วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เป็น"หนี้ ในพระไตรปิฎก ?"ต้องจ่าย!




 วันที่ 20 ก.ค. 61  เฟซบุ๊ก Naga King ได้โพสต์ข้อความว่า "หนี้ ในพระไตรปิฎก ?" 

@ ช่วงนี้มีข่าวการออกมาเรียกร้องรัฐบาลของครูในกลุ่มสมาชิก ชพค..ที่กู้เงินจากธนาคารออมสินแล้วเป็นหนี้ล้นพ้นตัวที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลมาสนใจในเรื่องหนี้ของครูว่าครูมีหนี้มากทำงานมาก็เหมือนการทำงานเพื่อใช้หนี้ไม่ได้ทำงานเพื่อก่อสร้างฐานะแต่อย่างใด แต่เอาล่ะเมื่อเรื่องหนี้มันเป็นเรื่องที่ดังขึ้นแล้ว เรามาดูว่าหนี้ในพระไตรปิฎกหรือในทางพระพุทธศาสนานั้นจะเป็นอย่างไรบ้าง เผื่อคนที่มีหนี้ หรือครูมีหนี้จะได้อ่าน อ่านแล้วจะเข้าใจเรื่องหนี้ได้มากขึ้นครับ

@ หนี้ในพระไตรปิฎก ?

สำหรับคำว่า “หนี้”ในพระไตรปิฎกนั้นตรงกับคำว่า อิณํ หมายถึง หนี้หรือทรัพย์ที่กู้มาจากคนที่มีฐานะมากกว่าตนเอง โดยเมื่อกู้เงินเขามาแล้วคนกู้จะตกอยู่ในฐานะของการเป็น “ลูกหนี้” ส่วนคนที่ให้กู้ก็จะมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้”ไปทันที

สำหรับสถานะหนี้ที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกนั้นจะพบว่า “หนี้” มีสถานะเป็นทรัพย์หรือเงิน กับหนี้ที่ไม่ได้มีสถานะที่เป็นทรัพย์หรือเป็นเงิน โดยที่

(๑) หนี้ที่เป็นทรัพย์หรือเงินนั้น ทรัพย์หมายถึงเงินที่ใช้แลกเปลี่ยนกันในตลาดโดยเงินจะเป็นทองคำหรือเงิน ทองนาคหรือสิ่งอื่นใดที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้ โดยหนี้ประเภทนี้มีปรากฏโดยทั่วไปการใช้หนี้จะต้องใช้เป็นตัวเงินเท่านั้น

(๒) หนี้ที่ไม่เป็นทรัพย์ ในพระไตรปิฎกได้อธิบายหนี้ประเภทนี้ไว้อีกว่า หนี้ที่ไม่เป็นทรัพย์นั้นหมายถึง "หนี้บุญคุณ" ที่คนใดคนหนึ่งช่วยเหลือหรือดูแลอุปัฏฐากรักษาในยามเดือดร้อนหรืออบรมเลี้ยงดูมาแล้ว

ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือหรือเลี้ยงดูมาก็จะตกเป็นลูกหนี้ของผู้ที่ให้การช่วยเหลือหรืออุปการะมาทันที หนี้ประเภทนี้ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่อยู่ในรูปของตัวเงิน ดังปรากฏในคำว่า ผมเป็นหนี้บริโภคก้อนข้าวของราษฎรถึง ๑ สัปดาห์(สํ.นิ.(ไทย)๑๖/๑๕๔/...)

