมอบต้นไม้จันทร์หอม ซึ่งเป็นไม้มงคล มอบให้นำไปปลูกไว้ในหน่วยงาน องค์กร ต่างๆ ด้วย
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อพุทธศักราช 2537 และเสร็จสมบูรณ์ในพุทธศักราช 2542 โดยมีพระสงฆ์ไทยและพุทธบริษัทแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยชาวพุทธอินเดีย ได้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างขึ้นที่เมืองกุสินารา อันเป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานอันสำคัญสุดที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อยเผยแพร่พระเกียรติคุณของประเทศไทย ซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ องค์พระประมุขของชาติ และองค์เอกอัตรนูปถัมภกแห่งพระพุทธศาสนา
ในการจัดสร้างวัดไทยในแดนมหาปรินิพพานนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์" ซึ่งมีความหมายว่า "วัดที่ชาวไทยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง การครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี" พร้อมทั้งพระราชทานนามพระพุทธปฏิมากร ที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถว่า "ภปร" ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ และตราสัญญาลักษณ์งานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ประดิษฐานหน้าบันอาคารเฉลิมพระเกียรติด้วย
เมื่อพระอุโบสถสร้างสำเร็จเรียบร้อย คณะกรรมการวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้กราบบังคมทูลของพระราชทานพระมหาเจดีย์ พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบพระมหาธาตุเจดีย์ พร้อมด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง พระราชทานนามว่า "พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา" อีกทั้งมีพระมหากรุณาธิคุณพร้อมทั้งพระราชศรัทธา พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเส้นพระเจ้าให้ประดิษฐานสถิต ณ พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา บนแผ่นดินพุทธภูมินี้ด้วย
เมื่อพุทธศักราช 2543 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างะรับรมรูปเต็มพระองค์ ประดิษฐานในปริมณฑลวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นพระบรมรูปองค์แรกในโลกที่ประดิษฐาน ณ ต่างประเทศ ยังความปลื้มปีติมายังประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นเหนือเกล้าฯ นี้ จะสถิตบนแผ่นดินเมืองกุสินารา และท่ามกลางดวงใจพุทธศาสนิกชนชาวไทยต่อไป
..................
(ขอบคุณ ภาพ/รายงาน กองงานวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เฟซบุ๊ก วัดไทยพุทธคยา ๙๓๕ งานเผยแผ่พระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล)
หัวหน้าพรรคอินเดียเตรียมประกาศนับถือพุทธ
หัวหน้าพรรคอินเดียยื่นคำขาด "โมดี" เปลี่ยนทรรศนคติที่มีต่อประชาชนชาวจัณฑาล ไม่เช่นนั้นหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามดร.อัมเบดการ์ ขณะที่ ส.ส.อังกฤษลงชื่ออบรมสัมมาสติในพระพุทธศาสนา 145 คน
วันที่ 25 ต.ค.2560 นางมายาวดี หัวหน้าพรรคสมาคมประชาชนหมู่มาก (Bahujan Samaj Party) ของประเทศอินเดียออกมาเตือนพรรคประชาชนอินเดีย (Baratiya Janata Party) ของนายนเรนทระ ทาโมทรทาส โมดี นายกรัฐมนตรีประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพรรคใหญ่ในอินเดียและมีเสียงข้างมากในสภาว่า ถ้าหากพรรคประชาชนอินเดียไม่เปลี่ยนทรรศนคติที่มีต่อประชาชนชาวจัณฑาลหรือดาลิต เธออาจจะเปลี่ยนใจหันไปนับถือพระพุทธศาสนาตามดร.อัมเบดการ์ก็ได้
ดร.อัมเบดการ์นั้น ชื่อเดิมคือ ดร.บาบาสาเหบ พิมเรา รามจิ อัมเบดการ์ ซึ่งเป็นบุคคลที่เกิดในวรรณะศูทร ที่พัฒนาตัวเองจนได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และเมื่อประเทศอินเดียได้รับเอกราช ได้เป็นผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญของประเทศอินเดียประกาศใช้จนถึงทุกวันนี้ และต่อมาได้นำพาคนอินเดียวรรณะต่ำหันมานับถือพระพุทธศาสนา
พร้อมกันนี้นายราม นาถ โควินธ์ ประธานาธิบดีประเทศอินเดียคนปัจจุบัน พรรคเดียวกันนายโมดี เป็นบุคคลที่ศรัทธาเลื่อมใสพระพุทธศาสนาพระพุทธศาสนา เฉกเช่น ดร. อัมเบดการ์ และเป็นคนจากวรรณะ "จัณฑาล" หลังจากได้รับตำแหน่งได้เดินทางไปสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระเจดีย์พุทธคยา รัฐพิหาร และเดินทางไปรัฐมหาราษฏร ประเทศอินเดีย โดยเข้าสักการะพระพุทธรูปและรูปปั้นดร.อัมเบดการ์ที่ Deeksha Bhoomi Nagpur พร้อมกับเปิดศูนย์วิปัสสนากรรมฐาน
อย่างก็ตามปัจจุบันนี้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก อย่างเช่นล่าสุดหนังสือพิมพ์เดอะ อีฟนิ่ง สแตนดาร์ด ในอังกฤษ ได้รายงานข่าว เมื่อ ส.ส.ในรัฐสภาของอังกฤษจำนวน 145 คนได้ลงชื่อเพื่อเข้าร่วมเจริญสัมมาสติตามหลักพระพุทธศาสนาหลังจากที่ได้รับทราบอานิสงส์ของการเจริญสติจากงานวิจัยซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สื่อมวลชนและกีฬาของอังกฤษได้แถลงแล้วว่า การเจริญสติสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขโรคซึมเศร้า (Depression) ได้ ส.ส.อังกฤษทั้ง 145 คนที่ร่วมลงชื่อเหล่านี้จะได้ไปอบรมสัมมาสติตามแนวพระพุทธศาสนาเป็นเวลา 8 อาทิตย์
นางสาวเทรซี เคร้าซ์ (Tracey Crouch) รัฐมนตรีได้กล่าวเอาไว้ว่า ดิฉันเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนที่สำคัญว่าสัมมาสติจะทำประโยชน์อะไรให้ ไม่เพียงแต่คุณๆ ทุกคนในฐานะปัจเจกชนเท่านั้น แต่พวกเรายังจะรู้ว่าจะสามารถใช้สัมมาสติได้อย่างมืออาชีพได้อย่างไรด้วย
...............
