วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ห้ามพระสึก!นักวิชาการชี้ชัด"ขัดธรรมวินัย-รธน." ระบุการลาสิกขา : ดุลยภาพสงฆ์ในพระพุทธศาสนา
วันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ตามที่มีบุคคลบางคนเสนอแนวความคิดในการแก้ไขกฎหมายคณะสงฆ์โดยเฉพาะมีประเด็นระบุพระห้ามสึก ส่งผลให้ รองศาสตราจารย์ ดร.เวทย์ บรรณกรกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาบาลีพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) เสนอบทความเรื่อง "การลาสิกขา : ดุลยภาพสงฆ์ในพระพุทธศาสนา" ความว่า
การลาสิกขาเป็นวัฒนธรรมประเพณีคู่กันมากับการบรรพชาอุปสมบทของชาวพุทธผู้ได้รับอนุญาตให้บรรพชาอุปสมบท คือ การยอมรับปฏิญญาที่จะศึกษาและปฏิบัติในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวเฉพาะศีลสิกขา เป็นกฎระเบียบมาตรฐานเครื่องวัดสำหรับบอกให้รู้ภาวะความเป็นสมณะ หากบรรพชาเป็นสามเณรหรือสามเณรี ก็ต้องยอมรับและปฏิบัติศีลสิกขา ๑๐ ข้อ หากอุปสมบทเป็นพระภิกษุก็ต้องยอมรับและปฏิบัติข้อที่ทรงอนุญาตและเว้นข้อที่ทรงห้ามไว้ ๒๒๗ ข้อ (ปาฏิโมกข์ ๑๕๐ รวมอนิยต ๒ เสขิยวัตร ๗๕ เป็น ๒๒๗) หรือศีล ๓๑๑ ข้อ สำหรับภิกษุณี นอกจากนั้น ผู้บรรพชาหรืออุปสมบทแล้ว จะต้องศึกษาและปฏิบัติศีลส่วนที่เป็นอภิสมาจารสิกขา คือ ข้อวัตรปฏิบัติที่พึงศึกษาเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมและมารยาทที่ดีงาม เช่น อย่าพึงนุ่งห่มอย่างคฤหัสถ์ อย่าพึงเปลือยกายในที่และในเวลาอันไม่บังควร หรือจำวัดตอนกลางวัน ต้องปิดประตูเสียก่อน เป็นต้น
อภิสมาจารสิกขานี้ พระพุทธองค์ตรัสไว้หลายแห่งหลายสถานที่ในการเผยแผ่พรหมจรรย์ตลอด ๔๕ พรรษา ภายหลังพุทธปรินิพพานแล้วพระธรรมสังคาหกาจารย์ ผู้รวบรวมพระธรรมวินัยนำมาจัดไว้ในวินัยปิฎกแสดงในกลุ่มขันธกะเป็นส่วนมาก เช่น การอุโบสถ การจำพรรษา การปวารณา เป็นต้น ไม่ปรากฏจำนวนเหมือนสิกขาบทในปาฏิโมกข์ หากพระภิกษุประพฤติผิดอภิสมาจารสิกขา ก็ปรับอาบัติ ๒ ประการ คือ อาบัติถุลลัจจัยและทุกกฏ ศีลสิกขาส่วนที่เป็นอภิสมาจารสำหรับพระภิกษุสามเณรจึงมีมากมาย เมื่อภิกษุศึกษาและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วภายหลังไม่อาจจะทำให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ทั้งหมด เป็นเหตุให้เกิดความท้อแท้ในการปฏิบัติ ดังปรากฏในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย กล่าวถึงพระวัชชีบุตรรูปหนึ่ง เกิดความท้อแท้ไม่สามารถประพฤติปฏิบัติสิกขาบท ๑๕๐ ข้อ รวมกับสิกขาบทระเบียบปฏิบัติที่เหลืออีกเป็นจำนวนมากที่ต้องยกขึ้นทบทวนกันทุกครึ่งเดือน พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้ศึกษาปฏิบัติสิกขาเพียง ๓ ข้อ คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ต่อมาไม่นานพระวัชชีบุตรรูปนั้น เมื่อปฏิบัติตามสิกขา ๓ ข้อนี้ ก็สามารถละราคะ โทสะ โมหะทั้งหมดได้ในที่สุด
