วันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2560

"มจร"ขอบคุณ"บิ๊กตู่"ห่วงคุณภาพการศึกษาม.สงฆ์



"มจร"ขอบคุณ"บิ๊กตู่"ห่วงคุณภาพการศึกษาม.สงฆ์ แจงมีคนเข้ามาเรียนมาก ปัจจัยไม่ได้อยู่ที่เงินหรือค่าเล่าเรียนราคาถูก


วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความห่วงใยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17  ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมาถึงเรื่องคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยพระสงฆ์ 2 แห่งคือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร)  และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย(มมร)  ซึ่งเปิดสอนระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และค่าเล่าเรียนราคาถูกจึงมีคนสนใจไปเรียนมาก จึงฝากให้กระทรวงศึกษาธิการได้พิจารณากำกับดูแลให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น 


ต่อนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ได้แจ้งในที่ประชุมองค์กรหลัก กระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 36/2560 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ และได้มอบหมายให้นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้นั้น


พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส,รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ และผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา ได้แสดงความเห็นว่า หลังจากอ่านประโยคข้างบนนั้น ส่วนตนแล้ว ชื่นชมท่านนายกฯ ที่ตระหนักรู้ และให้ความใส่ใจต่อสถานการณ์การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนาโดยใช้พระนามของพระองค์ตั้งชื่อของมหาวิทยาลัย จากความห่วงใยดังกล่าวจึงได้สั่งการให้รองปลัด และเลขาธิการ สกอ. ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ จึงประสงค์จะอธิบายรายละเอียดบางประการเพื่อให้สอดรับความห่วงใยของท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีต่อมหาจุฬาฯ ใน 2 ประเด็นหลัก คือ


ประเด็นที่ 1 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินการเปิดสอนในระดับตรี  โท และเอก ซึ่งทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีเกิดความห่วงใยต่อ "คุณภาพ" ของการบริหารจัดการหลักสูตรต่างๆ จึงมอบหมายให้นายพีระ รัตนวิจิตร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้ การที่จะทำให้ทราบชัดว่า "มีคุณภาพ" ในเชิงประจักษ์นั้น เครื่องมือสำคัญที่สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ใช้เป็นมาตรวัดในการประเมิน คือ "การประกันคุณภาพการศึกษา" หรือ "Quality Assurance:QA" เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีคุณภาพ


ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม 2560 คณะกรรมการตรวจและประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ซึ่งมีรายชื่ออยู่บัญชีผู้ประเมินของ สกอ. นำโดย ผศ.ดร.ตวงรักษ์ นันทวิสารกุล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า บางมด ประธานกรรมการ รศ.ดร.สุบรรณ เอี่ยมวิจารณ์ มหาวิทยาลัยสารคาม กรรมการ รศ. ภรณี ศิริโชติ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการ ผศ.ดร.พันธ์ศักดิ์ พลสารัมย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ อาจารย์ไฉไลฤดี ยุวนะศิริ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรรมการและเลขานุการ ได้เข้ามาประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


คณะกรรมการทั้ง 5 ท่านซึ่งเป็นผู้แทนของ สกอ. ได้ทำหน้าที่พิชญพิจารณ์ ตลอด 3 วัน ทั้งการพิจารณาเอกสาร หลักฐาน และการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และผู้ใช้บริการ ซึ่งผลการประเมินในภาพรวมจาก 5 องค์ประกอบระดับสถาบัน คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ อยู่ในเกณฑ์ระดับดี โดยได้ 4.04 จากระดับคะแนน 5


เมื่อพิจารณาจากพัฒนาการของการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับสถาบันของมหาจุฬาฯ จาก 3 ปีย้อนหลัง คือ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557 – 2559 มีผลการประเมินดีขึ้นตามลำดับ โดยในปีการศึกษา 2557 มีผลการประเมิน 3.53 คะแนน ปีการศึกษา 2558 มีผลการประเมิน 3.87 คะแนน และ ในปีการศึกษา 2559 มีผลการประเมิน 4.04 คะแนน จะเห็นว่า ผลการประกันคุณภาพที่มีพัฒนาการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับดีนั้น ย่อมสามารถทำให้ท่านนายกรัฐมนตรีคลายความห่วงใยได้ว่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการจัดการศึกษาให้สอดรับกับพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชการที่ 5 มุ่งสร้างให้มหาจุฬาฯ เป็นสถานบันการศึกษาพระไตรปิฏกและวิชาชั้นสูง


ประเด็นที่ 2 มีค่าเล่าเรียนราคาถูก จึงมีคนสนใจไปเรียนมากขึ้น ค่าเล่าเรียนถูกมิใช่ตัวแปรหลักเพียงประการเดียวที่ทำให้นิสิตจำนวนมากตัดสินใจเลือกที่จะมาเรียนที่มหาจุฬาฯ ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงสถาปนา แต่เพราะอาศัยตัวแปรอื่นๆ เข้ามาประกอบในการตัดสินใจด้วย เช่น ความเป็นพุทธศาสนิกชน การศึกษาทางโลกกำลังพบกับความตีบตันทางปัญญา มหาจุฬาฯ เน้นวิชาชีวิตเติมเต็มวิชาชีพโดยการบูรณาการพระพุทธศาสนากับศาสตร์สมัยใหม่ การได้มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะจากพระสงฆ์โดยตรง การมีทุนสนับสนุนจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลก รวมถึงทุนเล่าเรียนหลวง และการมีทุนทรัพย์จำนวนน้อย มหาจุฬาฯ จึงมีหน้าที่เข้าไปช่วยรัฐในการจัดการศึกษาเพื่อรองรับ และสนับสนุนกลุ่มคนที่เป็นพระสงฆ์และคฤหัสถ์ซึ่งพลาดโอกาสทางการศึกษา และขาดทุนทรัพย์ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย


ถามต่อว่า "เป็นไปได้หรือไม่ว่า ค่าเล่าเรียนถูก จะทำให้ด้อยคุณภาพลง" แม้ว่าค่าเล่าเรียนของมหาจุฬาฯ จะถูก แต่มิได้หมายความว่า มาตรฐานในการจัดการศึกษาของมหาจุฬาฯ จะด้อยคุณภาพลง ดังจะเห็นได้จากผลการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับสถาบัน ที่ได้คะแนน 4.04 จาก 5 คะแนน ซึ่งอยู่ในระดับดี ในขณะเดียวกัน มหาจุฬาฯ ได้พัฒนานิสิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากศิษย์เก่าของมหาจุฬาฯ เช่น สมเด็จพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) พระพรหมบัณฑิต,ศ.ดร. พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ศ.ดร.สมภาร พรมทา และศ.ดร.วัชระ งามจิตรเจริญ จะเห็นว่า ความถูกของมูลค่ามิได้ทำให้คุณค่าลดต่ำลง ด้วยเหตุนี้ มหาจุฬาฯ ในฐานะเป็นสถาบันการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา จึงมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นประโยชน์สูง แต่ประหยัดสุด


กล่าวโดยสรุปแล้ว ข้อห่วงใยของท่านนายกฯ ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนั้น นับได้ว่าเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความปลาบปลื้มยินดี และภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษาด้านพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฏหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 พยายามที่จะตอกย้ำให้นำการศึกษาตามแนวพระพุทธศาสนาเถรวาทมาเป็นพื้นฐานสำคัญในการปฏิบัติและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาจิตใจและปัญญา อาศัยความห่วงใยนี้ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่งจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนามหาวิทยาลัยให้สามารถเจริญก้าวหน้า สามารถตอบโจทย์ชีวิตและสังคมอย่างสมสมัยและสอดรับกับความต้องการต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...