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.aninews.in/news/national/general-news/mayawati-says-shell-convert-to-buddhism-if-bjp-doesnt-change-mindset-towards-dalits201710242222160003/ https://www.standard.co.uk/news/politics/145-mps-sign-up-for-8week-mindfulness-course-amid-speculation-it-could-help-with-policymaking-a3662526.html และ เฟซบุ๊ก Ñāṇasaṃvara Centre for Buddhist Studies-ศูนย์พุทธศาสนศึกษาญาณสังวร)
วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560
เลขาฯสกอ.เผยม.สงฆ์จัดนั่งสมาธิทำให้คนเรียนมาก
วันที่ 24 ต.ค.2560 ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบหมายให้ตนมาดูข้อมูลการจัดการศึกษาของ มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปรารภว่ามหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2แห่ง เปิดสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ นั้น ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาตนพบว่า มหาวิทยาลัยสงฆ์ ไปเปิดศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งเยอะมาก เพราะมีวัดจำนวนมาก
"โดยหลักสูตรที่เปิดสอนส่วนใหญ่เป็นทางด้านสังคม และเก็บค่าเล่าเรียนราคาถูก จึงมีคนสนใจไปเรียนมาก มีความโดนเด่นที่ทุกหลักสูตรต้องมีการนั่งสมาธิฝึกจิตใจ แต่ศูนย์การศึกษานอกสถานที่ตั้งที่ส่วนใหญ่ก็มีปัญหา?หนักหนา โดยเฉพาะเรื่องอาจารย์ประจำหลักสูตรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)กำหนด อย่างไรก็ตามตนจะสรุปข้อมูลต่างๆเช่น จำนวนหลักสูตรที่เปิดสอน ทั้งในและนอกสถานที่ตั้งว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และผลการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อเสนอ รมว.ศึกษาธิการต่อไป" ดร.สุภัทร กล่าว
วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560
มส.เผยมหาจุฬาฯเติบโตด้วยศาสตร์พระราชา"ร.5,9,10"
มส.เผยมหาจุฬาฯเติบโตด้วยศาสตร์พระราชา"ร.5,9,10" พระปิยมหาราชผู้สถาปนามหาจุฬาฯสถาบันการศึกษาบุคคลทุกชนชั้น ทรงพัฒนาส่วนที่ขาดเติมให้เต็ม "ในหลวงร.9" ทรงพัฒนา ด้วย "ที่เต็มให้รู้จักพอ" และ "ที่พอให้รู้จักแบ่งปัน" มารัชสมัย "ในหลวงร.10" คือ "แบ่งปันเป็นธรรมด้วยจิตอาสา"
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2560 เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตปีที่ 107 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 หรือวันปิยมหาราช ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) กล่าวสัมโมทนียกถาในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลความว่า เรามาประชุมร่วมกันเพื่อบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายพระผู้สถาปนามหาจุฬาฯ คือ สมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ที่ทรงวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ซึ่งการพัฒนาการศึกษาทรงวางรากฐาน เป็นจุดเริ่มต้นของมหาจุฬาฯ
มหาจุฬาฯเราเติบโตด้วยการทำหน้าที่บริการวิชาการบริการสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 5 ที่มีพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลในการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ ซึ่งจุดเปลี่ยนประเทศไทยคือ สมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน เราเรียกว่า "เป็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องและมีความยั่งยืน " เราจะเห็นพัฒนาการมหาจุฬาเริ่มจากมหาธาตุวิทยาลัยจนมาจนถึงมหาจุฬาในระดับนานาชาติ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน เราได้รับมหามหากรุณาธิคุณจากรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 อย่างยิ่ง สถาบันพระมหากษัตริย์ให้ความสำคัญด้านการศึกษาสงฆ์ตั้งแต่รัชกาลที่ 5 มาถึงรัชกาลปัจจุบัน ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาในด้านอื่นๆ อะไรที่รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มไว้ก็ได้รับสานต่อมาถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อประเทศชาติ การต่อเนื่องเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เราได้รับอานิสงส์มากมาย
รัชกาลที่ 5 ทรงเริ่มการพัฒนา ด้วยคำว่า "อะไรขาดเติมให้เต็ม" สมัยพระองค์คนไม่มีสิทธิเท่าเทียมกันไม่มีความเสมอภาคกัน พระองค์ทรงเลิกทาสและส่งเสริมการศึกษาทาสให้สามารถพึ่งตนเองได้ ขาดความรู้ให้การศึกษา มิใช่จัดเฉพาะบ้านเมืองแต่ทรงให้คณะสงฆ์ช่วยจัดการศึกษา ด้วยการเปิดโรงเรียนทั่วประเทศในวัด ให้พระสงฆ์ช่วยสอนหนังสือลูกหลาน เป็นระบบการศึกษามีการเชื่อมบ้านวัดโรงเรียน และยังให้การศึกษาของคณะสงฆ์ด้วยการสถาปนามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้พระสงฆ์ได้ช่วยการศึกษาของบ้านเมือง ด้วยการแก้ความโง่ พัฒนาโครงการขั้นพื้นฐาน การจราจรการคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี แก้ความเจ็บไข้ด้วยสร้างระบบโรงพยาบาลสาธารณสุข โรงพยาบาลศิริราชก็สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 จะเห็นว่ารัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงวางรากฐานการพัฒนา แก้ความโง่ ความจน ความเจ็บ ด้วยการให้สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ คือ การเลิกทาส เน้นการพัฒนาคนเป็นศูนย์การของการพัฒนา รัชกาลที่ 9 ก็รับช่วงต่อสานต่อในการพัฒนาคน คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา
เพื่อให้การพัฒนายั่งยืนรัชกาลที่ 9 ทรงพัฒนาด้วยคำว่า "ที่เต็มให้รู้จักพอ" หมายถึง เศรษฐกิจพอเพียง มีความพอเพียง "ที่พอให้รู้จักแบ่งปัน" หมายถึง แบ่งปันมีการบริการ เช่นมหาจุฬาฯมีการบริการวิชาการทางสังคม และ "แบ่งปันให้ธรรม" หมายถึง มีการแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม สร้างความเป็นธรรมในสังคม ไม่แบ่งแยกว่าชาวเขาชาวเรา แก้ปัญหา "ไม่รวยกระจุก จนกระจาย" ให้ความร่ำรวยกระจาย รู้รักสามัคคี เพื่อให้สังคมไทยพัฒนาต่อเนื่อง สรุปรัชกาลที่ 5 คือ ที่ขาดเติมให้เต็ม รัชกาลที่ 9 คือ ที่เต็มให้รู้จักพอ และแบ่งปันเป็นธรรม ในสมัยรัชกาลที่ 10 คือ แบ่งปันเป็นธรรมด้วยจิตอาสา แบ่งปันให้เป็นจิตอาสาโดยช่วยเหลือกัน ช่วยกันทุกกลุ่มไม่แบ่งแยก รู้รักสามัคคี ประพเทศเรามีกาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สรุปการพัฒนาที่ยั่งยืน มี 4 ประการ คือ "ที่ขาด ควรเติมให้เต็ม ที่เต็มควรรู้จักพอเพียง ที่พอเพียงควรรู้แบ่งปัน ที่แบ่งปัน ควรแบ่งให้เป็นธรรมมีจิตอาสาด้วยการรู้รักสามัคคี"
"ในฐานะมหาจุฬาเป็นสถาบันการศึกษาจะต้องนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้เพื่อขยายต่อให้สังคมไทยได้ตระหนักและนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง การจัดงานครั้งนี้ถือว่าเป็นการกตัญญูต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความจงรักภักดีอย่างยิ่ง เรามีกิจกรรมตั้งแต่เช้า จึงขอเชิญชวนทุกท่านตั้งกัลยาณจิตน้อมถวายรัชกาลที่ 5 องค์ผู้สถาปนามหาจุฬาและบุรพมหากษัตริย์ทุกพระองค์" อธิการบดีมหาจุฬาฯ กล่าว
พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา มหาจุฬาฯ แสดงความเห็นว่า ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นนิสิตมหาจุฬาฯ ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก มองว่ามหาจุฬาฯ เป็นสถานศึกษาวิชาชั้นสูงยกระดับจิตใจให้สูง เป็นสถาบันอันทรงเกียรติสถาปนาโดยสมเด็จพ่อพระปิยมหาราช เพื่อให้โอกาสพระสงฆ์และบุคคลทั่วไปได้ด้านศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาชั้นสูง จึงเป็นสถาบันของบุคคลทุกชนชั้น ทุกวัฒนธรรมสามารถมาศึกษาได้ สถาบันการศึกษาอันทรงเกียรติและให้โอกาสบุคคลทุกชนชั้นที่ใฝ่เรียนรู้แสวงหาความรู้ทางธรรมและทางโลก ด้วยการพุทธบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่ "ทางโลกก็ไม่ช้ำ ทางธรรมก็ไม่เสีย" จุดเด่นของมวลนิสิตมหาจุฬาฯ คือ "วิชายอด จรณะเยี่ยม เปี่ยมด้วยเมตตา ยื่นดวงตาแก่สังคม" เรียนเพื่อออกไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ มีความสุขกับการเบิกบานรับใช้เพื่อนมนุษย์ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของบุคคลที่จบจากมหาจุฬา ฯ คือ "พระพุทธศาสนาเพื่อสังคม : สังคหธุระ" ครูอาจารย์มหาจุฬาทุกรูปท่านจึงเป็นผู้ปั้นดินให้เป็นดาว ดาวที่เปล่งแสงให้บุคคลอื่น เหมือน "เหล็กกว่าจะเป็นมีดต้องผ่านการทุบการเจียระไน ม้ากว่าจะเป็นม้าอาชาไนยต้องผ่านการฝึกหนัก ช้างกว่าจะเป็นทรงของพระราชา ต้องค้นหาจากป่าใหญ่"
ศิษย์จึงเป็นเหมือนแก้วน้ำที่ว่างเปล่า พร้อมรับความรู้ใหม่ๆ ด้วยการ "ทำตัวให้โง่เพื่อจะได้เรียนรู้จากคนอื่นถึงแม้คนๆ นั้นจะอายุน้อย หรือประสบการณ์น้อยกว่าเราก็ตาม " เพราะคนโง่ที่รู้ตนเองว่าโง่ ยังจะพอเป็นคนฉลาดได้บ้าง รู้ว่าโง่สิ่งใดศึกษาสิ่งนั้น สิ่งที่จะตอบแทนคุณของครูอาจารย์ได้ที่สุด มิใช่การเอาสิ่งของมาให้ แต่คือ " การนำความรู้ที่ได้เล่าเรียน ออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังคมประเทศชาติโลก " เมื่อจบการศึกษารับปริญญา เรียกว่า "รับปริญญานอกสู่รับปริญญาในจากพระพุทธเจ้า" สิ่งที่ได้ศึกษาจากมหาจุฬาฯ เป็นปริญญาวิชาชีวิต เรียนธรรมะของพระพุทธเจ้าเพื่อพัฒนาชีวิตมีการบูรณาการศาสตร์สมัยใหม่ เพื่อทำให้ศาสนามีชีวิตชีวาในการเรียนรู้มากขึ้น ทำให้เราได้ปริญญาวิชาชีวิต เรียกว่า " พึ่งตนเองได้ จนเป็นที่พึ่งของคนอื่น " จัดการบริหารจิตใจของตนเอง ก่อนจะออกไปช่วยเหลือคนอื่น พระพุทธเจ้าจึงให้เรารับปริญญาภายใน ด้วยการดูแลจิตใจของตนเอง เพราะ " สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี " เมื่อไหร่ก็ตามถ้าภายในเย็น ถือว่าจบการศึกษาเรียบร้อย จบจากมหาจุฬา สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องวัดความสำเร็จ ก็คือ " สงบเย็นเป็นประโยชน์ " ถือว่าจบภายในอย่างแท้จริง แต่ถ้ายังร้อนอยู่ "เป็นผู้ทะเลาะสิบทิศ" ถือว่าจบแค่ภายนอกเท่านั้น
เมื่อเย็นจากภายในแล้วจึงสามารถ "อนุมัติเพื่อออกไปรับใช้เพื่อนมนุษย์ " เรีบกว่า " เมื่อจบประโยชน์ตน นึกถึงประโยชน์คนอื่น " นี่คือเสน่ห์ของบัณฑิตมหาบัณฑิตดุษฎีบัณฑิตของมหาจุฬา อย่าพอใจในความสำเร็จเพียงแค่นี้ ต้องหมั่นฝึกฝนตนเอง อย่าเป็น " คนตกรุ่น " หมายถึงไม่เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมให้กับตนเอง ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่ตลอดเวลา เป้าหมายสำคัญสำคัญของนิสิตมหาจุฬา ฯ คือ "ความสุข" เราทำอะไรสำเร็จหรือล้มเหลว ถามหัวใจของตนเอง ถ้าทำแล้วมีความสุข นั่นคือสำเร็จ ถ้าทำแล้วจิตใจมันห่อเหี่ยว นั่นคือ ความล้มเหลว "
"ฉะนั้น สมเด็จพ่อพระปิยมหาราช มหาราชอันทรงเป็นที่รัก พระองค์ทรงพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกพระองค์ทรงเลิกทาสด้วยความนุ่มนวล สร้างปฏิรูปพัฒนาประเทศให้มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากมาย ส่วนทางธรรมทรงสถาปนาสถาบันการศึกษาเพื่อให้พระสงฆ์ศึกษาวิชาชั้นสูงและไตรปิฎก ซึ่งมหาจุฬาจึงทำตามปณิธานล้นเกล้าราชการที่ ๕ มาโดยตลอด ในนามนิสิตมหาจุฬาฯ ขอขอบพระคุณมหาจุฬาฯ สถาบันอันทรงเกียรติ ในการให้โอกาสมาพัฒนาฝึกฝนตนเองรวมถึงคณาจารย์ของมหาจุฬาฯในการพัฒนามวลศิษย์ให้เข้าถึงธรรม เพื่อน้อมนำมาพัฒนาตนเองและออกไปช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์" พระอาจารย์ปราโมทย์ กล่าว
วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560
แม่ครัว"มจร"ฝึกจิตภาวนา"ครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาดี"
ตามที่สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ร่วมมือกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการ "ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี เพื่อสร้างเสริมโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
นอกจากหลักโภชนการแล้ว ทางด้านจิตภาพของแม่ครัวก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ มหาจุฬาฯนั้นได้จัดการศึกษาด้านปริยัติแล้วยังมีภาคปฏิบัติภายใต้การดำเนินการของสำนักวิปัสสนาธุระ โดยนำหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเข้ามาบูรณาทุกภาคส่วน ร่วมถึงแม่ครัวที่ทำหน้าที่ในการประกอบอาหารถวายพระนิสิตด้วย เรียกว่า "แม่ครัววิถีพุทธ"
พระครูภาวนาสารบัณฑิต,ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร ในฐานะพระวิปัสสนาจารย์ และมีหน้าที่ในการบริการโรงครัวด้วย ได้เปิดเผยว่า แม่ครัววิถีพุทธซึ่งทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในฐานะดูแลการประกอบอาหารถวายพระนิสิตของมหาจุฬา จึงมีการหมั่นสื่อสารกันตามหลักอปริหานิยธรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นแม่ครัวที่มีคุณภาพ แม่ครัวมหาจุฬามีความแตกต่างจากที่อื่นเพราะเป็นแม่ครัวทางธรรม ซึ่งมีการทำงานโดยการใช้หลักพุทธธรรมแบบ 5 ดี ในการบริหารจัดการในหน้าที่ คือ
1. "บริการดี" หมายถึง การบริการคืองานบุญ มีความเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ มีความสุขในการทำงาน จนทำให้คนรอบข้างมีความสุข ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน บริการทุกระดับประทับใจ
2. "บริเวณดี" หมายถึง การนำ 5 ส. มาประยุกต์ คือ สะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ สร้างนิสัย บริเวณมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย วัตถุสิ่งของหยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูงามตา ทำให้เกิดความไว้วางใจด้านความสะอาด
3. "บริวารดี" หมายถึง ความเป็นกัลยาณมิตร มีการทำงานเป็นทีม ลักษณะที่ว่ามีอาหารแบ่งกันทาน มีงานแบ่งกันทำจากหนักก็เป็นเบา ด้วยการยึดประโยชน์ส่วนตนไว้ที่สอง ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง การทำงานมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน วางตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของตนเอง
4."บริหารดี" หมายถึง การรู้จักบริหารตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เป็นที่พึ่งของตนเองจนสามารถให้คนอื่นพึ่งพาอาศัยเราได้ บริหารคน สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข บริหารงาน ทำให้คนเบิกบานงานสำเร็จ บริหารเวลา ให้เหมาะสม ทันเวลา ทันสถานการณ์ ทันกิจกรรม ทุกคนเป็นผู้นำในหน้าที่ของตนเอง ทำเองก็ได้ บริหารให้คนอื่นทำก็ได้ ด้วยการให้เกียรติกัน
5."บริกรรมดี" หมายถึง มีจิตมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ เน้นการเจริญสติในการทำงาน เริ่มด้วยความสงบจบด้วยความสุขทางใจ ถือว่าเป็นจุดเด่นของแม่ครัวมหาจุฬาฯ มีการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง เพื่องานที่ดีที่สุด
"สรุปว่า สิ่งที่ทำให้ครัวมหาจุฬาฯ มีคุณภาพ คือการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน อย่างเป็นระบบในฐานะมหาจุฬาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านพระพุทธศาสนาของโลก ซึ่งมีพระนิสิตต่างชาติไม่น้อยกว่า 18 ประเทศ มารับบิณฑบาต ฉันภัตตาหารเช้า เพล ฉะนั้น แม่ครัวทุกคนทำงานหนักด้วยความเสียสละ ตั้งใจ สมควรได้รับการยกย่อง ชื่นชม อนุโมทนาบุญ" พระครูภาวนาสารบัณฑิต กล่าวและว่า
ด้วยเหตุนี้ แม่ครัวจึงต้องมีการพัฒนาตามหลักภาวนา 4 คือ พัฒนากาย พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์อันสูงสุดของมหาจุฬาฯ เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลาย
เณรช่อสะอาด28จว.บวชเจริญจิตภาวนาถวาย"ในหลวงร.9"
สามเณรช่อสะอาด 28 หมู่บ้าน 28 จังหวัดทั่วประเทศ บวชปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถวาย "ในหลวงร.9" พร้อมจาริกแสวงบุญแดนพุทธภูมิ 24 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้
วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2560 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา เปิดเผยว่า มหาจุฬาฯ พร้อมด้วยมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และหลักสูตรสันติศึกษา ผนึกกำลังกันคัดยุวชนช่อสะอาดจาก 28 หมู่บ้านทั่วประเทศ มาเป็นพัฒนาและฝึกอบรมต่อยอดเป็นสามเณรช่อสะอาด เน้นพัฒนาทั้งกายสะอาด พฤติกรรมสะอาด จิตใจสะอาด และปัญญาสะอาด
หลังจากนั้นจะนำสามเณรช่อสะอาดเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2560 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โดยมี ศ.วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และทรงทศพิราชธรรม น้อมนำความร่มเย็นสู่สังคมไทยตลอดมาและตลอดไป ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่
พระมหาหรรษา กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นยุวชนช่อสะอาดทั้ง 28 คน และได้บรรพชาเป็นสามเณรเรียบร้อยแล้ว ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม พ.ศ.2560 ได้นำสามเณรช่อสะอาด และยุวชนช่อสะอาด จากหมู่บ้านช่อสะอาด 28 หมู่บ้าน ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมกันทำวัตรเย็น สวดมนต์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกันอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และรุ่งเช้าสามเณรช่อสะอาดจะตื่นตี 4 ทำวัตรเช้า สวดมนต์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถวายเป็นพระราชกุศลอีกครั้ง ก่อนที่จะเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิ
"บรรพชาสามเณรอินเดีย 89 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล"
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่ลานพระบรมรูป ร.9 พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นประธานในพิธีบรรพชาสามเณรกุลบุตรชาวอินเดีย จำนวน 89 รูป เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองกุสินารา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ลานพระบรมรูป ร.9 วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เริ่มการก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2537 และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2542 ด้วยแรงศรัทธาของคณะพุทธบริษัทชาวไทย และคณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัดว่า วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งมีความหมายถึง วัดที่ชาวไทยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง การครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ตั้งอยู่ ณ เมืองกุสินารา อันเป็นสังเวชนียสถานที่ดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
นอกจากนี้ “พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา” ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการเลือกแบบเจดีย์จากแบบร่างที่สถาปนิกได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยได้รับพระราชทานลายพระหัตถ์ปรับแก้ตัวเรือนธาตุ อีกทั้งยังทรงโปรดพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเส้นพระเจ้า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อทรงอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์มหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก หล่อด้วยบรอนด์ ขนาดความสูง 2.30 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน การจัดสร้างได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณาจารย์ผู้ทรงเกียรติและได้รับการสนับสนุนการตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนการควบคุม ตรวจสอบการปั้นต้นแบบจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
และวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560
"ประเวศ"ชม"มจร"นำพุทธธรรมถกแก้ขัดแย้ง
"ประเวศ"ชม"มจร"นำพุทธธรรมถกแก้ขัดแย้ง เชื่อหลักอปริหานิยธรรมสามารถสร้างสังคมเข้มแข็งพัฒนาสู่พรรคการเมืองแนวพุทธสร้างปรองดองได้แน่
วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี พลเมืองอาวุโศ ได้ปาฐกถาเรื่อง "ธรรมาธิปไตยกับการพัฒนาระบบการเมืองไทย " จัดโดยคณะสังคมศาสตร์ มจร ความว่า ขอชื่นชมคณะสังคมศาสตร์ มจร ที่นำเรื่องพุทธธรรมมาพูดคุย ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะพุทธธรรมเป็นภูมิปัญญาสูงสุด ซึ่งเป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าค้นพบ ทำไมประเทศไทยไม่เอาแนวคิดพระพุทธเจ้ามาใช้แบบจริงจัง กลับนำเอาแนวคิดตะวันตกมีความแจ่มแจ้งไม่สู้แนวคิดพระพุทธเจ้ามาวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยปัจจุบัน ซึ่งสังคมปัจจุบันกับสังคมโบราณมีความแตกต่างกันสังคมปัจจุบันมีการพยากรณ์ยากมาก