ผู้ได้รับการบรรพชาอุปสมบทแล้ว เมื่อศึกษาและปฏิบัติศีลสิกขาที่มีมากมายนับไม่ถ้วนเช่นนี้แล้ว หากเกิดความท้อแท้ไม่สามารถปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ หรือหากกระสันอยากจะครองเพศฆราวาสก็สามารถลาสิกขา ยอมรับตนเป็นอุบาสกประพฤติศีล ๕ ศีล ๘ หรืออุโบสถศีลตามควรแก่อุปนิสัยของตน ๆ ย่อมเป็นการดีในการเลือกภาวะความเป็นอยู่ให้เหมาะสม การลาสิกขาจึงเป็นการสร้างดุลยภาพพระสงฆ์ และอาจกล่าวได้ว่า การบวชเรียนแล้วลาสิกขานี้ เป็นการให้โอกาสในการศึกษาและปฏิบัติตามศักยภาพของตน ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการเลือกศึกษาและปฏิบัติตามหลักศาสนา
เมื่อว่าโดยหลักประเพณีการบรรพชาอุปสมบทและการลาสิกขาดังกล่าวแล้ว นับได้ว่าเป็นแนวทางที่เปิดโอกาสให้ศาสนิกชนในพระพุทธศาสนาได้ทดลองปฏิบัติตามศักยภาพของตน การพระพุทธศาสนาจึงสืบทอดมาได้จนปัจจุบันด้วยอาศัยกุลบุตรที่เข้ามาบวช ศึกษาพระธรรมวินัย บางส่วนได้ลาสิกขาไปครองเพศคฤหัสถ์ รู้จักการอันควรและไม่ควรในขนบธรรมเนียม วัตรปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ขวนขวายในกิจการของสงฆ์ ดังปรากฏข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาที่รับรู้กันโดยทั่วไปอยู่แล้ว
กฎหมายบังคับห้ามลาสิกขา : สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
หากใครคนหนึ่ง เห็นพระสงฆ์ประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัย ปรารถนาดีต่อการคณะสงฆ์ ต้องการเห็นพระสงฆ์สละสิ้นทางโลกรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง เสนอแนวคิดให้ตรากฎหมายสำหรับพระสงฆ์ว่า “ผู้บวชเป็นพระภิกษุแล้วไม่สามารถลาสิกขาได้” ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งขณะนี้ เท่าที่ได้รับรู้แนวคิดนี้ อาจดูเหมือนเป็นเจตนาดีที่จะบังคับให้ผู้บวชแล้วต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบศึกษาพระธรรมวินัยมุ่งตรงต่อมรรคผลนิพพานกันทุกรูป แม้พระพุทธองค์ก็ไม่เคยมีหลักการบังคับหมู่สงฆ์เช่นนี้ เมื่อพิจารณาแนวความคิดการออกกฎหมายห้ามลาสิกขาอย่างรอบด้านแล้ว กลับพบว่ามีนัยบางอย่างในเจตนานั้น ลองจินตนาการดูว่า พระที่ท้อแท้ในธรรมวินัยประสงค์จะลาสิกขาหรือพระประพฤติดีตามธรรมวินัยภายหลังท้อแท้ย่อหย่อนประสงค์จะลาสิกขาแต่ไม่สามารถลาสิกขาได้ด้วยมีกฎหมายห้ามลาสิกขา การพระศาสนาจะยุ่งวุ่นวายเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะผู้สมควรลาสิกขาแต่ไม่สามารถลาสิกขาได้
แนวคิดการบวชแล้วห้ามลาสิกขาเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นแนวคิดเพื่อรักษาคุ้มครองพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ หรือเพื่อบังคับให้พระต้องปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปตลอดกาล กลับกลายเป็นแนวคิดที่ทำลายพระพุทธศาสนา ทำลายวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่บุรพมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงเคยผนวชศึกษาพระธรรมวินัยแล้วลาสิกขา