วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2560

มหาจุฬาฯพร้อมแล้ว!เปิดป.ตรีนานาชาติ


 มหาจุฬาฯพร้อมแล้ว!เปิดป.ตรีนานาชาติ ยกวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติดำเนินการ ด้วยหลักประกันคุณภาพระดับดีมาก เตรียมสู่การประเมินด้วยระบบ EdPEx ปีหน้า



วันที่ 13 ต.ค.2560 พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ฝ่ายวิชาการ ผู้อำนวยการหลักสูตรสันติศึกษา และผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ(IBSC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. รองอธิการบดี มจร ฝ่ายวิชาการ ได้ประชุมคณะกรรมการยกร่างหลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา (หลักสูตรนานาชาติ) เพื่อเร่งเปิดการศึกษาในระดับปริญญาตรีให้ทันปีการศึกษา 2561


"เนื่องจากปัจจุบันนี้ วิทยาลัยได้เปิดการศึกษาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาเท่านั้น การเปิดระดับปริญญาตรีจะทำให้ผู้สนใจในทวีปยุโรป อเมริกา ทวีปเอเซีย ประชาคมอาเซียน และทวีปอื่นๆ รวมถึงมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ภายใต้สมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ สามารถเลือกมาศึกษา ณ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติได้ การเปิดหลักสูตรปริญญาตรี โท และเอก เป็นการดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาวิทยาลัยที่มีวิสัยทัศน์มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติ" พระมหาหรรษา กล่าวและว่า


พร้อมกันนี้ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการอำนวยการประกันคุณภาพการศึกษา ได้ประชุมเพื่อรับรองผลการประกันประคุณภาพการศึกษาภายในของส่วนงานจัดการศึกษาทั้ง 33 แห่งของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติเป็นสวนงานจัดการศึกษาที่มีผลคะแนนเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งมีการประเมินในระดับ "ดีมาก" โดยมีค่าน้ำหนักคะแนนอยู่ที่ 4:68 จากค่าน้ำหนัก 5.0


"สำหรับปีหน้าวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติจะพัฒนาตัวเองไปสู่การประเมินด้วยระบบ EdPEx (Education Criteria for Performance Excellence) ซึ่งเป็นการประเมินโดยใช้เกณฑ์คุณภาพการศึกษาเพื่อการดำเนินงานที่เป็นเลิศ เชื่อมั่นว่า ระบบการประเมินแบบ EdPEx จะเป็นเครื่องมือในการพัฒนา IBSC ไปสู่การเป็น Smart College เพื่อให้สอดรับกับวิสัยทัศน์ของวิทยาลัยที่จะก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับนานาชาติอย่างแท้จริงต่อไป" ผู้อำนวยการวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ กล่าวและว่า


ส่วนตัวมีความเชื่ออย่างมาดมั่นว่า "EdPEx" จะเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถนำพาวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติไปสู่การเป็น "Smart College" เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติได้ แน่นอนว่า ธรรมะจะให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำในสิ่งที่เชื่อ และผู้ที่เชื่อในสิ่งที่ทำเสมอ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...