วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เณรช่อสะอาด28จว.บวชเจริญจิตภาวนาถวาย"ในหลวงร.9"



สามเณรช่อสะอาด 28 หมู่บ้าน 28 จังหวัดทั่วประเทศ  บวชปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถวาย "ในหลวงร.9" พร้อมจาริกแสวงบุญแดนพุทธภูมิ  24 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้


วันที่ 23  ตุลาคม พ.ศ.2560 พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา เปิดเผยว่า มหาจุฬาฯ พร้อมด้วยมูลนิธิต่อต้านการทุจริต มูลนิธิพระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และหลักสูตรสันติศึกษา ผนึกกำลังกันคัดยุวชนช่อสะอาดจาก 28 หมู่บ้านทั่วประเทศ มาเป็นพัฒนาและฝึกอบรมต่อยอดเป็นสามเณรช่อสะอาด เน้นพัฒนาทั้งกายสะอาด พฤติกรรมสะอาด จิตใจสะอาด และปัญญาสะอาด


หลังจากนั้นจะนำสามเณรช่อสะอาดเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ประเทศอินเดีย ตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน ถึง 2 ธันวาคม 2560 ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิต่อต้านการทุจริต โดยมี ศ.วิชา มหาคุณ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิ  เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ และทรงทศพิราชธรรม น้อมนำความร่มเย็นสู่สังคมไทยตลอดมาและตลอดไป ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่


พระมหาหรรษา กล่าวต่อว่า  หลังจากนั้นยุวชนช่อสะอาดทั้ง 28 คน  และได้บรรพชาเป็นสามเณรเรียบร้อยแล้ว ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม พ.ศ.2560 ได้นำสามเณรช่อสะอาด และยุวชนช่อสะอาด จากหมู่บ้านช่อสะอาด 28 หมู่บ้าน ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ ได้ร่วมกันทำวัตรเย็น สวดมนต์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เป็นระยะเวลากว่า 3 ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงได้ร่วมกันอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร  และรุ่งเช้าสามเณรช่อสะอาดจะตื่นตี 4 ทำวัตรเช้า สวดมนต์ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานถวายเป็นพระราชกุศลอีกครั้ง ก่อนที่จะเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ณ ดินแดนพุทธภูมิ



"บรรพชาสามเณรอินเดีย 89 รูป ถวายเป็นพระราชกุศล"


ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2560   ที่ลานพระบรมรูป ร.9 พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นประธานในพิธีบรรพชาสามเณรกุลบุตรชาวอินเดีย จำนวน 89  รูป เป็นครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองกุสินารา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ ลานพระบรมรูป ร.9 วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย สถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เริ่มการก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2537  และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2542 ด้วยแรงศรัทธาของคณะพุทธบริษัทชาวไทย และคณะพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อวัดว่า วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งมีความหมายถึง วัดที่ชาวไทยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง การครองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี ตั้งอยู่ ณ เมืองกุสินารา อันเป็นสังเวชนียสถานที่ดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า


นอกจากนี้ “พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา” ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9  ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการเลือกแบบเจดีย์จากแบบร่างที่สถาปนิกได้ทูลเกล้าฯ ถวาย และได้ทรงมีพระราชวินิจฉัยเพิ่มเติม โดยได้รับพระราชทานลายพระหัตถ์ปรับแก้ตัวเรือนธาตุ อีกทั้งยังทรงโปรดพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเส้นพระเจ้า โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อทรงอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์มหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2548


พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จัดสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก หล่อด้วยบรอนด์ ขนาดความสูง 2.30 เมตร มีน้ำหนักประมาณ 2 ตัน การจัดสร้างได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณาจารย์ผู้ทรงเกียรติและได้รับการสนับสนุนการตรวจสอบความถูกต้องในขั้นตอนการควบคุม ตรวจสอบการปั้นต้นแบบจากสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร


และวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2553 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...