เช่น การใช้อำนาจในอดีตกับปัจจุบัน แม้แต่ประธานาธิบดีประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่สามารถแก้ปัญหาบางอย่างไม่ได้ ทำไมคนอเมริกาจึงเลือกคนอย่างนายดอนัลด์ จอห์น ทรัมป์มาเป็นประธานาธิบดี ปัจจุบันเรามีวิกฤตทางอารยธรรมตะวันตก มีวิกฤตเศรษฐกิจ 99% ของเงินที่เคลื่อนไหวในโลก และมีวิกฤตสังคม สังคมมีความเหลื่อมล้ำ 99 ต่อ 1 มีความขัดแย้ง ความรุนแรงเกิดขึ้นในสังคม และวิกฤตสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อน วิกฤตทั้งหมดรวมเรียกว่า "วิกฤตในการอยู่ร่วมกัน"ปัจจุบันหลายประเทศไม่มีประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ทางการเมือง ทางสังคม บางประเทศมีประชาธิปไตยทางการเมืองแต่ขาดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ คือ การเมืองมั่งคงแต่เศรษฐกิจแย่
คำว่า ธรรมาธิปไตย สามารถแยกออกได้ คือ ธรรม ท่านพุทธทาสแบ่งออก 4 ประการคือ 1 ) ธรรมชาติ คือ ความจริงตามธรรมชาติ 2) กฎขอลธรรมชาติ คือ ความเป็นเหตุเป็นผล 3) การปฏิบัติตมมกฏของธรรมชาติ 4 ) การได้ผลจากการปฏิบัติตามกฎธรรมชาติ ข้อที่ 1-2 เป็นปริยัติ ข้อ 3 เป็นปฏิบัติ ข้อที่ 4 เป็นปฎิเวธ ซึ่งระบบที่ดีที่สุด คือ ระบบของธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ มีความหลากหลายและซับซ้อนมากแต่มีบูรณภาพและดุลยภาพนำไปสู่ปรกติภาพ ทำให้สุขภาพดีอายุยืน เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งผลการอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมดุล เพราะหลักการของระบบร่างกาย มีความเป็นอัตโนมัติของทุกส่วน เหมือนการปกครองที่รวมอำนาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง การใช้อำนาจต้องมีการกระจายจึงจะไม่ขัดแย้งและรุนแรง ซึ่งเซลล์ทุกเซลล์มีสำนึกแห่งองค์รวม ร่างกายมีระบบข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารที่รู้ถึงกันทั้งหมด ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งระบบภูมิคุ้มทางสังคม คือ ความเป็นธรรม ถ้าสังคมใดขาดความเป็นธรรมคนจะไม่รักกัน ถ้าขาดระบบภูมิคุ้มกันจะเกิดความขัดแย้ง
เรามีกลไกทางอำนาจมากมาย แต่เราขาดสมองมีน้อยเกินไป อะไรเราควรทำมิควรทำ เราต้องสร้างคนให้เป็นสมองของประเทศ " กลไกทางอำนาจมีมาก แต่กลไกทางสมองมีน้อย " กลไกทางสมองต้องพัฒนา ทำไมผู้นำจึงต้องมีที่ปรึกษาที่มีสมอง ทำไมเล่าปี่จึงไปหาขงเบ้งถึงสามครั้งจึงชนะ นั่นคือ กลไลทางสมอง กระบวนการคิดจึงมีความสำคัญมาก ตะวันตกกับพุทธมีแนวคิดต่างกัน ตะวันตก เช่น การคิดแยกส่วน ตายตัว เป็นขาว เป็นดำ เป็นบวกเป็นลบ คิดไม่เหมือนฉันคุณก็เป็นศัตรู อย่าลืมว่า " ความยากจนเป็นความรุนแรงที่น่ากลัวที่รุนแรง " ส่วนทางพุทธมีกระบวนการคิด คือ " กระแสเหตุปัจจัยสู่ความเป็นทั้งหมด " มีการเชื่อมโยงกัน พึ่งอาศัยซึ่งกันและกัน ตะวันตก "มีเสรีภาพส่วนบุคคล" เช่น การมีเสรีภาพในการดูถูกศาสนาอื่น จึงเกิดความขัดแย้ง ทำไมเราไม่เคารพในสิ่งที่คนอื่นเคารพ ส่วนทางพุทธมีเสรีภาพจากความครอบงำของโลภะ โทสะ โมหะ ถือว่าเป็นเสรีภาพขององค์รวม ทำให้เรารักคนอื่นมากขึ้นเพราะเรามีเสรีภาพจากโลภ โกรธ หลง ทางรอดจากจากวิกฤตอารยธรรม คือ การปฏิวัติจิตสำนึกเช่น พระพุทธเจ้าเปลี่ยนจิตสำนึกองคุลิมาล เสรีภาพส่วนรวมและส่วนตนจะต้องบูรณการ ตะวันตก " มีการแข่งขันเสรี " แต่ทางพุทธ คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลด้วยไมตรีจิต เรามีการแผ่เมตตา
"อยากฝากมหาจุฬาฯว่า ต้องมีการคิดตามแนวพุทธเป็นตัวตั้ง อย่านำแนวคิดตะวันตกล้วนๆ จะขาดการบูรณาการ เพราะการเมืองแบบการเมืองต้องมองแบบบูรณาการในการอยู่ร่วมกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้ ในประชาธิปไตยแนวพุทธนั้น คือ 1)ไม่คิดแบบแยกส่วนว่าเป็นเรื่องของนักการเมืองและพรรคการเมืองเท่านั้น แต่พุทธคิดอย่างบูรณาการสู่ความสมบูรณ์แห่งรัฐ 2) กระจายอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองมากที่สุด แต่พุทธเน้นชุมชน ท้องถิ่น องค์กร 3) สังคมเข้มแข็ง เสมอภาครวมตัวร่วมคิดร่วมกัน เราเป็นสังคมพุทธศาสนาแต่ยังขาดศีลธรรม เพราะโครงสร้างของสังคมเราไม่เข้มแข็ง หลักธรรมที่นำไปสู่สังคมเข้มแข็ง คือ อปริหานิยธรรม แต่ถ้าเป็นเผด็จการไม่ต้องใช้หลักธรรมนี้เพราะสั่งการมาเลย อปริหานิยธรรม มี 7 ประการ คือ 1) หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ 2) พร้อมกันประชุม พร้อมกันเลิก พร้อมกันทำกิจ 3) ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่บัญญัติไว้ 4) เคารพนับถือผู้ใหญ่ 5) เคารพให้เกียรติสตรี 6) เคารพสักการะเจดีย์ 7)คุ้มครองรักษาพระอรหันต์" นายแพทย์ประเวศ กล่าวและว่า
ธรรมาธิปไตยจะต้องมีการเจริญสติอย่างสม่ำเสมอ ต้องสร้างจิตสำนึกทั้งแผ่นดิน ทุกวัดจะต้องมีการเจริญสติอย่างองค์รวม มนุษย์มีศักยภาพมาก เราต้องมีการเรียนรู้เพื่อความเป็นมนุษย์ มีข้อมูลข่าวสารการสื่อสารให้รู้ถึงกันโดยทั่วตลอด และ การสังเคราะห์นโยบายโดยการมีส่วนร่วม เป็นการตัดสินใจร่วมกัน พรรคการเมืองต้องสนับสนุนกันถ้าเป็นนโยบายดีๆ มิใช่ค้านทุกเรื่อง เราต้องร่วมมือกัน ทางพุทธมีมติเอกฉันท์ด้วยกระบวนการทางปัญญา ไม่ใช่เสียงข้างมาก โลกจะต้องร่วมคิดร่วมทำ วิธีการทำงานพุทธรัฐศาสตร์ มหาจุฬาต้องระดมความคิดเรื่อง วิธีคิดเชิงพุทธและการพัฒนาอย่างบูรณาการให้ชัดเจน มีการทำโครงการ การพัฒนาอย่างบูรณาการแนวพุทธ เสนอมหาเถรมหาคมให้ความเห็นชอบ แล้วมีการจัดประชุมใหญ่ร่วมกันระหว่างคณะสงฆ์ มีการจัดสัมมนาเรื่อง " การพัฒนาอย่างบูรณาการการแนวพุทธ " เพื่อให้พระสงฆ์เข้าใจ และทุกวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน โดยทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน สิ่งสำคัญพระสงฆ์ส่งเสริมการนำอปริหานิยธรรมมาใช้เพื่อส่งเสริมสังคมเข้มแข็ง โดยวัดทุกวัดจัดการอบรมการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น มหาจุฬามีการจัดสัมมนาประชาธิปไตยแนวพุทธให้นักการเมืองเป็นระยะ เพื่อการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองแนวพุทธ เพื่อสร้างความแตกต่างจากการเมืองในปัจจุบัน
พระราชปริยัติกวี ศ.ดร. รองอธิการฝ่ายวิชาการ มหาจุฬา กล่าวว่า เรามีความคิดว่าการเมืองกับพุทธธรรมเป็นคนละส่วนกัน ซึ่งจริงๆ ต้องไปด้วยกันไม่แยกส่วน บ้านเมืองเรามีคนเก่งเยอะคนดีก็เยอะ เราต้องจัดการบริหารบ้านเมืองในแนวทางพระพุทธศาสนาอย่างไร
ศ.ดร. บุญทัน ดอกไธสง อดีตรองประธานวุฒิสภา กล่าวว่า พระพุทธเจ้ามองว่าธรรมาธิปไตยเท่านั้นจะทำเกิดความสุข เพราะเป็นการบูรณาการหลักธรรมในการปกครอง ธรรมาธิปไตยจึงเป็นการใช้ปัญญาอันสูงสุดในการแก้ปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกัน ที่ปราศจากความรุนแรงความขัดแย้ง
ศ.ดร.สมภาร พรมทา นักวิชาการศาสนาปรัชญา กล่าวว่า เวลาเราพูดถึงพระพุทธศาสนากับการเมือง เราจะมีวิธีการเอาพระพุทธศาสนามาใช้กับการเมือง มีแนวทาง คือ เราจะทำให้พระพุทธศาสนามาบูรณาการกับการเมืองอย่างไร? ในมหาวิทยาลัยระดับโลกเวลาเขาจะวัดมหาวิทยาลัยนั้นว่าดีไหม เขาวัดว่า มีอาจารย์สอนปรัชญาการเมืองดีไหม ? มีการมองแบบนั้น เราจะนำปรัชญาการเมืองไปบูรณาการอย่างไร ปรัชญาการเมืองไม่มีจุดประสงค์สร้างคนดี แต่ต้องการสร้างพลเมืองดี
............
