วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ถอดบทเรียนกู้ชีพ13หมูป่าติดถ้ำ ศึกชิงเรตติ้ง"สื่อสงคราม-สื่อสันติภาพ"




วันที่ ๑๘ ก.ค.๒๕๖๑ นับเป็นวันแรกที่นักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย จ.เชียงราย  ได้กลับบ้าน หลังจากติดถ้ำและถูกช่วยออกมาได้แล้วพักรักษาที่โรงพยาบาลเชียงราย ประชานุเคราะห์  โดยวันที่ ๑๙ ก.ค.2561 ญาติพี่น้อง 13 ทีมหมูป่า ได้นำนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สาย ไปทำบุญทำพิธีสืบชะตาเพื่อเป็นสิริมงคลให้กับเยาวชนและโค้ชฟุตบอลทั้ง ๑๓  คน และทอดผ้าไตร ๑๒  ผืนรวมทั้งสิ่งของ ถวายแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้จ่าแซม น.ต.สมาน กุนัน อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม หรือ หน่วยซีล กองทัพเรือ โดยมีครูบาแสงหล้า เป็นประธานในพิธีทำบุญ พร้อมได้พรมน้ำมนต์ ที่วัดพระธาตุดอยเวา อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ขณะที่นพ.สมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต(ด้านจิตเวชเด็ก) ได้่ขอความร่วมมือกับสื่อมวลชน ทั้งสื่อหลัก และโชเชียลมีเดียว่า ควรให้ความร่วมมือและคำนึงถึงจิตใจของเด็กๆมากว่าที่จะต้องการเพียงข้อมูลอย่างเดียว ซึ่งการจะเชิญไปสัมภาษณ์หรืออกรายการอะไรนั้น ควรต้องขออนุญาตจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะครอบครัวเด็ก ผู้ที่เกี่ยวข้องและองค์กรที่ดูแลเด็กๆ ด้านงานสาธารณสุขที่ดูแลเรื่องของสุขภาพจิต เพราะต้องมีการติดตามระยะยาว

อย่างไรก็ตามสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เสวนา "ถอดบทเรียนการทำข่าวถ้ำหลวง" ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิตร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า-NIDA) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสื่อสารมวลชน กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและ สร้างสรรค์ ได้อธิบายปรากฏการณ์ครั้งนี้ ที่สื่อมวลชนโดยเฉพาะสื่อไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ไว้ ๕ ข้อ คือ
          
๑.ขาดความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของ ผู้บริโภค จริงอยู่ที่ในสถานการณ์วิกฤติผู้บริโภคต้องการข่าวที่รวดเร็วและ ชอบเรื่องประเภท "ดรามา"(Drama) สะเทือนความรู้สึก แต่ขณะเดียวกัน "ผู้บริโภคสื่อออนไลน์มีความอ่อนไหวทางจริยธรรมสูงมาก" ประกอบกับ "ผู้ใช้สื่อออนไลน์ส่วนหนึ่งต้องการโชว์ผลงาน" ใครจับผิดสื่อได้คือดี "ถ้ามีช่องโหว่ ก็มีประเด็น" มีการแชร์กันถล่มกัน ยิ่งกรณีนี้แตกต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่ผ่านมา เพราะมีทั้ง "เด็ก-ผู้ประสบภัย-ผู้ป่วย" ๓ สถานะรวมกัน ความอ่อนไหวของสังคม จึงมากเป็นพิเศษ
          
๒.ขาดความใส่ใจจริยธรรม ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ทำให้เข้าใจว่าเรื่องนั้น เรื่องนี้ทำได้ ๓.ขาดความสร้างสรรค์ เรื่องนี้ถูกพูดถึงมาก เห็นได้จาก "เมื่อมี การจัดระเบียบพื้นที่หน้าถ้ำ สื่อไทยก็ไม่รู้จะทำอะไรต่อ" ต่างจากสื่อต่างชาติที่ทำข่าวแตกประเด็นอื่นไปได้อีกมากมาย ๔.ขาดการยอมรับผิด สื่อบางสำนักยังคงเชื่อว่าตนเองไม่ผิดแล้วก็ก่อประเด็นตอบโต้ต่อไป และ ๕.ขาดการควบคุมกันเองสมาคมวิชาชีพมีการทำอะไรมากกว่าการออกประกาศบ้างหรือไม่
          
