วันที่ 12 ต.ค.2560 ที่ Karaweik Palace กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา มีพิธีเปิดสมาคมพระพุทธศาสนาอาเซียน โดยมีชาวพุทธนานาชาติเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก อาทิ ชาวพุทธจากประเทศเมียนมา ไทย เกาหลีใต้ เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ และศรีลังกา ในการนี้มีพระมหาสันติ ธีรภทฺโท,ดร. เลขานุการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)ร่วมงานในนามตัวแทนจาก มจร
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีการประชุมศาสนาสัมพันธ์ที่สนามกีฬาเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา หลังจากเกิดปัญหาปะทะระหว่างกลุ่มมุสลิมโรฮิงญากับเจ้าหน้าที่เมียนมาที่รัฐยะไข่ ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาต้องอพยพไปในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งนี้ผู้คนต่างศาสนาหลายหมื่นชีวิต รวมตัวชุมนุมกันที่สนามฟุตบอลในนครย่างกุ้ง วันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความเป็นหนึ่งเดียวในประเทศที่กำลังประสบปัญหาจากเหตุความรุนแรงที่เกิดต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในบริเวณชายแดนด้านตะวันตกของประเทศ ทั้งพระสงฆ์ ชาวพุทธ คริสต์ ฮินดู และมุสลิมต่างรวมตัวกันเพื่อแสดงการสนับสนุนรัฐบาลพม่าในการจัดการวิกฤตในรัฐยะไข่ หลังพื้นที่ชายแดนดังกล่าวประสบต่อเหตุความรุนแรงในช่วงปลายเดือน ส.ค. เมื่อผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเปิดฉากโจมตีด่านตำรวจหลายแห่ง ส่งผลให้ทหารต้องตอบโต้ด้วยการปราบปรามอย่างรุนแรงจนทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมมากกว่าครึ่งล้านชีวิตต้องหลบหนีออกจากบ้านของตนเอง
การรวมตัวของผู้ที่นับถือต่างศาสนาราว 30,000 คน ในวันนี้ (10) เป็นการชุมนุมเพื่อให้การสนับสนุนนางอองซาน ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่หลายคนชูภาพซูจีหรือสวมเสื้อที่มีรูปของซูจี ทั้งนี้นางอองซาน ซูจี ถูกต่างชาติตำหนิอย่างหนักจากความล้มเหลวที่จะแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจต่อชาวโรฮิงญาที่ต้องอพยพหลบหนีความรุนแรงออกจากประเทศ และถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนตำหนิที่ไม่กล่าวประณามการปราบปรามของทหาร
“นี่เป็นพิธีที่แสดงให้โลกเห็นว่า ผู้คนจากทุกศาสนาในประเทศของเราล้วนเป็นมิตรต่อกันและรักกัน เรารู้สึกเสียใจอย่างมากต่อปฏิกิริยาของประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากข่าวสารซึ่งไร้ความจริง” วิน หม่อง นักการเมืองของพรรค NLD ที่ช่วยจัดการชุมนุมครั้งนี้ กล่าว
ในคำกล่าวปราศรัยต่อฝูงชน พระคาร์ดินัลชาร์ล หม่อง โบ ของพม่า กล่าวปกป้องซูจีอย่างหนักแน่น โดยย้อนไปถึงช่วงเวลาที่ซูจีอยู่ในฐานะนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
“เธอไม่เคยร้องขอรางวัลโนเบลสันติภาพ ตอนนี้โลกมองพม่าว่าเป็นเหมือนประเทศที่ไร้หัวใจ แต่แท้จริงแล้วศาสนาสากลของชาวพม่าคือความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจ” พระคาร์ดินัลชาร์ล หม่อง โบ กล่าวตอบโต้ถึงการเรียกร้องการปลดรางวัลโนเบลของซูจี
...........
(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊กบัณฑิตนิวส์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น