วันอังคารที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระเกียรติ“ในหลวง ร.๙”ก้องเกรียงไกรตีตราไว้ในแผ่นดิน



ตลอดพระชนน์ชีพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พสกนิกรชาวไทยได้เห็นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์มีแต่คำว่า “ให้” ส่งผลให้พระเกียรติของพระองค์ก้องเกรียงไกรตีตราไว้ในแผ่นดิน

พระบารมี “ในหลวง ร.๙” จากโครงการในพระราชดำริมากถึง ๔,๔๔๗ โครงการที่พระองค์ได้ทรงดำเนินการจนประสบผลสำเร็จ บางโครงการผลงานสิ่งประดิษฐ์กลายนวัตกรรม (Innovation) ครั้งแรกของโลก และกลายเป็น “ศาสตร์พระราชา” ลูกหลายไทยและชาวโลกได้ศึกษาอย่างเช่นเกษตรอินทรีย์ที่ทรงดำเนินการแบบมีมาตรฐานอย่างมีขั้นตอน โดยยึดมั่นใน ๔ หลักใหญ่ๆ คือ

๑. หลักสุขภาพ (Health) การทำเกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล ต้องยึดหลักสุขภาพองค์รวมของผู้เกี่ยวข้อง หรือ steakholder เป็นสำคัญ รวมถึง ดิน น้ำ ลม ฟ้า อากาศด้วย

๒. หลักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ecology) เกษตรอินทรีย์มาตรฐานสากล คือ การบริหารจัดการแปลงเกษตรของเราเองให้มีระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์นั่นเอง

๓. หลักความเป็นธรรม (Fairness) คือ การให้ความเสมอภาคและเคารพในศักดิ์ของสิ่งมีชีวิตในโลกโดยเสมอหน้า ให้ความสำคัญและความเป็นธรรมตลอดสายการผลิต

๔. หลักการเอาใจใส่ (Care) ผู้ผลิตข้าว จะต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอน from farm to dish ถือเป็นหัวใจหลักของทุกหลักการ

ทั้ง ๔ ข้อนี้ เป็นแนวปฏิบัติที่พ่อเจ้าอยู่หัวทรงเน้นให้ทุกคนตระหนักอยู่ตลอดเวลาในการประกอบอาชีพการงาน

โครงการในพระราชดำริดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็น ๔ หมวด ได้แก่ (๑) คือเรื่อง “ดิน” เช่นศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา (๒) คือเรื่อง “น้ำ” เช่นโครงการฝนหลวงและกังหันน้ำชัยพัฒนา (๓) เรื่อง “ลม” เช่นโครงการชั่งหัวมันและกังหันลม และ (๔) เรื่อง “ไฟ” เช่นโรงงานผลิตไบโอดีเซลและกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งก็ถือว่าเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านไว้ได้อย่างงดงาม ได้แผ่ขจรไปมิใช้เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นยังแผ่ไฟศาลไปทั่วทุกมุมของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอัจฉริยภาพหลากหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านของการประดิษฐ์ พระองค์ทรงได้รับการยกย่องเป็นบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย รวมถึงสมาชิกองค์กรด้านการประดิษฐ์จากทั่วโลกคือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก หรือ WIPO ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล WIPO Global Leaders Award หรือรางวัลผู้นำทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นลำดับแรก นอกจากนี้ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาจากองค์กรการประดิษฐ์นานาชาติว่าเป็น “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์โลก” โดยสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (ไอเฟีย) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการีได้ร่วมกำหนดให้วันที่ 2 ก.พ.เป็นวันนักประดิษฐ์โลก(International inventor’s day convention: IIDC) ซึ่งเริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2551 เพื่อเทิดพระ เกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และยกย่องในพระอัจฉริยภาพการเป็นนักประดิษฐ์ของพระองค์ท่าน และประธานไอเฟียได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลไอเฟียคัพพร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ (IFIA Cup) และเหรียญรางวัลจีเนียสไพรซ์ (Genius Prize) พร้อมด้วยผู้อำนวยการสมาคม ส่งเสริมการประดิษฐ์ สาธารณรัฐเกาหลีใต้ หรือคิปา (KIPA) ได้ถวายรางวัลสเปเชียลไพรซ์พร้อมประกาศนียบัตร (Special Prize) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังมีเหรียญรางวัล Genius Medal จากผลงาน ทฤษฎีใหม่ และเศรษฐกิจพอเพียง,รางวัล Special Prize จากองค์กร KIPA ล่าสุด นายโคฟี อันนัน ในนามยูเนสโก ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ

ผลงานการประดิษฐ์ของพระองค์ล้วนแล้วแต่ประดิษฐ์ขึ้นด้วยพระเมตตาต่อปวงชนชาวไทยทั้งสิ้น และหากพระองค์เพียงแต่คิดค้น ประดิษฐ์ขึ้นมาโดยไม่จดสิทธิบัตร อาจเกิดการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจนคนไทยได้รับความเดือดร้อนดังกรณีต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และทรงมีพระราชดำรัสถึงเรื่องนี้ว่า “…เรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีมานานแล้ว ทั้งเรื่องลิขสิทธิ์และสิทธิบัตร มีความสำคัญมาก…” ดังนั้น ผลงานที่ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรรวมทั้งสิ้น ๘ ฉบับ ดังนี้

๑. กังหันน้ำชัยพัฒนา ได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The Belgian Chamber of Inventor ภายในงาน “Brussels Eureka ๒๐๐๐” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เนื่องจากเป็นเครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดความสกปรกของน้ำได้สูง แต่ต้นทุนการผลิตต่ำ สามารถบำบัดน้ำเสียโดยหลักการวิดน้ำขึ้นไปสาดกระจายในอากาศให้เป็นฝอยให้ปริมาณออกซิเจนในอากาศเข้าไปผสมกับน้ำได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้จุลินทรีย์เข้าไปย่อยสลายสิ่งสกปรกในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพใช้ได้ทั้งแบบติดตั้งและเคลื่อนที่ กังหันน้ำชัยพัฒนานี้นับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ ๙ ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรให้แก่พระบรมราชวงศ์ด้วย จึงนับได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและเป็นครั้งแรกของโลก”

๒. เครื่องกลเติมอากาศแบบอัดอากาศและดูดน้ำเครื่องกล เป็นเครื่องกลเติมอากาศ ใช้ในการเติมออกซิเจนลงในน้ำที่ระดับลึกลงไปใต้ผิวน้ำ จนถึงด้านล่างของแหล่งน้ำ เครื่องกลเติมอากาศแบบนี้ จะดึงน้ำเสียที่อยู่กับบ่อเข้าผสม กับอากาศและเกิดคลื่นน้ำ ทำให้น้ำไหลหมุนเวียน น้ำเสียจะผสมกับออกซิเจนในอากาศซึ่งทำให้น้ำมีคุณภาพ และสามารถนำไปดัดแปลงใช้ ประโยชน์เป็นปั๊มดูดตะกอนเลนได้อีกด้วย โดยปิดทางเข้าอากาศ ตัวเครื่อง ประกอบด้วย ชุดสูบน้ำและชุดอัดอากาศต่ออยู่บนเพลาเดียวกันโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้าขนาด ๒ แรงม้า เป็นตัวขับเคลื่อนลอยตัวอยู่บนทุ่นเกือกม้า ถวายการ รับจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๔

๓. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซล (น้ำมันไบโอดีเซล) จากสถานการณ์ราคาน้ำมันถีบตัวขึ้นสูง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวิจัยค้นคว้าหาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกในยามคับขัน โดยใช้วัสดุเกษตรกรรมภายในประเทศ ได้ผลิตผลออกมา คือ น้ำมันปาล์มดีเซล เป็นน้ำมันดีเซลผสมกับน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 10 โดยปริมาตร จะได้คุณภาพเดียวกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงานทุกประการ รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลสามารถเติมน้ำมันดีเซลปาล์ม (บริสุทธิ์) ผสมกับน้ำมันที่เหลือในถังได้เลย ไม่ต้องรอให้น้ำมันหมดถัง และผู้ใช้รถไม่ต้องปรับแต่ง เครื่องยนต์แต่อย่างใด เพราะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ทั้งยังช่วยเพิ่มการหล่อลื่น ช่วยป้องกันการสึกหรอของปั๊มหัวฉีด และลดมลพิษในไอเสียของเครื่องยนต์อีกด้วย ถวายการรับจดสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๔

๔. การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันหล่อลื่นสำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ อนุสิทธิบัตรฉบับนี้ เป็นการใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์ทดแทนน้ำมันหล่อลื่นที่ได้จากน้ำมันปิโตรเลียม สำหรับเครื่องยนต์สองจังหวะ เช่น เครื่องรถมอเตอร์ไซค์ เครื่องสูบน้ำ เป็นต้น ถวายการรับจดทะเบียนเป็นอนุสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๔๕๔๕