ทำหน้าที่เป็นองค์เอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก ทรงเป็นพุทธมามกะ ทรงบำเพ็ญบุญกุศล รักษาสืบทอดพระพุทธศาสนากันมาตามลำดับ และเมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาพิจารณาด้านสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ไม่ทราบว่าการตรากฎหมายตามความคิดดังกล่าวนี้ จะขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ และคงจะสร้างความสับสนวุ่นวายระหว่างข้อกฎหมายกับหลักการของพระพุทธเจ้าไม่น้อยเลย
ความหมายการลาสิกขา
การลาสิกขา เป็นการปฏิญญาตนเป็นผู้อื่นจากภิกษุต่อหน้าภิกษุด้วยกัน หรือต่อหน้าบุคคลอื่นผู้เข้าใจความแล้วสละเพศภิกษุเสียถือเอาเพศที่ปฏิญญานั้น คำว่า ลาสิกขา หรือ ยังไม่ลาสิกขา เป็นคำแปลจากพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้หลายแห่ง เช่น โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน สิกฺขํ อปฺปจฺจกฺขาย ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา ฯ .......... แปลว่า อนึ่งภิกษุใด ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลาย ไม่บอกคืนสิกขา (ไม่ลาสิกขา) ไม่เปิดเผยความท้อแท้ .....ฯ ในพุทธดำรัสว่า สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน สิกฺขา หมายถึง อธิศีลสิกขา สาชีพ หมายถึง สิกขาบท พระพุทธดำรัสดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า การบวชแล้วลาสิกขาเป็นสิ่งที่มีอยู่ตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระพุทธองค์จึงทรงนำคำว่า “สิกฺขํ อปฺปจฺขาย ยังไม่ลาสิกขา” มาตั้งเป็นเงื่อนไขในการล่วงละเมิดบัญญัติ
การลาสิกขา : ขาดจากความเป็นภิกษุ
ในประเด็นนี้ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เหตุขาดจากความเป็นภิกษุ ว่าโดยหลักพระธรรมวินัย มี ๒ ประการ คือ
๑. ขาดจากความเป็นภิกษุเพราะล่วงละเมิดสิกขาบทปาราชิก ๔ ข้อ ผู้ล่วงละเมิดข้อใดข้อหนึ่งไม่สามารถจะอยู่ในภาวะความเป็นภิกษุในพระศาสนาต่อไปได้ เป็นอันขาดจากภาวะภิกษุ โดยไม่ต้องกล่าวคำลาสิกขา คือ ขาดจากความเป็นพระในขณะต้องอาบัติปาราชิกทันที อาบัติปาราชิกจัดเป็น ครุกาบัติ อาบัติหนักประเภทอเตกิจฉา ไม่มีทางเยียวยารักษาได้ ภิกษุใดล่วงละเมิดต้องขาดจากภาวะความเป็นภิกษุ และไม่สามารถกลับเข้ามาบวชเป็นภิกษุได้อีกตลอดชีวิต แต่สามารถลดขั้นภาวะเป็นสามเณรหรืออุบาสกตั้งใจบำเพ็ญเพียรสร้างกุศลไปสู่สุคติภูมิหรือบรรลุธรรมได้ โดยนัยนี้ ผู้พ้นจากความเป็นพระภิกษุเพราะต้องอาบัติปาราชิก (ภาษาไทยที่แปลจากบาลีมักใช้สำนวนว่า เคลื่อนจากพระศาสนา หรือเวียนไปเพื่อเป็นเพศที่ต่ำ) จึงมีสถานะเป็นคนที่มีโอกาสเท่าเทียมกันในการสรรสร้างความดีบำเพ็ญบารมีต่อไปในฐานะเป็นสามเณรหรืออุบาสกทั่วไป
๒. ขาดจากความเป็นพระภิกษุ เพราะกล่าวคำลาสิกขา