(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Pramote OD Pantapat พระอาจารย์ปราโมทย์ วาทโกวิโท นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษา)
เคทีซีเชิญ"นร.ทุนของพ่อ"เล่าน้ำพระทัย"ในหลวงร.9"
เคทีซีจัดกิจกรรม "ด้วยสำนึกพระมหากรุณาธิคุณ....จากนักเรียนทุนของพ่อ" ที่พระราชทานทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา
“เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนางสาวพจนีย์พร ชำนาญภักดี ผู้อำนวยการ - ทรัพยากรบุคคล ได้จัดกิจกรรมเสวนา “ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ....จากนักเรียนทุนของพ่อ” ให้กับผู้บริหาร พนักงานและนิสิต นักศึกษาโครงการ Learn and Earn โดยเชิญอดีตผู้ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระราชทานทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษาสาขาต่างๆ ไปศึกษาเพิ่มเติม ณ ต่างประเทศ เพื่อจะได้กลับมาทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาที่ตัวเองสนใจ และได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมือง
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นิสิต นักศึกษาของโครงการฯ ในการทำความดีต่อไป เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์จรัญ มหาทุมะรัตน์ ประธานชมรมผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ดร.เจน ชาญณรงค์ ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2532 ดร.กฤชชลัช ฐิติกมล ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2533 ผศ.ดร.วรภรรณ เรืองผกา ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ. 2541 และดร.ปัญญา แซ่ลิ้ม ผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ปี พ.ศ. 2548 งานดังกล่าวจัดขึ้น ณ “เคทีซี ป็อป” ชั้น บี 1 สุขุมวิท 33 เมื่อเร็วๆ นี้
วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560
"มจร"ขอบคุณ"บิ๊กตู่"ห่วงคุณภาพการศึกษาม.สงฆ์
"มจร"ขอบคุณ"บิ๊กตู่"ห่วงคุณภาพการศึกษาม.สงฆ์ แจงมีคนเข้ามาเรียนมาก ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่เงินหรือค่าเล่าเรียนราคาถูก
วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยพระสงฆ์ 2 แห่งคือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร) ซึ่งเปิดสอนระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และค่าเล่าเรียนราคาถูกจึงมีคนสนใจไปเรียนมาก จึงฝากให้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณากำกับดูแลให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น
ต่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้แจ้งในที่ประชุมองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 36/2560 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ และได้มอบหมายให้นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้นั้น
พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ได้แสดงความเห็นว่า หลังจากอ่านประโยคข้างบนนั้น ส่วนตนแล้ว ชื่นชมท่านนายกฯ ที่ตระหนักรู้ และให้ความใส่ใจต่อสถานการณ์การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาโดยใช้พระนามของพระองค์ตั้งชื่อของมหาวิทยาลัย จากความห่วงใยดังกล่าวจึงได้สั่งการให้รองปลัด และเลขาธิการ สกอ. ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ จึงประสงค์จะอธิบายรายละเอียดบางประการเพื่อให้สอดรับความห่วงใยของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อมหาจุฬาฯ ใน 2 ประเด็นหลัก คือ
ประเด็นที่ 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดสอนในระดับตรี โท และเอก ซึ่งทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีเกิดความห่วงใยต่อ "คุณภาพ" ของการบริหารจัดการหลักสูตรต่างๆ จึงมอบหมายให้นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ การที่จะทำให้ทราบชัดว่า "มีคุณภาพ" ในเชิงประจักษ์นั้น เครื่องมือสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ใช้เป็นมาตรวัดในการประเมิน คือ "การประกันคุณภาพการศึกษา" หรือ "Quality Assurance:QA" เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีคุณภาพ
ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการตรวจและประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ซึ่งมีรายชื่ออยู่บัญชีผู้ประเมินของ สกอ. นำโดย ผศ.ดร.ตวงรักษ์ นันทวิสารกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า บางมด ประธานกรรมการ รศ.ดร.สุบรรณ เอี่ยมวิจารณ์ มหาวิทยาลัยสารคาม กรรมการ รศ. ภรณี ศิริโชติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการ ผศ.ดร.พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ อาจารย์ไฉไลฤดี ยุวนะศิริ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการและเลขานุการ ได้เข้ามาประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
คณะกรรมการทั้ง 5 ท่านซึ่งเป็นผู้แทนของ สกอ. ได้ทำหน้าที่พิชญพิจารณ์ ตลอด 3 วัน ทั้งการพิจารณาเอกสาร หลักฐาน และการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และผู้ใช้บริการ ซึ่งผลการประเมินในภาพรวมจาก 5 องค์ประกอบระดับสถาบัน คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ อยู่ในเกณฑ์ระดับดี โดยได้ 4.04 จากระดับคะแนน 5
เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสถาบันของมหาจุฬาฯ จาก 3 ปีย้อนหลัง คือ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 – 2559 มีผลการประเมินดีขึ้นตามลำดับ โดยในปีการศึกษา 2557 มีผลการประเมิน 3.53 คะแนน ปีการศึกษา 2558 มีผลการประเมิน 3.87 คะแนน และ ในปีการศึกษา 2559 มีผลการประเมิน 4.04 คะแนน จะเห็นว่า ผลการประกันคุณภาพที่มีพัฒนาการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับดีนั้น ย่อมสามารถทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีคลายความห่วงใยได้ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการจัดการศึกษาให้สอดรับกับพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชการที่ 5 มุ่งสร้างให้มหาจุฬาฯ เป็นสถานบันการศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาชั้นสูง
ประเด็นที่ 2 มีค่าเล่าเรียนราคาถูก จึงมีคนสนใจไปเรียนมากขึ้น ค่าเล่าเรียนถูกมิใช่ตัวแปรหลักเพียงประการเดียวที่ทำให้นิสิตจำนวนมากตัดสินใจเลือกที่จะมาเรียนที่มหาจุฬาฯ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนา แต่เพราะอาศัยตัวแปรอื่นๆ เข้ามาประกอบในการตัดสินใจด้วย เช่น ความเป็นพุทธศาสนิกชน การศึกษาทางโลกกำลังพบกับความตีบตันทางปัญญา มหาจุฬาฯ เน้นวิชาชีวิตเติมเต็มวิชาชีพโดยการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ การได้มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะจากพระสงฆ์โดยตรง การมีทุนสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก รวมถึงทุนเล่าเรียนหลวง และการมีทุนทรัพย์จำนวนน้อย มหาจุฬาฯ จึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับ และสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็นพระสงฆ์และคฤหัสถ์ซึ่งพลาดโอกาสทางการศึกษา และขาดทุนทรัพย์ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย
ถามต่อว่า "เป็นไปได้หรือไม่ว่า ค่าเล่าเรียนถูก จะทำให้ด้อยคุณภาพลง" แม้ว่าค่าเล่าเรียนของมหาจุฬาฯ จะถูก แต่มิได้หมายความว่า มาตรฐานในการจัดการศึกษาของมหาจุฬาฯ จะด้อยคุณภาพลง ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ที่ได้คะแนน 4.04 จาก 5 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับดี ในขณะเดียวกัน มหาจุฬาฯ ได้พัฒนานิสิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากศิษย์เก่าของมหาจุฬาฯ เช่น สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ศ.ดร.สมภาร พรมทา และศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ จะเห็นว่า ความถูกของมูลค่ามิได้ทำให้คุณค่าลดต่ำลง ด้วยเหตุนี้ มหาจุฬาฯ ในฐานะเป็นสถาบันการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา จึงมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นประโยชน์สูง แต่ประหยัดสุด
กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อห่วงใยของท่านนายกฯ ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดี และภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 พยายามที่จะตอกย้ำให้นำการศึกษาตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาทมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญา อาศัยความห่วงใยนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สามารถเจริญก้าวหน้า สามารถตอบโจทย์ชีวิตและสังคมอย่างสมสมัยและสอดรับกับความต้องการต่อไป