ขณะที่ในมุมของคนทำงานสื่อ ไล่ตั้งแต่ ก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการ สำนักข่าว ThaiPBS ที่ลงไปยังพื้นที่เกิดเหตุด้วย ยอมรับว่า "เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวง.. ความคาดหวังของสังคมคือ ต้องการเห็นความสำเร็จและรับรู้ข่าวดี" ต่างไปจาก เหตุการณ์อื่นๆ ที่คนทำสื่อเคยชินว่าสังคมต้องการข่าวที่ดีที่สุด เร็วที่สุด ลึกที่สุด และครอบคลุมที่สุด ฉะนั้นอะไรก็ตามที่เข้าไปรบกวนความคาดหวังนั้นก็จะถูก ต่อต้านอย่างเต็มที่
          
ดังนั้นในการทำข่าวหน้างานมีหลักอยู่ ๑.เข้าไปรบกวนหรือกีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องทำงานแข่งกับเวลาหรือไม่ ๒.หากรายงานข่าวไปแล้วจะเกิดผลกระทบหรือไม่ โดยยืนยันว่า "ผู้สื่อข่าวภาคสนามให้ความร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์" เว้นแต่บางเรื่องที่สื่อมีความเห็นไม่สอดคล้องกับข้อห้ามที่ออกมา เช่น การห้ามบันทึกภาพทั้งที่ไม่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง เจ้าหน้าที่ ซึ่งข้อห้ามนั้นบางครั้งไม่ถูกอธิบายว่าเพราะอะไร
          
"เวลามีกรณีแบบนี้นักข่าวเราทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ แล้วเรื่องใหญ่ๆ ที่ผ่านมา เช่น การบุกยึดสถานทูตพม่า การบุกยึดโรงพยาบาลราชบุรี มันก็มีความสับสนอลหม่านวุ่นวายกัน แต่การพูดคุยกับระหว่างเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ อะไรได้อะไรไม่ได้ ที่ไม่ได้เพราะอะไร ถ้ามีตรงนี้เกิดขึ้น จะทำให้การทำงานถ้าเกิดมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต จะลดความสับสนวุ่นวาย ลดความไม่พอใจซึ่งกันและกันมากขึ้น" ผอ.สำนักข่าว ThaiPBS กล่าวเช่นเดียวกับ ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์ แห่งชาติ กล่าวว่า บางเรื่องคนทำสื่อเองก็ไม่ทราบมาก่อนว่าทำไม่ได้ อาทิ "การห้าม เปิดเผยใบหน้าของหน่วยซีล (SEAL)" เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองทัพเรือ "กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะแจ้งขอความร่วมมือกับสื่อก็ผ่านไปแล้ว ๑-๒ วัน" อีกทั้งไม่ได้ทำกันเฉพาะสื่อไทย สื่อต่างประเทศเองก็ไม่ได้ปกปิดใบหน้าเจ้าหน้าที่หน่วยซีลเช่นกันในช่วงวันแรกๆ ของปฏิบัติการที่ถ้ำหลวง
          
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า "ระยะหลังๆ ผู้บริโภคกำกับสื่อได้อยู่หมัด"เห็นได้จากเรื่องไหนที่มีเสียงท้วงติงมา หลังจากนั้นสื่อก็จะหยุดทำเรื่องนั้นทันที และ กล่าวอีกว่า การนำเสนอข่าวแบบหนึ่งที่ในอดีตเคยทำได้ ปัจจุบันอาจกลายเป็นปัญหา เพราะผู้บริโภคอ่อนไหวกับเรื่องจริยธรรมมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่ถึงกระนั้น
          