การลาสิกขา หรือ อาราธนาให้ลาสิกขา เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะในประวัติศาสตร์การคณะสงฆ์ของไทยที่ผ่านมาไม่นานนัก มีการอาราธนานิมนต์ให้พระมหาเถระรูปหนึ่งลาสิกขา และดำเนินคดีด้วยข้อกฎหมายบ้านเมืองบางประการ ท้ายที่สุดเมื่อพิสูจน์ตามกระบวนการยุติธรรม พระมหาเถระรูปดังกล่าว เป็นผู้ปราศจากมลทินทุกกรณี ท่านก็ได้รับผ้ากาสาวพัสตร์มาครองกายท่านดังเดิม รวมทั้งพรรษาและสมณศักดิ์ที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์รัฐก็กราบถวายคืนท่านทั้งหมด บารมีท่านเสริมส่งจนได้ทำหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในที่สุด
การลาสิกขาที่ถูกต้องตามพระวินัย เป็นการสิ้นสุดความเป็นภิกษุสำหรับผู้ไม่ต้องอาบัติปาราชิก (ผู้ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นภิกษุทันที ไม่ต้องกล่าวคำลาสิกขาดังกล่าวแล้วในข้อ ๑) การลาสิกขาที่ปฏิบัติไม่ถูกวิธีตามพระวินัยความเป็นพระภิกษุยังมีอยู่ กุลบุตรมีศรัทธาบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาแล้ว เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายในการประพฤติพรหมจรรย์ ประสงค์จะลาสิกขาครองเรือน จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย เพราะเมื่อปฏิบัติไม่ถูกต้องย่อมเกิดโทษทางพระวินัย ภาวะความเป็นภิกษุยังอยู่ทั้ง ๆ ที่ได้แปลงเพศเป็นคฤหัสถ์ไปแล้ว หากไปมีครอบครัวเสพกาม ก็ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุ ภายหลังเกิดศรัทธาอยากจะบวชใหม่ ก็ไม่สามารถทำได้ตลอดชีวิต เพราะจัดอยู่ในประเภทปาราชิกบุคคล เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวนี้ จึงยกบาลีอธิบายตามนัยอรรถกถา ฎีกา พระวินัยปิฎก ดังนี้ พระฎีกาจารย์นำข้อความเกี่ยวกับการลาสิกขาจากคัมภีร์กังขา- วิตรณีอรรถกถา มาสรุปเป็นคาถาไว้ว่า
จิตฺตํ เขตฺตญฺจ กาโล จ ปโยโค ปุคฺคโล ตถา
วิชานนนฺติ สิกฺขาย ปจฺจกฺขานํ ฉฬงฺคิกนฺติ
การลาสิกขา มีองค์ประกอบ ๖ ประการ คือ จิต เขต กาล ความพยายาม บุคคล และความเข้าใจ
องค์ประกอบการลาสิกขามี ๖ ประการ
๑. จิต หมายถึง จิตที่ต้องการจะลาขาดจากความเป็นภิกษุเท่านั้น ผู้ลาสิกขา จำเป็นจะต้องตัดสินใจด้วยตนเองว่าลาสิกขาแน่ มิใช่สักแต่เพียงวาจาพูดด้วยหุนหันหรือพลั้งเผลอ ดังนั้น การปลงใจหรือจิตที่ต้องการลาสิกขา จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญประการที่ ๑
๒. เขต หมายถึง คำสำหรับกล่าวลาสิกขา ในคัมภีร์กังขาวิตรณีอรรถกถา กำหนดขอบเขตคำกล่าวไว้ ๒๒ บท เช่น “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ, คิหีติ มํ ธาเรหิ” เป็นต้น หรือกล่าวคำที่เนื่องกัน เช่น ต้องการจะกล่าวคำว่า พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ (ข้าพเจ้าลาพระพุทธ) แต่กลับกล่าวว่า ธมฺมํ ปจฺจกฺขามิ (ข้าพเจ้าลาพระธรรม) ก็นับว่า กล่าวคำที่อยู่ในขอบเขตเนื่องกัน ตามนัยที่แสดงถึงคำกล่าวลาสิกขา ที่ได้เปล่งวาจาออกไปนั้น ผู้กล่าวจะต้องเข้าใจความหมายของคำที่กล่าวนั้นพร้อม ๆ ไปกับการปลงใจในการกล่าวด้วย จึงจะเป็นอันลาสิกขาได้ถูกต้องตามหลัก