"บิ๊กตู่"ห่วงคุณภาพการศึกษาม.สงฆ์-"มจร"ประเมินได้ระดับดี
"บิ๊กตู่"ห่วงคุณภาพการศึกษาม.สงฆ์ สั่งศธ.เข้มกำกับดูแลเข้มข้น ยกเหตุค่าเล่าเรียนราคาถูกมีคนสนใจเรียนมาก ขณะที่ สกอ.เข้าประเมิน "มจร" ได้คะแนน 4.04 จาก 5 อยู่ในระดับดี
วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ข่าวสำนักรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่รายงานผลการที่นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 36/2560 เมื่อวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ
โดยในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ระบุว่า นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวภายหลังการประชุมครั้งนี้ว่า รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งเรื่องในการประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ที่ประชุมรับทราบโดยในจำนวนนี้มีที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยพระ 2 แห่ง (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร)) ซึ่งเปิดสอนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และค่าเล่าเรียนราคาถูก จึงมีคนสนใจไปเรียนมาก
"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ จึงฝากให้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณากำกับดูแลให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมองค์กรหลักได้มอบหมายให้นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้" นายพะโยม กล่าว
ขณะเดียวกันวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2560 น. พระพรหมบัณฑิต (ป.ธ.9, ศ.,ดร.,ราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์, อัคคมหาบัณฑิต) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เจ้าคณะภาค 2 อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นประธานในการรับฟังผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ณ ห้องประชุม 401 อาคารสำนักงานอธิการบดี มจร อ.วังน้อย จ.พระนครศรคอยุธยา ตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คณะกรรมการประเมินฯ นำโดย ผศ.ดร.ตวงรักษ์ นันทวิสารกุล คณบดีคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ได้เข้าทำการประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมเป็นต้นมาและได้ประกาศผลออกมาว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยผ่านการประเมินคุณภาพการศึกษาด้วยคะแนน 4.04(คะแนนเต็ม5) จัดว่าอยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามบางส่วนงานอยู่ในระดับดีมาก พร้อมกันนี้ได้แนะนำให้พิจารณาสนับสนุนส่วนงานที่มีความพร้อมให้ใช้เกณฑ์การประเมินคุณภาพการศึกษาที่มีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ (EdPEx)
ศิษย์เก่า มจร รายหนึ่ง กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ในฐานะผู้นำประเทศจะพูดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะเรื่องนโยบายและการมอบหมายนโยบายควรจะระมัดระวังและศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน เพราะเมื่อพูด แสดงออก ให้นโยบายและมอบหมายนโยบายไปแล้วก็ย่อมมีผลกระต่อสิ่งนั้นๆไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากหรือสลับซับซ้อนอะไรเลย ก่อนที่จะพูดหรือชี้อะไรลงไปที่สถาบันการศึกษานั้นโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพการผลิตบัณฑิต การเรียนการสอนหรือที่พูดรวมๆว่าคุณภาพการศึกษา เบื้องต้นควรเรียกให้ ศธ. มารายงานผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศมาดูเป็นข้อมูลพื้นฐานเสียก่อน ดูเพื่อทวนให้เข้าใจ ให้ตรงกับข้อเท็จจริงของมหาวิทยาลัยนั้นๆ แล้วค่อยศึกษาในรายละเอียด เช่น อัตลักษณ์ บริบทแวดล้อมอื่นๆเข้าไปด้วย หรือจะมอบทีมงาน ทีมที่ปรึกษาเป็นตัวช่วยก็ได้ เพื่อจะได้มองให้ทะลุและมอบนโยบายให้ตรง
ถ้าศึกษาให้ดีจะพบข้อเท็จจริงประการหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นคำตอบในคำถามพื้นฐานง่ายๆของประเทศนี้ ถ้าพบข้อเท็จจริงนี้แล้วผู้นำที่ดีควรจะต้องขอบคุณ มจร ด้วยซ้ำไป นั่นคือรัฐไทยในปัจจุบันนี้ไม่สามารถจะจัดการศึกษาในประเทศนี้ (ในทุกระดับ) ให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้อย่างเสมอภาคกัน ย้ำ อย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นคนรวย คนจน หรือคนในภูมิภาคๆก็ตาม คนไทยจำนวนมากมายโดยเฉพาะเด็กยากจนในขนบทไทย จึงตกบันไดการศึกษานี้ (ดูสถิติผู้ได้เรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐานและสถิติผู้ไม่รู้หนังสือได้) บางครอบครัวแตกแยก ลูกต้องอาศัยวัดให้ได้รับการศึกษาถึงขั้นระดับปริญญาเอก
การมองแบบตื้นเขินโดยวัดคุณภาพการศึกษาจากราคาค่าหน่วยกิตโดยละทิ้งบริบทอื่นๆเข่นนี้โอกาสผิดพลาดย่อมมีเปอร์เซ็นที่สูงจึ้น โดยเฉพาะมนระดับผู้นำแล้ว ต้องสุขุม รอบคอบ อย่าเกรี้ยวกราด หรือมีอคติว่าคนในสถาบันการศึกษานั้นๆเคยยืนในความเห็นที่แตกต่างตรงข้ามกับรัฐบาล อย่าเพิ่งมองการศึกษาแบบสินค้า หรือแบบเสื้อผ้าเช่น แพงคือยี่ห้อหมายถึงคุณภาพ ราคาถูกหมายถึงตลาดนัดคุณภาพต่ำ ตรรกะแบบนี้สถาบันการศึกษานั้นๆ จะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ผู้นำทึ่กอรปด้วยปัญญาย่อมมองเห็นนัยที่สำคัญทั้งเรื่อง พระพุทธศาสนา ศาตร์สมัยใหม่ คณะสงฆ์ สังคม คนด้อยโอกาสและการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาของประเทศ วันนี้เมื่อรัฐยื่นโอกาสทางการศึกษาได้ไม่ทั่วถึง กระท่อนกระแท่น คนทั่วโลกก็มองเห็น มจร ต่างหากเล่าที่เข้ามาสอดรับ ยื่นมือและเติมเต็มในแนวพื้นฐานนโยบายแห่งรัฐในส่วนของการศึกษานี้
"วันนี้ มจร จึงไม่ใช่การศึกษาเฉพาะพระสงฆ์ไทยเท่านั้นแต่ยังสนองตอบพระราชปณิธานของล้นเกล้าฯรัชกาลที่ 5 ในการจัดการศึกษาพระพุทธศาสนาบูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่เพื่อพัฒนาจิตใจและสังคม สถาบันแห่งนี้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับโลกไปแล้วในเวลานี้ วันนี้ มจร จึงเป็นทั้งโอกาส และสันติในดวงใจ วันนี้ มจร จึงเป็นที่พึ่งของทุกชนชั้น ไม่เฉพาะแต่ชาวไทยเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงคณะสงฆ์และชาวพุทธทั่วโลกอีกด้วย" ศิษย์เก่า มจร รายนั้นระบุ
............
(หมายเหตุ : ข้อมูลจาก http://www.moe.go.th/websm/2017/oct/541.html)
วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560
"บัวขาว"บวชถวาย"ในหลวงร.9"ที่วัดบางเเวก
วันที่ 18 ตุลาคม 2560 เฟซบุ๊ก Banchamek Gym (Buakaw Banchamek, บัวขาว บัญชาเมฆ ได้แจ้งว่า "วันที่ 19 ตุลาคม 2560 เวลา 08.00 น. บัวขาว ลาอุปสมบท อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ วัดบางเเวก จรัญสนิทวงศ์13 แขวงคูหาสวรรค์ เขตภาษีเจริญ (เข้าซอยบางแวก3)
กำหนดการ
-08.00น. ปลงผมนาค
-09.00น. นำนาคเข้าอุปสมบท
-11.00น. ฉลองพระใหม่ ถวายภัตตาหาร เพลสงฆ์
แฟนๆท่านใดสะดวก มาที่วัดเลยครับ
ข้าพเจ้าขอลาอุปสมบท ขอส่วนบุญส่วนกุศลที่ข้าพเจ้าได้บวชในครั้งนี้ จงมีแก่ท่านทั้งหลาย หากสิ่งใดที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่าน ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม หรือ
หากข้าพเจ้าเคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อท่านไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ขอทุกท่านโปรดจง อโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอทุกท่านได้อนุโมทนาผลบุญกุศลนี้ อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 โดยข้าพเจ้าจะตั้งใจปฎิบัติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นที่สุด"
นักบวชฮินดูทุ่มงบ2,100ล้านรูปีพัฒนาพุทธสถาน
โยคีอาทิตยานาถนักบวชฮินดู ทุ่มงบ 2,100 ล้านรูปีพัฒนาพุทธสถานรัฐอุตตรประเทศอินเดีย ยกพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ
วันที่ 17 ตุลาคม 2560 ที่เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โยคี อาทิตยานาถ (Yogi Adityanath) มุขมนตรีรัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย นักบวชฮินดู เจ้าอาวาสวัดโครักคนาถ เมืองโครักคปูร์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีการท่องเที่ยว และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เดินทางมาเป็นประธานเปิดการท่องเที่ยว เพื่อดูแลอำนวยความสะดวกแก่ผู้แสงบุญ และนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งมีประชากรมากที่สุดกว่า 199 ล้านคน โดยมีพระสงฆ์นานาชาติจากวัดต่างๆ ในเมืองกุสินาราได้รับนิมนต์ให้เดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้
โยคีอาทิตยานาถ มุขมนตรีแห่งรัฐอุตตรประเทศ ได้กล่าวว่า พระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ มีพุทธศาสนิกชนอยู่ทั่วโลก ซึ่งจุดกำเนินนั้นอยู่ในประเทศอินเดีย ในรัฐอุตตรประเทศนี้มีพุทธสถานมากที่สุด 6 ที่ ทั้งกุสินารา สารนาถ สาวัตถี โกสัมพี สังกัสสะ กบิลพัสดุ์ ในแต่ละปีมีชาวพุทธเดินทางมาจำนวนมาก ทั้งไทย พม่า ศรีลังกา และประเทศอื่นๆ ซึ่งท่านเคยเดินทางไปเยือนทั้ง ๓ ประเทศ ล้วนดูแลนักท่องเที่ยวเป็นอย่างนี้ดี
ขมนตรีแห่งรัฐอุตตรประเทศ กล่าวต่อว่า เราจึงต้องพัฒนาจัดสรรงบประมาณ 2,100 ล้านรูปี เพื่อดูแลพัฒนาพุทธสถานทั้ง 6 ที่ให้ดี ทั้งจัดทำถนนหนทางให้สะดวกสบาย สร้างสนามบินนานาชาติ สถานนีรถไฟ จัดทำห้องน้ำดูแลผู้แสวงบุญ จัดดูแลรักษาความปลอดภัย โดยจัดให้มีตำรวจท่องเที่ยว ขับมอเตอร์ไซค์ดูแลตลอด ติดตั้งกล้องวงจรปิด เพิ่มไฟแสงสว่างในพุทธสถาน และสวัสดิการอื่นๆ
โยคีอาทิตยานาถยังได้กล่าวด้วยว่า นายอำเภอจังหวัดกุศินาคาร์ และข้าราชการต้องเข้ามาช่วยงานพระ เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งมีวัดนานาชาติจำนวนมาก ทั้งไทย พม่า ศรีลังกา กัมพูชา ธิเบต เวียดนาม เนปาล ภูฏาน เป็นต้น ไม่ให้มีปัญหา ถ้าวัดไหนมีปัญหาต้องเข้ามาช่วยพระ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการทำงาน
วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2560
สมเด็จมอบทุน"เอก-ดร.แอน"บริจาคซื้อที่ดิน
สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง มอบทุนการศึกษาสามเณรและเยาชนรวม 200,000 บาท พร้อมถวายทุนขยายที่ตั้ง มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส เป็นสถานศึกษาด้านภาษาบาฬีและผลิตพระวิปัสสนาระดับนานาชาติ "สรพงษ์" และ "ดร.สิเรียม"ร่วมบริจาคด้วย
วันที่ 17 ตุลาคม 2560 สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพิชัยญาติการาม เป็นประธานถวายและมอบทุนการศึกษา แก่สามเณรและเยาชน จำนวน 200,000 บาท พร้อมถวายทุนเบื้องต้นในการขยายที่ตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส จำนวน 1,000,000 บาท ซึ่งอยู่บริเวณใกล้วัดละมุด วัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม มีพื้นที่จำนวน 27 ไร่ ราคาไร่ละ 650,000 บาท
ในการนี้พระพรหมเวที เจ้าคณะภาค 15 ได้ถวายทุนในการจัดซื้อที่ดิน อีก 1 ล้านบาท พร้อมด้วยพระเถรานุเถระและพุทธศาสนิกชนร่วมกันบริจาค ในจำนวนนี้มี
นายกรีพงษ์ เทียมเศวต หรือ "สรพงษ์ ชาตรี" และดร.สิภาภัสส์ ภักดีดำรงฤทธิ์ หรือ "แอน-สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์" ดารานักแสดงอาวุฬา ได้เข้าร่วมในงานดังกล่าว และปวารณาร่วมจัดซื้อที่ดิน คนละ 1 ไร่
มจร วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆสแห่งนี้ได้ก่อตั้งตามดำริของสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะด้านภาษาบาลีซึ่งเป็นรากฐานด้านภาษาและพระพุทพจน์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังได้มุ่งเน้นการเรียนการสอนด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน โดยเปิดหลักสูตร วิปัสสนาภาวนามหาบัณฑิต ถือเป็นหัวใจแห่งหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ผลิตพระวิปัสสนาจารย์ ออกเผยแผ่และสั่งสอนวิปัสสนาทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งการขยายวิทยาเขตให้สามารถรองรับผู้เข้ามาศึกษาด้านภาษาบาฬีและด้านวิปัสสนาระดับนานาชาติ
ทอดกฐิวัดพุทธวิหารออกซฟอร์ดสมทบทุนสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ
งานทำบุญทอดกฐิน วัดพุทธวิหารออกซฟอร์ด เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนซื้อที่ดินและอาคาร สร้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ
วันอาทิตย์ ที่ 15 ตุลาคม 2560 ณ Tingewick Hall มีพิธีทำบุญทอดกฐิน ที่วัดพุทธวิหารอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนซื้อที่ดินและอาคาร สร้างเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติ
ด้วยวัดพุทธวิหารออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษประเทศอังกฤษ เป็นวัดที่สร้างมาเป็นระยะเวลาครบสิบปีในปี พ.ศ.2560 นี้ โดยการดำริของ พระอาจารย์ ดร.คำหมาย ธัมมะสามิ เจ้าอาวาส อธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา โดยก่อสร้างเมื่อท่านเป็นนิสิตปริญญาเอก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนหลายชนชาติ ที่อยู่ในเมืองออกซฟอร์ด เมืองใกล้เคียง ทั้งในประเทศอังกฤษเอง รวมทั้งประเทศยุโรป หลายประเทศ มีความสนใจและเข้ามาปฏิบัติธรรม ณ วัดออกซฟอร์ดพุทธวิหารเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี เมื่อเปิดคอร์สอบรมวิปัสสนากรรมฐานทำให้สถานที่วัดไม่เพียงพอ ไม่สามารถรองรับผู้สนใจที่ต้องการจะเข้ามาปฏิบัติธรรมได้ทั้งหมด
ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่ออนุเคราะห์พุทธศาสนิกชนทุกเชื้่อชาติ ทุกประเทศ ที่ประสงค์จะเข้าฝึกพระกรรมฐาน เข้าปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา พระอาจารย์ ดร.คำหมาย จึงมีโครงการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม ฝึกอบรมพระกรรมฐานสำหรับผู้สนใจ ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาตินี้ มีลักษณะคือ แต่ละเดือนจะมีคอร์สในการปฏิบัติธรรมหลักสุตรต่างๆ ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ พระวิปัสสนาจารย์ นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ทั้งพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาที่มีความช่ำชองชำนาญ มากด้วยประสบการณ์ ความรู้ในการปฏิบัติกรรมฐานจากนานาประเทศ เช่น ประเทศไทย พม่า ศรีลังกา ทิเบต ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม จีน อเมริกา เป็นต้น ได้เดินทางมาบรรยาย นำปฏิบัติการเจริญกรรมฐาน ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถเข้าศึกษาได้ตามความสนใจ
เมื่อปีที่ผ่านมาหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี หรือหลวงพ่อพระภาวนาเขมคุณ วัดมเหยงค์ จ.อยุธยา ซึ่งเป็นพระเถระ เป็นพระวิปัสสนาจารย์ที่มีประสบการณ์ด้านการปฏิบัติ ก็ได้เดินทางมาสอนกรรมฐานในประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสมาสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางมหาสติปัฎฐานสี่ ได้รับความสนใจจากชาวอังกฤษ ชาวศรีลังกา ชาวไทย และอีกหลายเชื้อชาติเป็นอย่างมาก แต่สถานที่ของวัดพุทธวิหารออกซฟอร์ดก็ยังไม่เพียงพอ ไม่สะดวกต่อผู้สนใจที่เข้าปฏิบัติธรรม
ศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติแห่งนี้ จะเปิดกว้างและยินดีในความเมตตาของพระวิปัสสนาจารย์จากนานาชาติที่เดินทางมาสอน บรรยายและนำปฏิบัติ ดังนั้นจึงขอประชาสัมพันธ์ให้สาธุชนทุกท่านที่ประสงค์อยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติแห่งนี้ ติอต่อได้ที่วัดพุทธวิหารออกซฟอร์ด ในส่วนของที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อจะจัดตั้งศูนย์ฯ นั้น พระอาจารย์ ดร.คำหมาย และคณะกรรมการวัด ได้ช่วยกันหาและดูราคา ณ ขณะนี้ได้สถานที่แล้ว ตัดสินใจที่จะทำการจัด ซื้อสถานที่ และหาผู้มีจิตศรัทธาที่จะร่วมช่วยกัน ราคาที่แห่งนี้ตกประมาณ 980,000 ปอนด์ เนื้อที่ 4.5 เอเคอร์ (ประมาณ 10 ไร่) มีสิ่งก่อสร้างและอาคารที่อยู่อาศัย การสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมนานาชาติแห่งนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากทุกท่าน จึงขอฝากข่าวบุญนี้
...............
(หมายเหตุ : ที่มาแห่งข้อมูลความเป็นมา
http://odc.mcu.ac.th/?p=2797
http://www.dhammaduta20.com/2016/03/01/นักเรียนมัธยมศึกษา-จากโ/
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9480000083661
เฟสบุ๊ค Oxford Buddha vihara)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)
โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก"
โครงสร้างนิยายเรื่อง "น่านรัก" 1. บทนำ เปิดเรื่อง : สันติสุข ชายหนุ่มนักเขียนนิยายธรรมะที่ต้องการค้นหามิติใหม่ของการเล่าเรื่องธรรม...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...