วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
"ในหลวงร.9"พระผู้ทรงงานบนฐานแห่งปัญญา
"ในหลวงร.9"พระผู้ทรงงานบนฐานแห่งปัญญา : มุมมองพระสงฆ์เครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม
วันนี้ (26 ตุลาคม 2560) เป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ตลอดถึงบรรดาผู้นำจากทั่วโลก ได้รวมพลังทั้งกายและจิต ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดินทร์ สยามินทราธิราช บรมนาถบพิธ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ รัชกาลที่ 9 ณ มลฑลพิธีท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร มณฑลพิธีถวายดอกไม้จันทน์ตามจังหวัดต่างๆ 76 จังหวัดทั่วประเทศ และมณฑลพิธีที่จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
พระราชพิธีอันยิ่งใหญ่สมพระเกียรติครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ทุกคนจะได้ร่วมกันทำ เพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ท่าน ในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก จนเป็นที่รักของปวงพสกนิกร แม้องค์กรระดับนานาชาติหลายองค์กร ก็ประจักษ์ในผลงานที่พระองค์ได้ทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระสติปัญญา ดำเนินมาตลอดระยะเวลากว่า 70 ปีที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ต่างถวายรางวัลเพื่อยกย่องพระเกียรติคุณดังกล่าว และเชิญชวนให้นานาประเทศได้นำเอาแนวพระราชดำริ และตัวอย่างกิจกรรมที่ทรงทำไว้เป็นแบบอย่าง ไปใช้ในการพัฒนาประเทศและโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
ในฐานะพระสงฆ์ในเครือข่ายสังฆะเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังคม 4 ภาค โดยเฉพาะเครือข่ายพระนักพัฒนาชมชนภาคเหนือ (คพชน) ที่มีหลักคิดในการทำงานที่สำคัญคือ “พุทธธรรมนำปัญญาพัฒนาท้องถิ่น” จึงอยากเสนอมุมมองการทรงงาน ที่สามารถสร้างคุณูประการให้แก่สังคมไทยและสังคมโลก ผ่านกรอบ “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันต่อไป
หากสังเกตการทรงงานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ตลอดระยะเวลากว่า 70 ปี พระองค์ได้ทรงใช้หลัก “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” ตามหลักพระพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม เป็นแบบอย่างที่น่าศึกษาเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง โดยหลักการทรงงานที่ทรงใช้ก็คือหลัก “ปัญญาวุฒิธรรม” ได้แก่
1) สัปปุริสังเสวะ (เสวนาผู้รู้)
2) สัทธัมมัสสวนะ (ฟังดูคำสอน)
3) โยนิโสมนสิการ (คิดให้แยบคาย)
4) ธัมมานุธัมมปฏิบัติ (ปฏิบัติให้ถูกต้อง)
การที่พระองค์จะมี “พระอัจฉริยภาพ” หรือ “ทรงภูมิปัญญา” เป็นที่ประจักษ์อย่างที่เราได้สัมผัสอยู่ ณ วันนี้ได้นั้น ทรงพัฒนาพระอัจฉรียภาพของพระองค์ผ่าน “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” มาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่เรามักจะไม่ค่อยสนใจ “กระบวนการพัฒนาพระอัจฉริยภาพ” กันสักเท่าใดนัก แต่กลับไปสนใจและชื่นชมผลหรือความสำเร็จกันเสียมากกว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 มีพระราชจริยาวัตรที่สำคัญอย่างหนึ่ง ตลอดระยะเวลาที่ทรงงาน กล่าวคือ ทรงให้ความสำคัญกับหลัก “สัปปุริสังเสวะ – การเสวนาผู้รู้” ไม่ว่าจะเป็นพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงภูมิธรรมภูมิรู้ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั่วประเทศ นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆทั้งในและต่างประเทศ ตลอดถึงปราชญ์ชาวบ้านผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่นในทุกๆแห่งที่เสด็จทรงงาน เป็นเหตุสำคัญให้พระองค์ได้รับฟังข้อมูลที่รอบด้าน มาประกอบในการพิจารณาดำเนินโครงการในพระราชดำริถึง 4447 โครงการ ในส่วนนี้ถือเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาพระอัจริยภาพ ที่รวมเรียกว่า “ปรโตโฆสะ” ที่เป็น “กัลยาณมิตร”
จากข้อมูลที่รอบด้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้นำมาพิจารณาโดยหลัก “โยนิโสมนสิการ” พิจารณาอย่างแยบคาย โดยในช่วงเวลาที่ทรงแปรพระราชฐานไปทรงงานในภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ จะเป็นพระราชวโรกาสที่จะได้มีพระราชดำริทบทวน ด้วยเหตุด้วยผล หาความเชื่อมโยงสัมพันธ์ ข้อดีข้อเสีย คุณและโทษ หรือตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ เป็นต้น ก่อนจะตัดสินพระทัยในการพัฒนาและดำเนินโครงการตามพระราชดำริดังกล่าว ซึ่งมีถึง 4447 โครงการ
โครงการในพระราชดำริ จำนวน 4447 โครงการ เป็นเครื่องยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ใช้หลัก “ธัมมานุธัมมปฏิบัติ” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการพัฒนา “พระอัจฉริยภาพ” ภายหลังจากที่ทรงมีกัลยาณมิตรและพระราชดำริที่แยบคายแล้ว ตัวอย่างเช่น
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยทรงเริ่มจาก “เขื่อนขนาดใหญ่” ในระยะแรกของโครงการในพระราชดำริ แต่เมื่อทรงกลับไปใช้หลัก “ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ” อีกครั้งก็ทรงเห็นถึงผลกระทบ กระทั่งปัจจุบันทรงนำเสนอและสร้างตัวอย่างแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้วย “ฝายชลอน้ำ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ฝายแม้ว” รวมถึงนวัตกรรมแหล่งน้ำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำ โดยมีหลักการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 (แหล่งน้ำ : นาข้าว : ไร่/สวน : ที่อยู่อาศัย) ที่กลายเป็นต้นแบบแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ เวลานี้
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาในภูมิภาคต่างๆ ที่ทรงเห็นว่าด้วยบริบทที่แตกต่างของภูมิภาคทั่วประเทศ จะใช้รูปแบบการพัฒนารูปแบบเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงทรงทดลองและสร้างให้เป็นแบบอย่าง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ในการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมกับบริบทต่อไป
หลัก “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” จึงเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนา “พระอัจฉริยภาพ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ที่เหล่านักพัฒนาสังคมท้องถิ่นทั้งหลายควรนำมาพิจารณา และปรับใช้ในการทำงาน เพื่อลด “ความผิดพลาด” ในการทำงานพัฒนาสังคม ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่เน้นการเพิ่มตัวเลขจีดีพี (GDP) ไปสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่มี “คนเป็นศูนย์กลาง” และ “ดูแลสิ่งแวดล้อม”
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีฯ เพื่อ “น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้นอันหาที่สุดมิได้” และ “ถวายความอาลัยแด่พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” ตลอดถึงตามรอยพ่อด้วยการนำหลัก “การทรงงานบนฐานแห่งปัญญา” มาสืบสาน เพื่อพัฒนาตนและพัฒนาสังคมที่อุดมด้วย “ปัญญา” ต่อไป
.........................
(หมายเหตุ : ข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Phramaha Boonchuay Doojai)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
วิเคราะห์ “จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์
วิเคราะห์ “จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น