วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระสังฆราชทรงห่วงสื่อสารลักษณะยุยง



สมเด็จพระสังฆราชทรงห่วงการสื่อสารลักษณะยุยงบ่อนทำลาย  แนะ กสทช. ใช้พุทธธรรมเรื่อง จริต 6 ประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์



วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2560 เวลา 09.30 น. เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ทรงเป็นประธานในพิธีบำเพ็ญกุศลคล้ายวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นปีที่ 6


โอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า


“การสื่อสารเป็นธรรมชาติพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่ก็น่าคิดอยู่ไม่น้อย ที่การสื่อสารอาจถูกใช้พัฒนาสังคมก็ได้ หรือในบางครั้งก็อาจถูกใช้เป็นเครื่องทำลายสังคมให้วิบัติย่อยยับไปก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมยุคนี้ที่บุคคลสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี


แม้สารที่ส่งหากันจะมีลักษณะทั้งสองแบบ คือแบบที่จรรโลงใจ จรรโลงปัญญา และลักษณะที่ยุยงบ่อนทำลาย ไม่ได้ต่างจากการสื่อสารในสังคมยุคก่อนก็จริง แต่ทักษะความสามารถของมนุษย์ ในการคัดกรองข่าวสาร การมีสติยับยั้งชั่งใจ ใคร่ครวญหาเหตุหาผลที่ถูกต้อง กลับด้อยคุณภาพน้อยลง ผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม จึงจำเป็นต้องเข้าใจปัญหานี้ และเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีพื้นฐานอารมณ์ต่างๆ กัน ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงจำแนกบุคคลผู้มีจริตนิสัยต่างๆ กันไว้ 6 จำพวก


คนบางคนชอบสวยงาม เรียกว่าพวกราคจริต คนบางคนชอบใช้อารมณ์ หุนหันพลันแล่น มักโกรธ เรียกว่าพวกโทสจริต คนบางคนก็ปกติลุ่มหลงเร็ว ขาดความรู้ เชื่ออะไรผิดๆ โดยง่าย เรียกว่าพวกโมหจริต คนบางคนก็มีความเชื่อความศรัทธาโดยขาดปัญญา เรียกว่าพวกศรัทธาจริต คนบางคนก็มีปกติใช้วิจารณญาณ ก่อนรับฟัง เรียกว่าพวกพุทธิจริต และคนบางคนก็จัดอยู่ในพวกคิดมาก กังวลมาก หาข้อยุติได้ยาก เรียกว่าพวกวิตกจริต


ด้วยเหตุนี้ จึงทรงแนะนำวิธีเจริญพระกรรมฐานต่างๆ กัน เป็นคู่ปรับกับแต่ละจริต เพื่อการดำเนินชีวิตไปบนวิถีทางที่เหมาะสม บรรลุถึงปัญญาได้โดยง่าย
การจำแนกจริตนิสัยของบุคคลเช่นนี้ แม้พระพุทธองค์ได้ประทานแนวทางไว้เพื่อการเจริญพระกรรมฐาน แต่ท่านทั้งหลาย ถึงจะเป็นผู้ปฏิบัติภารกิจอยู่ในทางโลก ก็ยังอาจน้อมนำมาพิจารณา เพื่อใช้กำหนดวิธีทำงานกับเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และผู้ใต้บังคับบัญชาได้ จัดเป็นพระกรรมฐานในชีวิตประจำวัน มีประโยชน์มหาศาล
ยิ่งไปกว่านั้น ยังสามารถน้อมนำมาพิจารณาสภาพสังคมปัจจุบัน ที่มีผู้สื่อสาร และผู้รับสาร ซึ่งมีจริตต่างๆ กันได้ ถ้าท่านทั้งหลายรู้เท่าทันจริตนิสัยของบุคคลแล้ว ก็เท่ากับว่าท่านมีแนวทางที่จะพยากรณ์ และควบคุมสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาตมาเห็นว่าคุณสมบัติเช่นนี้แล เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งสำหรับบุคคลและหน่วยงานเช่น กสทช.”

...................



(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลจากเฟซบุ๊ก สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...