"มันมีแง่มุมในเรื่องของความถูกผิด ความก้ำกึ่งค่อนข้างเยอะ ยิ่งระดับหัวหน้าข่าวมาถกเถียงกัน มันมีรายละเอียดประเด็นปัญหาเรื่องจริยธรรมค่อนข้างมาก คือเขาก็เชื่อว่าผู้บริโภคอยากดูอยากเห็น ขณะที่ผู้บริโภคอีกกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้บริโภคออนไลน์บอกว่า ไม่อยากเห็น ก็เป็นปัญหาของคนทำงานที่ต้องชั่งน้ำหนัก หนังสือพิมพ์ที่เป็นสื่อโบราณที่สุด มีเวลาพิจารณาถูกผิดมากที่สุดก็ยังมีปัญหา เวลานำเสนออาจเป็นประเด็นอ่อนไหว เพราะคนที่ซื้อหนังสือพิมพ์จริงๆ กับคนที่คอยจับจ้องว่าหนังสือพิมพ์เสนออะไรมันคนละกลุ่มกัน"ชวรงค์ ระบุ
          
ด้าน นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา อุปนายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ให้มุมมองว่า เหตุการณ์ถ้ำหลวงพบว่าสื่อออนไลน์มาแรงมาก ทั้งการถ่ายทอดสดผ่าน "เฟซบุ๊ค ไลฟ์" (Facebook Live) หรือรายงาน ข้อความสั้นๆ ผ่าน "ทวิตเตอร์" (Twitter) ไม่ว่าสื่อดั้งเดิมที่เพิ่มเติมช่องทางนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ หรือสำนักข่าวออนไลน์ที่ตั้งขึ้นใหม่ แต่ท่ามกลางความนิยมนี้เอง "ข่าวปลอม" (Fake News) เป็นปัญหาที่สื่อออนไลน์พบบ่อยๆ ประเภทเอาภาพเหตุการณ์ที่หนึ่งมาเขียนบรรยายเรื่องราวอีกเรื่องหนึ่งให้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน
          
นอกจากนี้ "สื่อออนไลน์เองก็มี ๒ กลุ่ม" กลุ่มหนึ่งมีการส่ง นักข่าวลงไปทำงานในพื้นที่จริง กลุ่มนี้จะมีการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลก่อนรายงาน กับอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำแต่เพียงรวบรวมข่าวอยู่กับที่อย่างเดียว โดยกลุ่มนี้อาจเกิดข้อผิดพลาดได้หรือไม่? ก็ต้องหา วิธีตรวจสอบด้วย อย่างไรก็ตาม หากต้นทางของข่าวผิด การส่งต่อก็จะกลายเป็นการส่งข้อมูลผิดๆ ไปยาวๆ เพราะสื่อออนไลน์สามารถกระจายข้อมูลได้รวดเร็ว
          
บทเรียนจากกรณีถ้ำหลวง สุภิญญา กลางณรงค์ อดีต คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การทำข่าวทีมฟุตบอลหมูป่า 13 คนติดอยู่ในวนอุทยาน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งอาจจะมีสื่อบางส่วนล้ำเส้นไปบ้าง เช่น การใช้โดรนบินถ่ายภาพ เรื่องนี้เข้าใจว่าที่ผ่านมายังมีความสับสนกันอยู่
          
ดังนั้นหากเป็นสื่อโทรทัศน์ องค์กรกำกับดูแลอย่าง กสทช. ควรเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างศูนย์อำนวยการร่วม (ศอร.) หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กำชับกับสถานีโทรทัศน์ทุกช่องแต่แรกว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ เพื่อช่วยให้สื่อโทรทัศน์ทำงานอยู่ในกรอบกฎหมายมากขึ้น ส่วนด้านจริยธรรมที่กำกับดูแลกันเองอยากเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ถึงกระนั้นก็ยังได้เห็นสื่อหลายสำนักทำข่าวอย่างระมัดระวังเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งครั้งนี้เป็นเหตุการณ์พิเศษ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีทั้งเด็ก ทั้งผู้ป่วย มีกฎหมายทั้งระหว่างประเทศและกฎหมายไทยเกี่ยวข้อง
          
