วันพุธที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เจ้ามัลละกษัตริย์ทรงร่วมน้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย





เจ้ามัลละกษัตริย์ พร้อมข้าราชการ ประชาชนชาวเมืองกุสินารา กว่า 1,500 คน ร่วมวางดอกไม้จันทน์น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย "ในหลวงร.9"



วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2560 ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ สาธารณรัฐอินเดีย  ซึ่งเป็นสถานที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ประธานฝ่ายบรรพชิต เจ้ามัลละกษัตริย์ พร้อมทั้งมหาราชินี เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9



ภาคเช้ามีการประกอบพิธีสวดพุทธมนต์บำเพ็ญกุศลภายในพระอุโบสถและทอดผ้าไตร พระสงฆ์ 10  รูป สดับปกรณ์ จากนั้นภาคบ่ายประกอบพิธีวางดอกไม้จันทน์ ณ ลานพระบรมรูป ร.9 โดยในพิธีประกอบด้วยเจ้ามัลละกษัตริย์ Maharaja Bahadur H.M. Mrigendra Pratap Shahi , King Mall เป็นประธานจุดธูปเทียนเครื่องน้อยหน้าพระบรมรูป ร.9 พร้อมทั้งวางพวงมาลาถวายสักการะ จากนั้นพระอภิธช อัคคมหาสัมธัมม โชติกะ ดร.พระภัททันตะ ญาณิสสระ เจ้าอาวาสวัดพม่า กุสินารา นำพระสงฆ์นานาชาติ 9  ประเทศ พม่า อินเดีย ศรีลังกา ธิเบต ภูฐาน กัมพูชา เวียดนาม เนปาล สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย พระครูสุวัฒน์ชยาทร รองหัวหน้าพระธรรมทูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล นำพระสงฆ์ไทย สวดพุทธมนต์ สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย นักบวชฮินเดียสวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย และนักบวชมุสลิม สวดมนต์บำเพ็ญกุศลถวาย




จากนั้น เจ้ามัลละกษัตริย์พร้อมทั้งมหาราชินี ทอดผ้าไตร พระสงฆ์สดับปกรณ์ และเป็นประธานในพิธีวางดอกไม้จันทน์ส่งน้อมส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  สู่สวรรคาลัย



ในวันนี้มีพระสงฆ์นานาชาติ ข้าราชกาลชั้นผู้ใหญ่ ครู นักเรียน พ่อค้า ประชาชน เมืองกุสินารา กว่า 1,500  คน เดินทางมาน้อมส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย ณ ลานพระบรม ร.9  ที่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์  และทุกท่านจะได้รับมอบต้นไม้จันทร์หอม ซึ่งเป็นไม้มงคล มอบให้นำไปปลูกไว้ในหน่วยงาน องค์กร ต่างๆ ด้วย



วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้ดำเนินการก่อสร้าง เมื่อพุทธศักราช 2537  และเสร็จสมบูรณ์ในพุทธศักราช 2542  โดยมีพระสงฆ์ไทยและพุทธบริษัทแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยชาวพุทธอินเดีย ได้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างขึ้นที่เมืองกุสินารา อันเป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานอันสำคัญสุดที่ปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อยเผยแพร่พระเกียรติคุณของประเทศไทย ซึ่งเป็นเมืองพุทธศาสนา และเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ องค์พระประมุขของชาติ และองค์เอกอัตรนูปถัมภกแห่งพระพุทธศาสนา



ในการจัดสร้างวัดไทยในแดนมหาปรินิพพานนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ได้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์" ซึ่งมีความหมายว่า "วัดที่ชาวไทยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง การครองสิริราชสมบัติครบ 50  ปี" พร้อมทั้งพระราชทานนามพระพุทธปฏิมากร ที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถว่า "ภปร" ประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ และตราสัญญาลักษณ์งานเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 50  ปี ประดิษฐานหน้าบันอาคารเฉลิมพระเกียรติด้วย



เมื่อพระอุโบสถสร้างสำเร็จเรียบร้อย คณะกรรมการวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้กราบบังคมทูลของพระราชทานพระมหาเจดีย์ พระบาทสมเดจพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแบบพระมหาธาตุเจดีย์ พร้อมด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้าง พระราชทานนามว่า "พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา" อีกทั้งมีพระมหากรุณาธิคุณพร้อมทั้งพระราชศรัทธา พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ และเส้นพระเจ้าให้ประดิษฐานสถิต ณ พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา บนแผ่นดินพุทธภูมินี้ด้วย



เมื่อพุทธศักราช 2543 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สร้างะรับรมรูปเต็มพระองค์ ประดิษฐานในปริมณฑลวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นพระบรมรูปองค์แรกในโลกที่ประดิษฐาน ณ ต่างประเทศ ยังความปลื้มปีติมายังประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้ พระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นเหนือเกล้าฯ นี้ จะสถิตบนแผ่นดินเมืองกุสินารา และท่ามกลางดวงใจพุทธศาสนิกชนชาวไทยต่อไป


..................

(ขอบคุณ ภาพ/รายงาน กองงานวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เฟซบุ๊ก วัดไทยพุทธคยา ๙๓๕ งานเผยแผ่พระธรรมทูตอินเดีย-เนปาล)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...