๓. กาล หมายถึง คำกล่าวลาสิกขาย่อมสำเร็จได้ด้วยคำพูดที่เป็นปัจจุบัน คือ ปจฺจกฺขามิ (ข้าพเจ้า กำลังบอกลา) และอนามัฏฐกาล คือ คำกล่าวที่ไม่ระบุกาล โดยใช้ศัพท์นิบาต เช่น อลํ เม พุทฺเธน (พอกันทีสำหรับเรา ด้วยพระพุทธเจ้า) จะต้องเป็นปัจจุบันกาลจริงเท่านั้น มิใช่กล่าวว่า “ปจฺจกฺขาสึ ข้าพเจ้าบอกลาแล้ว” ซึ่งเป็นอดีต หรือ กล่าวว่า “ปจฺจกฺขิสสํ ข้าพเจ้าจักบอกลา” ซึ่งเป็นอนาคต หรือว่ารำพึงในใจเป็นปริกัปว่า “ยนฺนูนาหํ สิกฺขํ ปจฺจกฺเขยฺยํ แหมถ้าเราลาสิกขาเสียได้ คงสบายดีแน่" ถ้าตัดสินใจและกล่าวคำที่แสดงอดีต อนาคต และการรำพึงนี้ ไม่เป็นการลาสิกขาที่ถูกตามหลักพระวินัย
๔. ปโยค หมายถึง การลาสิกขาสำเร็จได้ด้วยความพยายามแสดงออกทางวาจาอย่างเดียวเท่านั้น ความจริงแล้ว ปโยค ความพยายามมี ๒ ประการ คือ ความพยายามทางกาย และ ความพยายามทางวาจา ในการลาสิกขาที่ถูกต้องตามหลักวินัยต้องแสดงออกทางวาจา คือ เปล่งเป็นคำพูดออกมาสื่อให้รู้ความหมายเช่น ข้าพเจ้าขอลาพระพุทธเจ้า เป็นภาษาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาบาลีอย่างเดียว ใช้วิธีสื่อให้รู้ความหมายด้วยการแสดงออกทางกาย ด้วยการเขียนเป็นตัวอักษรหรือการแสดงสัญลักษณ์ทางมือเป็นต้น ไม่จัดเป็นการลาสิกขา
๕. บุคคล หมายถึง บุคคลที่ลาสิกขา และบุคคลผู้รับการลาสิกขา ๑. บุคคลผู้ลาสิกขา คือ ภิกษุที่ไม่ใช่คนวิกลจริต ไม่ใช่คนที่ถูกยักษ์เข้าสิง และไม่ใช่คนที่มีเวทนารุนแรงอย่างใดอย่างหนึ่ง ๒. บุคคลผู้รับการลาสิกขา คือ คนที่มีชาติเป็นมนุษย์ เป็นภิกษุด้วยกันหรือบุคคลผู้เข้าใจภาษาก็ได้ ไม่ใช่คนวิกลจริตเป็นต้น การกล่าวลาสิกขาต้องแสดงต่อหน้ากันเท่านั้น จะใช้วิธีส่งคนไปบอกหรือเขียนจดหมายลาสิกขาไม่ได้ โดยนัยนี้ บุคคลทั้ง ๒ ฝ่ายต้องเป็นคนที่มีสุขภาพเป็นปกติจริง ๆ ทั้งผู้ที่กล่าวคำลาสิกขา ทั้งผู้ที่กำลังฟังกล่าวคำกล่าว ไม่มีเวทนากล้าหรือการขู่เข็ญคุกคามบีบคั้น
๖. วิชานนะ หมายถึงความเข้าใจของผู้ได้ยินคำกล่าวลาสิกขา ในคัมภีร์อรรถกถา ระบุความเข้าใจของบุคคล ๒ ประเภท คือ
๑. ความเข้าใจของบุคคลที่ภิกษุกล่าวเจาะจง เมื่อภิกษุผู้ตั้งใจลาสิกขากล่าวคำลาสิกขาเจาะจงเฉพาะบุคคลต่อหน้า อาจเป็น พระ ก พระ ข นาย ก นาย ข หรือเป็นบุคคลทั้งหมด ซึ่งอยู่ในสถานที่ลาสิกขานั้น เข้าใจความหมายถ้อยคำนั้น ภิกษุได้ชื่อว่าลาสิกขาทันที หากบุคคลที่ภิกษุกล่าวเฉพาะเจาะจงฟังแล้วไม่เข้าใจว่า ภิกษุนี้ พูดอะไร ต้องใช้เวลาใคร่ครวญและเข้าใจภายหลัง หรือ หากมีบุคคลอื่น (จากผู้ที่ภิกษุเจาะจง)เข้าใจ ย่อมไม่เป็นการลาสิกขา ความเป็นภิกษุยังมีอยู่ต่อไป
๒. ความเข้าใจของบุคคลที่ภิกษุกล่าวไม่เจาะจง เมื่อภิกษุผู้ตั้งใจลาสิกขา กล่าวคำลาสิกขาไม่เจาะจงผู้ใดผู้หนึ่งต่อหน้า ใครก็ตามที่มีชาติเป็นมนุษย์เข้าใจภาษาพูดซึ่งอยู่ในสถานที่แห่งนั้น ได้ฟังคำกล่าวลาสิกขา เข้าใจเนื้อความถ้อยคำนั้น ภิกษุผู้กล่าวคำลาสิกขาด้วยความตั้งใจ ย่อมขาดจากความเป็นภิกษุทันที
