วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

“ความไม่โกรธ”ของในหลวง ร.๙ คราวเสด็จออสเตรเลีย”


ตลอดพระชนน์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พสกนิกรชาวไทยได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์มีแต่คำว่า “ให้” พร้อมกันนี้พระองค์ทรงตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมโดยเฉพาะข้อ “อกฺโกธํ” ความไม่โกรธ

พระองค์ก็เปี่ยมไปด้วยทศพิธราชธรรมข้อ “อกฺโกธํ” คือ กริยาที่ไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ คราวที่พระองค์เสด็จฯ ในพิธีทูลเกล้าฯ ถวายปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ครั้งนั้นพระองค์ทรงถูกท้าทายจากนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่มีความคิดรุนแรง ไม่เข้าใจพระองค์และเมืองไทยเป็นอย่างดี โดยบ้างก็ถือป้ายที่มีข้อความกล่าวร้ายต่อพระองค์ท่าน บ้างก็ส่งเสียงโห่ปนฮาลบหลู่พระเกียรติ และเกียรติภูมิของชาติไทยอย่างแรง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งร่วมเสด็จฯ ด้วยในครั้งนั้น ได้ทรงบรรยายภาพไว้ในบทพระราชนิพนธ์ “ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ” ตอนหนึ่ง ระบุว่า

“... ต่อจากนั้นก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จฯ ไปพระราชทานพระราชดำรัสที่เครื่องขยายเสียงกลางเวที ยังไม่ทันจะอะไร ก็มีเสียงโห่ปนฮาดังขึ้นมาจากกลุ่มปัญญาชนข้างนอกอีกแล้ว

ข้าพเจ้ารู้สึกว่ามือเย็นเฉียบ หัวใจหวิว ๆ อย่างไรพิกล รู้สึกสงสารพระเจ้าอยู่หัวจนทำอะไรไม่ถูก ไม่กล้าแม้แต่จะมองขึ้นดูพระพักตร์ท่านด้วยความสงสารและเห็นพระทัย ในที่สุดก็ฝืนใจมองขึ้นไปเพื่อถวายกำลังพระทัย แต่แล้วข้าพเจ้านั่นเองแหละที่เป็นผู้ได้กำลังใจกลับคืนมา เพราะมองดูท่านขณะที่ทรงพระดำเนินไปยืนกลางเวทีเห็นพระพักตร์สงบเฉย ทันใดนั้นเองคนที่อยู่ในหอประชุมทั้งหมดก็ปรบมือเสียงสนั่นหวั่นไหวคล้ายจะถวายกำลังพระทัยท่าน

พอเสียงปรบมือเงียบลง คราวนี้ข้าพเจ้ามองขึ้นไปบนเวทีอีกก็เห็นพระเจ้าอยู่หัวทรงเปิดพระมาลาที่ทรงคู่กับฉลองพระองค์ครุย แล้วหันพระองค์ไปโค้งคำนับกลุ่มที่ส่งเสียงเอะอะอยู่ข้างนอกอย่างงดงาม และน่าดูที่สุด พระพักตร์ยิ้มนิด ๆ พระเนตรมีแววเยาะหน่อย ๆ แต่พระสุรเสียงราบเรียบยิ่งนัก
“ขอขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ในการต้อนรับอันอบอุ่นและสุภาพเรียบร้อยที่ท่านแสดงต่อแขกเมืองของท่าน”

รับสั่งเพียงเท่านั้นเอง แล้วก็หันพระองค์มารับสั่งต่อกับผู้ที่นั่งฟังอยู่ในหอประชุม ตอนนี้ข้าพเจ้าอยากจะหัวเราะออกมาดัง ๆ ด้วยความสะใจ เพราะเสียงฮานั้นเงียบลงทันทีราวกับปิดสวิทช์ แล้วตั้งแต่นั้นก็ไม่มีอะไรเลย ทุกคนข้างนอกข้างในต่างนั่งฟังพระราชดำรัสเฉยท่าทางดูขบคิด ข้าพเจ้าเห็นว่าพระราชดำรัสวันนั้นดีมาก รับสั่งสดๆ โดยไม่ทรงใช้กระดาษเลย ทรงเล่าถึงวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของไทยเราว่า เรามีเอกราช มีภาษาของตนเอง มีตัวหนังสือซึ่งคิดค้นขึ้นใช้เอง เราตั้งบทกฎหมายการปกครองของเราเอง ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมา ๗๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ตอนนี้ข้าพเจ้าขำแทบแย่ เพราะหลังจากรับสั่งว่า ๗๐๐ ปีกว่ามาแล้ว ทรงทำท่าเหมือนเพิ่งนึกออก ทรงสะดุ้งนิด ๆ และทรงโค้งพระองค์อย่างสุภาพ เมื่อตรัสว่า ขอโทษลืมไป ตอนนั้นยังไม่มีประเทศออสเตรเลียเลย

แล้วทรงเล่าต่อไปว่า แต่ไหนแต่ไรมาคนไทยเรามีน้ำใจกว้างขวาง พร้อมที่จะให้โอกาสคนอื่นและฟังความเห็นของเขา เพราะเรามักใช้ปัญญาขบคิดไตร่ตรองหาเหตุผลก่อนจึงจะตัดสินว่าสิ่งไรเป็นอย่างไร ไม่สุ่มสี่สุ่มห้าตัดสินอะไรตามใจชอบ โดยไม่ใช้เหตุผล ...”

ทั้งนี้ผลจากการแสดงพระอัจฉริยภาพอย่างสูงในสถานการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่าเมื่อเสร็จพิธีแล้ว ผู้ร่วมพิธีต่างเข้ามากราบบังคมทูลสรรเสริญถึงพระราชดำรัสนั้น และสำหรับกลุ่มนักศึกษาที่มีปฏิกิริยาเหล่านั้น ต่างก็มีอากัปกิริยาเปลี่ยนไปหมด บ้างก็มีสีหน้าเฉย ๆ เจื่อน ๆ ดูหลบพระเนตร ไม่มีการมองดูพระองค์อย่างประหลาดอีก แต่บางพวกก็มีน้ำใจเป็นนักกีฬาพอที่จะยิ้มแย้มแจ่มใส โบกมือและปรบมือให้แก่ทั้งสองพระองค์ตลอดทางจนถึงที่รถพระที่นั่งจอดอยู่

(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก http://news.sanook.com/2087026/ )

สุดจะกลั้นน้ำตาในรินหลั่ง
สุดจะยั้งน้ำตาให้รินไหล
สุดจะกลั้นวิญญาให้อาลัย
ขอเทิดไท้สถิตย์สรรค์นิรันดร์เทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายสำราญ สมพงษ์ ขอถวายความอาลัย
(หมายเหตุขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านในครั้งนี้ด้วย)










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...