"กติกาพื้นฐานอย่างจะใช้โดรนได้หรือไม่ได้ จะถ่ายทอดสดได้หรือไม่ได้ จะใช้วิทยุสื่อสารได้หรือไม่ได้ ก็เกี่ยวกับกฎกติกามารยาท ซึ่งก็เกี่ยวกับ กสทช. ก็น่าจะออกมาเชิงรุกมากกว่านี้ บอกให้ทุกช่องทำเหมือนกันหมด อาจจะไล่ตั้งแต่แรก กสทช. ก็เงียบไปนิด ในเรื่องที่ควรจะออกก็หายไป ไม่ได้ให้แบนหรือห้ามแต่ให้ช่วยวางกรอบว่าอะไรที่มันไม่ขัดกฎกติกามารยาท เป็นตัวกลาง เพราะถ้าให้รัฐบาล สังคมอาจจะเรียกร้องให้รัฐบาล ให้ทหารหรือหน่วยงานรัฐ มาควบคุมเอง สื่ออาจจะกังวลกว่านี้ มี กสทช. เป็นคนกลางดีกว่า เข้าใจ ทั้ง ๒ ฝ่าย"สุภิญญา กล่าว

เป็นไปตามที่ สำราญ สมพงษ์ นิสิตปริญญาเอก สาขาสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้สรุปในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท  สาขาสันติศึกษา มจร เรื่อง "ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการสื่อสารเพื่อสันติภาพในสื่อออนไลน์ตามแนวทางพุทธสันติวิธี:กรณีศึกษาเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก" ว่า สื่อออนไลน์ เป็นสื่อที่ผู้ส่งสารแบ่งปันสารซึ่งอยู่ในรูปแบบต่างๆไปยังผู้รับสารผ่านเครือข่ายออนไลน์ประเภทต่างๆ โดยสามารถโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารหรือผู้รับสารด้วยกันเองได้อย่างรวดเร็วทันที ไร้ข้อจำกัดด้านกาลเวลา พรมแดน ขนาดและรูปแบบของสาร ทำให้สามารถค้นหาคำตอบในบางเรื่องได้ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทั่วถึง ทำให้มีอิทธิพลเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคน และส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งแง่บวกใช้สร้างสันติสุขปรองดองได้ ทางกลับกันส่งผลลบเฮดสปีดเต็มจอสร้างความขัดแย้ง ความรุนแรง และใช้เป็นเครื่องมือในการก่อการร้ายสงคราม พิสูจน์ได้ยากข้อมูลใดเป็นข้อมูลจริงหรือข้อมูลเท็จ ดังนั้น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงได้ออกแนวปฏิบัติ เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นกรอปปฏิบัติของสื่อมวลชนไทยที่ใช้สื่อออนไลน์ให้ยึดข้อบังคับจริยธรรม ไม่สร้างความเกลียดชังในสังคม คำนึงมติของเวลา สุภาพ ไม่ลามกอนาจาร  โดยยึดผลประโยชน์ของสังคมเป็นสำคัญ และมีการออกประกาศเตือนอย่างต่ีอเนื่อง