๕. การดัดแปรสภาพอากาศเพื่อให้เกิดฝน (ฝนหลวง) เป็นอีกผลงานของในหลวง ร.๙ ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศไทยและนานาประเทศ แสดงถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านการประดิษฐ์คิดค้นของพระองค์เป็นอย่างมาก โครงการนี้เริ่มจากปัญหาภัยแล้งในประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ซึ่งพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าท้องฟ้านั้นมีเมฆมาก แต่ฝนไม่ตก จึงเห็นว่าน่าจะทำฝนเทียมขึ้นมาได้ หลังจากผ่านกระบวนการทดลองต่างๆ นานา ก็สำเร็จออกเป็นโครงการฝนหลวง ซึ่งฝนหลวงนั้นเป็นกรรมวิธีการทำฝนทั้งในระดับเมฆอุ่นที่ระดับต่ำกว่า ๑ หมื่นฟุต และเมฆเย็นที่ระดับสูงกว่า ๑ หมื่นฟุตพร้อมๆ กัน ซึ่งทรงเรียกขั้นตอนนี้ว่า “ซูเปอร์แซนด์วิช”เมื่อปฏิบัติการจะมีการตรวจสอบพื้นที่ สภาพอากาศให้ดีเสียก่อน จะได้ไม่เกิดผลเสียต่อราษฎร จากนั้นจึงใช้สารเคมีที่สามารถชักนำไอน้ำ จากมวลอากาศได้ไปก่อกวนก้อนเมฆ เป็นขั้นก่อกวน ตามด้วยเลี้ยงให้อ้วน ให้ก้อนเมฆนั้นก่อตัวขึ้นโดยพิจารณาลักษณะการเติบโตของเมฆ บริเวณเมฆและการเกิดฝนในวันนั้นๆ เป็นหลัก และขั้นสุดท้ายโจมตี จนเกิดเป็นฝนหลวง

๖. ภาชนะรองรับของเสียที่ขับออกจากร่างกาย เป็นภาชนะที่ทรงออกแบบไว้เป็นการเฉพาะเพื่อรองรับปัสสาวะของผู้ป่วย ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖

๗. อุปกรณ์ควบคุมการผลักดันของเหลว เป็นเครื่องยนต์ที่ขับดันน้ำเพื่อใช้ในการขับเคลื่อนเรือ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๗

๘. กระบวนการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวเพื่อให้เหมาะแก่การเพาะปลูก (โครงการแกล้งดิน) เป็นการปรับปรุงสภาพดินเปรี้ยวที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ ให้เป็นดินที่มีสภาพเหมาะ สมสำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ได้ โดยใช้วิธีการเลียบนแบบธรรมชาติคือทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน ซึ่งจะไปกระตุ้นให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำให้ดินเป็นกรดจัดจนถึงขั้น ‘แกล้งดินให้เปรี้ยวสุดขีด’ จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้ จากนั้นจึงหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้ วิธีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวจัดตามแนวพระราชดำริ คือควบคุมระดับน้ำใต้ดิน เพื่อป้องกันการเกิดกรดกำมะถัน จึงต้องควบคุมน้ำใต้ดินให้อยู่เหนือชั้นดินเลนที่มีสารไพไรท์อยู่ เพื่อมิให้สารไพไรท์ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนหรือถูกออกซิไดซ์ ถวายการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรเมื่อวันที่ ๕ ตุลคม พ.ศ.๒๕๕๐

ทั้งนี้ผลงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชดังกล่าว ได้ถูกรวบรวมเรียบเรียงแสดงเป็นนิทรรศการในแง่มุมต่างอาทิ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติปทุมธานีที่เน้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พิธภัณฑ์พระรามเก้าขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) ภายในแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.บ้านของเรา (OUR HOME) เสนอเรื่องราวการก่อกำเนิดจักรวาล ระบบสุริยะ และโลก ไปจนถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต 2. ชีวิตของเรา (OUR LIFE) แสดงสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตรวมถึงมนุษย์ภายในชีวนิเวศต่างๆ และ 3.พระราชาของเรา (OUR KING) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของพิพิธภัณฑ์นำเสนอถึงหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์เป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

(หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจาก https://nutchicha.wordpress.com/กังหันน้ำชัยพัฒนา-ปั่นน/)

สุดจะกลั้นน้ำตาในรินหลั่ง
สุดจะยั้งน้ำตาให้รินไหล
สุดจะกลั้นวิญญาให้อาลัย
ขอเทิดไท้สถิตย์สรรค์นิรันดร์เทอญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้า นายสำราญ สมพงษ์ ขอถวายความอาลัย
(หมายเหตุขอขอบคุณเจ้าของภาพทุกท่านในครั้งนี้ด้วย)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...