วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แม่ครัว"มจร"ฝึกจิตภาวนา"ครัวต้นแบบสงฆ์โภชนาดี"


ตามที่สำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ได้ร่วมมือกับคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการ "ครัวต้นแบบ สงฆ์โภชนาดี เพื่อสร้างเสริมโภชนาการที่ดีของพระสงฆ์ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา


นอกจากหลักโภชนการแล้ว ทางด้านจิตภาพของแม่ครัวก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ มหาจุฬาฯนั้นได้จัดการศึกษาด้านปริยัติแล้วยังมีภาคปฏิบัติภายใต้การดำเนินการของสำนักวิปัสสนาธุระ โดยนำหลักการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเข้ามาบูรณาทุกภาคส่วน ร่วมถึงแม่ครัวที่ทำหน้าที่ในการประกอบอาหารถวายพระนิสิตด้วย เรียกว่า "แม่ครัววิถีพุทธ"


พระครูภาวนาสารบัณฑิต,ดร. ผู้อำนวยการส่วนธรรมนิเทศ มจร ในฐานะพระวิปัสสนาจารย์ และมีหน้าที่ในการบริการโรงครัวด้วย ได้เปิดเผยว่า  แม่ครัววิถีพุทธซึ่งทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ ในฐานะดูแลการประกอบอาหารถวายพระนิสิตของมหาจุฬา จึงมีการหมั่นสื่อสารกันตามหลักอปริหานิยธรรม เพื่อมุ่งสู่การเป็นแม่ครัวที่มีคุณภาพ แม่ครัวมหาจุฬามีความแตกต่างจากที่อื่นเพราะเป็นแม่ครัวทางธรรม ซึ่งมีการทำงานโดยการใช้หลักพุทธธรรมแบบ 5 ดี ในการบริหารจัดการในหน้าที่ คือ


1. "บริการดี" หมายถึง การบริการคืองานบุญ มีความเบิกบานในการรับใช้เพื่อนมนุษย์ มีความสุขในการทำงาน จนทำให้คนรอบข้างมีความสุข ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน บริการทุกระดับประทับใจ


2. "บริเวณดี" หมายถึง การนำ 5 ส. มาประยุกต์ คือ สะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ สร้างนิสัย บริเวณมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย วัตถุสิ่งของหยิบก็ง่าย หายก็รู้ ดูงามตา ทำให้เกิดความไว้วางใจด้านความสะอาด


3. "บริวารดี" หมายถึง ความเป็นกัลยาณมิตร มีการทำงานเป็นทีม ลักษณะที่ว่ามีอาหารแบ่งกันทาน มีงานแบ่งกันทำจากหนักก็เป็นเบา ด้วยการยึดประโยชน์ส่วนตนไว้ที่สอง ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่หนึ่ง การทำงานมีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล โอบอ้อมอารี วจีไพเราะ สงเคราะห์ผู้คน วางตนให้เหมาะสมกับหน้าที่ของตนเอง


4."บริหารดี" หมายถึง การรู้จักบริหารตนเอง รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เป็นที่พึ่งของตนเองจนสามารถให้คนอื่นพึ่งพาอาศัยเราได้ บริหารคน สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีความสุข บริหารงาน ทำให้คนเบิกบานงานสำเร็จ บริหารเวลา ให้เหมาะสม ทันเวลา ทันสถานการณ์ ทันกิจกรรม ทุกคนเป็นผู้นำในหน้าที่ของตนเอง ทำเองก็ได้ บริหารให้คนอื่นทำก็ได้ ด้วยการให้เกียรติกัน


5."บริกรรมดี" หมายถึง มีจิตมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำ เน้นการเจริญสติในการทำงาน เริ่มด้วยความสงบจบด้วยความสุขทางใจ ถือว่าเป็นจุดเด่นของแม่ครัวมหาจุฬาฯ มีการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง เพื่องานที่ดีที่สุด


"สรุปว่า สิ่งที่ทำให้ครัวมหาจุฬาฯ มีคุณภาพ คือการนำหลักพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้ในการทำงาน อย่างเป็นระบบในฐานะมหาจุฬาเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านพระพุทธศาสนาของโลก ซึ่งมีพระนิสิตต่างชาติไม่น้อยกว่า 18 ประเทศ มารับบิณฑบาต ฉันภัตตาหารเช้า เพล ฉะนั้น แม่ครัวทุกคนทำงานหนักด้วยความเสียสละ ตั้งใจ สมควรได้รับการยกย่อง ชื่นชม อนุโมทนาบุญ" พระครูภาวนาสารบัณฑิต กล่าวและว่า


ด้วยเหตุนี้ แม่ครัวจึงต้องมีการพัฒนาตามหลักภาวนา 4  คือ พัฒนากาย พัฒนาพฤติกรรม พัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญาอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์อันสูงสุดของมหาจุฬาฯ เป็นที่ประจักษ์แก่ท่านทั้งหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...