จากการศึกษาองค์ประกอบของการลาสิกขา ทั้ง ๖ ประการ คือ ต้องประกอบด้วยจิตที่ต้องการจะลาสิกขาเป็นต้นดังกล่าวมานี้จึงเป็นอันลาสิกขา ถ้าผู้กล่าวไม่มีจิตคิดปรารถนาจะลาสิกขา กล่าวเพราะสอนหนังสือ (อาจารย์สอนศิษย์ให้ว่าตามเรื่องคำกล่าวลาสิกขา) กล่าวเพราะเพียงต้องการล้อเล่น หรือกล่าวเพราะเวทนาความรู้สึกที่ถูกบังคับให้จำต้องกล่าว เหล่านี้ ก็ไม่เป็นการลาสิกขา จึง สรุปเป็นสาระสำคัญ คือ ภิกษุผู้ไม่ต้องอาบัติปาราชิก ประสงค์จะลาสิกขา ต้องปฏิบัติ ดังนี้
๑. จะต้องปลงใจหรือตัดสินใจโดยไร้เวทนาใด ๆ มาบีบคั้นว่า “ลาสิกขาแน่” ขณะที่ตนเปล่งวาจานั้นและขณะที่พระอุปัชฌาย์หรือประธานสงฆ์กำลังชักผ้าสังฆาฏิลงจากไหล่ของตน
๒. จะต้องเปล่งคำพูดออกมาเป็นภาษาบาลีหรือภาษาใดก็ได้ คำพูดนั้นจะต้องอยู่ในขอบเขตคำพูด ๒๒ ข้อความ ให้ผู้อื่นที่อยู่ใกล้ตนจะเป็นพระภิกษุด้วยกันหรือบุคคลธรรมดาทั่วไปก็ได้ รู้ชัดว่า“ข้าพเจ้าขอลาสิกขา ขอท่านจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นคฤหัสถ์ ณ บัดนี้” จะไปเปล่งวาจาพูดกับคนที่ไม่รู้ภาษา เช่น เปล่งวาจาพูดลาสิกขากับคนหูหนวก หรือกับคนต่างชาติที่ไม่รู้ภาษาบาลี หรือภาษาไทยไม่ได้เป็นอันขาด ส่วนการเปล่งถ้อยคำเพียงเพราะกล่าวสอนหนังสือ ล้อเล่น เป็นต้น ไม่อยู่ในขอบเขตการลาสิกขา
๓. จะต้องเปลื้องบริขารเพศของพระภิกษุออกให้หมด ปฏิญญาเป็นเพศฆราวาสตามคำได้เปล่งวาจานั้น ไม่ให้มีสัญลักษณ์ใด ๆ ที่แสดงให้คนอื่นเข้าใจว่าเป็นเพศภิกษุ
การลาสิกขาของภิกษุเป็นไปตามองค์ประกอบทั้ง ๖ ประการดังกล่าวในคัมภีร์อรรถกถา ฎีกาครบบริบูรณ์แล้ว ก็ย่อมขาดจากภาวะความเป็นภิกษุ หากยังปฏิญญาว่าเป็นภิกษุอยู่และทรงบริขารของสมณะจะจัดเป็นปาราชิกบุคคล ประเภทอภัพพบุคคล เถยยสังวาส ไร้วาสนา พลาดจากมรรคในที่สุด ในทางกลับกัน การลาสิกขาของภิกษุรูปใดก็ตาม ไม่เป็นไปตามองค์ประกอบ ๖ ประการ ภาวะความเป็นภิกษุก็ยังมีอยู่ต่อไป จนกว่าจะสิ้นสุดความเป็นภิกษุด้วยเหตุ ๒ ประการ ดังกล่าวแล้ว
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
เพลง: ทางแห่งสันติ
คลิก ฟังเพลงที่นี่ (The Path of Peace) (ท่อนแรก) บนหนทางที่ลมพัดมา กลางพสุธาที่โศกเศร้า ฝุ่นคลุ้งฟ้าหม่นหมองเทา แสงแห่งธรรมยังน...
-
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 พระราชวัชรสารบัณฑิต หรือ “เจ้าคุณประสาร” รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(...
-
วิจารณ์สนั่นหลักสูตรบาลีป.ธ.1-2 ถึงป.ธ. 9 เรียนพระไตรปิฎก 149 หน้า "เจ้าคุณหรรษา" ยกสามเณร 2 รูป หนึ่งจบ ป.ธ. 9 อายุ 17 ปี หนึ่งจบ...
-
พระปิดตายันต์ยุ่งมหาอุตโม หลวงปู่ทิม อิสริโก จัดสร้างเพื่อหารายได้ สร้างหอฉันอุตตโม ออกแบบโดยช่างเกษม มงคลเจริญ ประกอบด้วย เนื้...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น