ขณะที่การสื่อสารเพื่อสันติภาพที่มีหลักการ วิธีการ รูปแบบ ประโยชน์และคุณค่าที่ผู้ส่งสารเริ่มแรกนอกจากจะต้องมีคุณสมบัติของการเป็นการสื่อสารที่ดีอย่างเช่น เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรม ภราดรภาพ เสรีภาพ มีสิทธิ  อิสระ มีความเป็นกลางยืนอยู่บนหลักถูกต้องตรงไปตรงมาไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (Impartial) ยึดความถูกต้องยุติธรรมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายที่ถูกกล่าวหาครบถ้วน  และมีความรับผิดชอบ (Responsibility) แล้ว ควรเป็นผู้มีจิตหรือมีพื้นฐานแนวคิดด้าน"สันติภาพ" มีทักษะมีปัญญาในการสื่อสารเชิงสัญลักษณะรูปแบบต่าง เน้นข่าวเจาะ “C” Common Ground หรือข่าวสืบสวนสอบส่วน เข้าไปมีส่วนร่วมสร้าง “ความเป็นเครือข่าย” ให้  “พื้นที่สาธารณะ”   ในการแก้ไขปัญหา “S” Solution ความขัดแย้งรุนแรงหรือสงครามมากกว่าการเป็นผู้สังเกตการณ์และรายงานให้กับผู้รับสารได้ทราบ 

สื่อสารที่มีเนื้อหา “คม ชัด ลึก”  เป็นกระจกสะท้อนความเป็นจริง ข้อเท็จจริง หลากหลายรอบด้านครอบคลุม ถูกต้องครบถ้วน (Accuracy)   ครบถ้วนสมดุล โดยไม่ขีดจำกัดเรื่องกาลเวลารู้จักคำว่าพอเพียงพอประมาณ  โดยช่องทางหรือสื่อจะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงหรือมีลักษณะหลอมรวม  ที่มุ่งประโยชน์เพื่อสันติประชาธรรมโดยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  เพราะเป็น “องค์กรที่ไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจ”   เน้นป้องกันมากกว่าการสร้างปัญหา ทำอบรมบ่มเพาะสิ่งดีงามให้ผู้รับสารที่มีวิจารณญาณและรู้จักคำว่าพอเพียงพอประมาณมีสติปัญญา โยนิโสมนสิการ

อย่างไรก็ตามสำหรับการสื่อสารเพื่อสันติมีแนวคิดทั่วไป คือ ๑) ให้ข้อสังเกตได้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยไม่ตัดสิน ไม่ประเมิน หรือตีความ ๒) พูดสื่อความรู้สึกทั้งของตัวเราเองและคนอื่นได้อย่างตรงใจ ๓) ค้นหาและบอกความต้องการในส่วนลึกของเราและคนอื่น ๔) หาข้อตกลงร่วมกันหรือขอร้องให้เกิดการแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริงด้วยการสื่อสารที่ชัดเจน และเป็นทางบวก

ส่วนหลักการสื่อสารเพื่อสันติภาพเชิงพุทธตามหลัก   "วาจาสุภาษิต" นั้นได้เสนอบทความประกอบวิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาโท สาขาสันติศึกษา เรื่อง "ศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการสื่อสารเพื่อสันติภาพในสื่อออนไลน์ตามแนวทางพุทธสันติวิธี: กรณีศึกษาเว็บไซต์หนังสือพิมพ์คมชัดลึก" สรุปความว่า 

แนวคิดการสื่อสารเพื่อสันติเชิงพุทธขณะที่หลักคำสอนในพระพุทธศาสนาคือ “วาจาสุภาษิต” หรือ “สัมมาวาจา”   ๑ ในมรรคมีองค์ ๘ เป็นส่วนหนึ่งในอริยสัจ ๔ คือความจริงอันประเสริฐเป็นทางให้ถึงสันติสุขได้ นับเป็นการสื่อสารเพื่อสันติภาพเชิงพุทธได้ เพราะว่าคำสอนของพระพุทธศาสนานั้นเป็นแนวทางในการสร้างสันติภาพทั้งนั้น โดยหลัก "วาจาสุภาษิต" ซึ่งมีรูปแบบพิเศษคือพระพุทธเจ้าจะตรัสวาจาครั้งใดนั้น ภายใต้เงื่อนไข ๖ กรณี มีเพียง ๒ กรณีเท่านั้นที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ มีองค์ประกอบ “คำพูดที่จริง ที่แท้ เป็นประโยชน์” ครบ เมื่อเวลาเหมาะสม แม้บุคคลจะพอใจหรือไม่พอใจก็ตาม นับเป็นองค์ธรรมพื้นฐานช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข 

