วันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2560

สัมมนากรรมฐานนานาชาติวัดหลวงพ่อกัสสปมุนี



ชาวพุทธโปแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ร่วมสัมมนากรรมฐานนานาชาติวัดหลวงพ่อกัสสปมุนีพระอดีตขรก.กรมสรรพสามิตบวชใกล้เกษียณ  อาจารย์สันติศึกษา "มจร"สอนปฏิบัติธรรมประยุกต์ระหว่างสายพองยุบกับสายพุทโธวัดวัดธรรมปัญญา



วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2560 ผศ.รท.ดร.บรรจบ บรรณรุจิ อดีตอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหายิทยาลัย อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมาได้เดินทางกราบสรีระหลวงพ่อกัสสปมุนี พระอาจารย์วิโมกข์ อดีตเจ้าอาวาสวัดปิปผลิวนาราม เขาสุนทรีบรรพต จังหวัดระยอง  พร้อมกันนี้ได้ร่วมสัมมนานานาชาติเรื่องกรรมฐานกับชาวพุทธจากประเทศโปแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน  ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาสนใจชาวพุทธจากประเทศโปแลนด์เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นคนหนุ่มอายุ 37  ปี โดยตนเรียกเขาว่า "The Future of Buddhism In The West" อนาคตของพระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก หลังจากนั้นได้ร่วมกันนั่งสมาธิในโบสถ์



ผศ.รท.ดร.บรรจบ กล่าวต่อว่า สำหรับหลวงพ่อกัสสปมุนีได้สละทางโลกเข้าแล้วเข้ามาบวชจนตลอดรอดฝั่งเป็นพระ "สุปฏิปันโน" (ผู้ดำเนินไปดีแล้ว, ผู้เดินไปถูกทางแล้ว)ไม่ใช่ง่ายและทำได้ทุกรูป  ต้องมีบุญแต่อดีตชาติเกื้อหนุนอย่างมาก เพราะบวชตอนอายุ 57 ปี ใกล้เกษียณอายุราชการจากกรมสรรพสามิตและมุ่งมั่นปฏิบัติจนได้มาเป็นพระสุปฏิปันโนรูปหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งมีผู้เคารพนับถือมาจนทุกวันนี้



"หลวงพ่อกัสสปมุนีบวชกับพระอุปัชฌาย์เดียวกับผม คือ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) หรือสมเด็จป๋า วัดโพธิ์ และปฏิบัติตามโอวาทพระอุปัชฌาย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งเป็นเบื้องต้นนำไปสู่การเป็นพระสงฆ์ที่ดีในเวลาต่อมา  เนื่องจากเวลานั้น ท่านมีพรรษายังไม่ครบ 5 พรรษา ยังไม่พ้นสภาพการเป็นพระนวกะ (พระใหม่) ธรรมดาพระนวกะหากจะไปอยู่ปฏิบัติธรรมสำนักใดต้องได้รับอนุญาตจากพระอุปัชฌาย์ก่อน  ดังนั้น ท่านจึงถูกวางเกณฑ์โดยสมเด็จพระอุปัชฌาย์ว่าอยู่ที่ใดก็ตามให้ต้องติดต่อรายงานการปฏิบัติให้ทราบเป็นคราว ๆ และเมื่อถึงช่วงเข้าพรรษาต้องกลับมาถึงวัดโพธิ์ ก่อนเข้าพรรษา 10 วัน เพื่ออยู่เรียนธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติต่าง ๆ กับสมเด็จพระอุปัชฌาย์ ซึ่งท่านก็ปฏิบัติตามนั้นสม่ำเสมอ จนพ้นข้อกำหนด ที่ภาษาพระวินัยเรียกว่า "นิสยมุตตกะ" (พ้นจากนิสัย, พ้นจากการอยู่แบบพึ่งพาพระอุปัชฌาย์)" ผศ.รท.ดร.บรรจบ  กล่าวและว่า



หลวงพ่อกัสสปมุนีเห็นว่าพระปฏิบัติต้องฝึกตนด้วยการไปอยู่ป่า จึงลาสมเด็จพระอุปัชฌาย์ไปอยู่ป่า การไปอยู่ที่ภูกระดึงทำให้ท่านพบประสบการณ์หลากหลาย ได้พบภัยอันตรายต่าง ๆ เช่น หนาวจัด ไฟป่า สัตว์ร้าย ยังได้พบโอปปาติกะ และโลกอีกมิติหนึ่งอย่างเหลือเชื่อ หลังจากช่วงเวลานั้นผ่านไป ท่านได้มาอยู่ที่ระยองเพราะมีเศรษฐีสร้างวัดให้บนภูเขาสุนทรีบรรพต ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ท่านตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดปิปผลิวนาราม" และต่อมากเรียกตัวท่านเองว่า "กัสสปมุนี" เพราะมีความสัมพันธ์กับชื่อทั้งสองมาแต่ครั้งพุทธกาล



"อาจารย์วิโมกข์ ศิษย์ก้นกุฏิของหลวงพ่อกัสสปมุนีเล่าว่า วัดปิปผลิวนารามยังมีเรื่องสัมพันธ์กับรุกขเทพธิดาจัมปากสุนทรี เทพธิดาประจำวัด และพระยานาควสุโรดม ซึ่งคอยอารักขาวัด ใครจะเชื่อหรือไม่อย่างไรไม่เป็นประเด็น แต่ประเด็นคือหลวงพ่อกัสสปมุนีได้เล่าและเริ่มให้ความสำคัญไว้ เราไปกราบสรีระหลวงพ่อกัสสปมุนีด้วยซึ่งยังไม่ได้ฌาปนกิจ สรีระของท่านอยู่ในโลงไม้ฝังมุก อาจารย์วิโมกข์เล่าว่า หลวงพ่อสั่งไว้ไม่ให้เผา ท่านจะเผาตัวท่านเอง เพราะก่อนหมดลม ท่านได้เข้าเตโชสมาบัติ คือ อธิษฐานจิตให้เกิดไฟลุกไหม้ร่างท่านเองเมื่อถึงเวลาเหมาะสมที่ท่านกำหนดไว้"  ผศ.รท.ดร.บรรจบ กล่าวและว่า



วันที่ 26 ตุลาคม ไม่ได้ไปร่วมถวายดอกไม้จันทน์ เพราะมีภารกิจสำคัญจรมา คือ ต้องไปสอนกรรมฐานถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสทึ่วันนี้เป็นวันออกพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9  ที่วัดธรรมปัญญารามบางม่วง อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยการประยุกต์ระหว่างสายพองยุบกับสายพุทโธ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

  วิเคราะห์ ‎“จาลวรรค” ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 23 พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 15 อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต วรรคที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ บทนำ “จาล...