หลักการสื่อสารเพื่อสันติภาพเชิงพุทธตามหลัก   "วาจาสุภาษิต" สามารถสะท้อนออกมาเป็น “๑๔ส.สื่อเพื่อสันติภาพเชิงพุทธโมเดล” เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนและสังคมทั่วไปได้ดังนี้ 

๑. สื่อสารสาระคือ สื่อสารที่ตรงกับความเป็นจริง ข้อเท็จจริงตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนก่อนนำเสนอถูกต้องแม่นยำ ครบถ้วน สมดล โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความตรงไปตรง เป็นกลาง ไร้อคติ ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาให้โอกาสได้ตอบในโอกาสแรกที่ทำได้โดยเอาใจเราใส่ใจเขาในสถานการณ์เดียวกัน

๒. สืบสานสัมพันธ์คือ สื่สารด้วยภาษาที่สั้น กระซับเร้าใจสุภาพไม่หยาบโลนไม่สร้างวาทกรรมให้เกิดความเกลียดชัง มีความชัดเจนกระจ่างแจ้งในการเขียน

๓. สมัยสมพงษ์คือ สื่สารเหมาะสมกับกาลเวลา เมื่อมีเนื้อสารที่มีองค์ประกอบครบทั้งความจริง แท้และมีประโยชน์ครบถ้วนแล้ว เวลาเหมาะสมะแม้ว่าคนจะพอใจหรือไม่พอใจก็ต้องนำเสนอ พร้อมรู้จักพอ รู้จักรอ และรู้จักประมาณไม่นำเสนอหากจะส่งผลกระทบ

๔. สังคมสุขสำราญคือ สื่อสารที่มุ่งให้เกิดประโยชน์สันติสุขต่อสังคมโดยรวมในรูปแบบการเปิดพื้นที่สาธารณะให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ใช้พื้นที่ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาแทนที่จะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และรายงานสถานการณ์เท่านั้น 

๕. สร้างสรรค์สันติคือ ผู้ส่งสารมีพื้นฐานจิตที่มีเมตตา มีความเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับสันติภาพเป็นอย่างดีพร้อมกระจายความเข้าใจนั้นไปสู่สังคมในระดับต่างๆพร้อมตั้งมั่นใจอยู่ในจริยธรรมสื่อเป็นสำคัญ

โดยมีคำว่า “สร้างสรรค์สันติ” อยู่ตรงกลางเพราะการสร้างสรรค์สันติเป็นหัวใจความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสันติภาพภายในซึ่งเกิดจากฐานจิตที่ประกอบด้วยเมตตาที่พัฒนามาจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วแผ่สันติภาพภายในนั้นให้กระจายไปสร้างสันติภาพภายนอกด้วย “สื่อสารสาระ” เป็นต้น ครบองค์ประกอบดังกล่าว โดยหลอมรวมหมุนดุจวงล้อธรรมจักรหรือพัดลมให้เห็นป็นเนื้อเดียวกัน หมุนจนกระทั้งไม่เห็นใบพัด ก็จะมีพลังสร้างสังคมมีสันติสุขมากขึ้นเท่านั้น ดังสโลแกรนที่ว่า “นฺตถิสฺนติ ปรัง สุขัง” แปลว่า “สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จชิน" เปิดสอบนักธรรมชั้นโท-เอก ชี้ชาวพุทธต้องเข้าถึง "3 ป." ให้สมบูรณ์ - แนะปรับรูปแบบให้เข้ากับยุค AI

  เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 เป็นวันแรกของการสอบธรรมสนามหลวง นักธรรมชั้น โท-เอก ประจำปีการศึกษา 2567 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ กรรมการมหาเถรสมา...