ซึ่งคำว่าบริโภคในที่นี้หมายถึง บริโภค ๔ อย่าง คือ

(๑) เถยยปริโภค บริโภคอย่างขโมย เช่นภิกษุทุศีลบริโภค

(๒) อิณบริโภค บริโภอย่างเป็นหนี้ เช่น การบริโภคของภิกษุผู้มีศีล แต่ไม่พิจารณาในเวลาบริโภค

(๓) ทายัชชบริโภค บริโภคอย่างเป็นทายาท เช่น การบริโภคของพระเสขะ ๗ จำพวก

(๔) สามีบริโภค การบริโภคอย่างเป็นเจ้าของ หมายถึงการบริโภคของพระขีณาสพ (สํ.นิ.อ.(บาลี) ๒/๒๕๔/๒๒๑, วิสุทธิ.(บาลี)๑/๑๙/๔๕-๔๖)

การบริโภคข้าวน้ำอาหารของชาวบ้านแล้วไม่พิจารณาย่อมถึงอาการของคนที่เป็นหนี้ได้ โดยหนี้ในที่นี้หมายถึงหนี้ที่ไม่ได้เป็นทรัพย์สินแต่เป็นหนี้ในเชิงคุณธรรมจริยธรรมที่เกิดขึ้นในจิตใจของคนเรา

@ สภาพของหนี้ในพระไตรปิฎก : การเป็นหนี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ?

เมื่อพิจารณาถึงสภาพความเป็นหนี้ในทางพระพุทธศาสนาจะพบว่า “หนี้”มีสภาพดังต่อไปนี้

(๑) หนี้มีสภาพเป็นทุกข์กดดัน บีบคั้นให้ผู้ที่มีหนี้ไม่ได้รับความสุขคือก่อให้เกิดทุกข์ ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้หนี้ แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” (อง.ปัญจกก.(ไทย)๒๒/๔๕/...)

เมื่อมีหนี้ย่อมมีแต่ความทุกข์ แต่ที่จำเป็นต้องกู้หนี้ก็เพราะเกิดมาจากความจนที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ความจนเป็นทุกข์ในโลกว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความยากจนเป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก” โดยสภาพของคนที่มีหนี้จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้คือ

(๑) คนจนเข็ญใจยากไร้ ย่อมกู้หนี้

(๒) ครั้นกู้หนี้แล้ว ย่อมใช้ดอกเบี้ย

(๓) ครั้นใช้ดอกเบี้ยแล้ว ให้ดอกเบี้ยไม่ตรงเวลา ย่อมถูกเจ้าหนี้ตามทวง

(๔) เมื่อเขาถูกเจ้าหนี้ทวง แต่ก็ยังไม่ให้ คือต้องหลบหน้าหรือหนี เมื่อหนีย่อมถูกเจ้าหนี้ตาม

(๕) คราใดที่ถูกเจ้าหนี้ตามทัน แต่ก็ยังไม่มีเงินชดใช้ให้เจ้าหนี้ ฝ่ายเจ้าหนี้ก็จะฟ้องศาลให้ศาลออกหมายจับจำคุกคนที่หลบหนีหนี้หรือหนีการจ่ายหนี้ (อง.ปัญจกก.(ไทย)๒๒/๔๕/...)

ดังนั้น หนี้จึงมีสภาพที่เป็นทุกข์และถูกบีบคั้นทั้งทางกายและจิตใจ ดังปรากฏในพระพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย แม้ความยากจนก็เป็นทุกข์ของ กามโภคีบุคคลในโลก แม้การกู้หนี้ก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การใช้ดอกเบี้ยก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกทวงก็เป็นทุกข์ของกามโภคี- บุคคลในโลก แม้การถูกติตตามก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก แม้การถูกจองจำก็เป็นทุกข์ของกามโภคีบุคคลในโลก ด้วยประการฉะนี้”

(๒) หนี้มีสภาพเหมือนถูกจองจำ

คำว่าจองจำในที่นี้ก็คือ การที่ผู้เป็นลูกหนี้จะต้องเฝ้าคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราเป็นหนี้คนนั้นคนนี้ทำให้ไม่มีความสุข การคิดถึงหนี้นั่นเองที่จัดว่าเป็นการถูกจองจำ ดังปรากฏในคำว่าเหมือนคนเป็นหนี้คิดถึงหนี้ (อง.เอกาทสก.(ไทย) ๒๔/๙/..) เวลาที่เครียดย่อมคิดถึงหนี้หรือเครียดเพราะการมีหนี้ ดังนั้น การมีหนี้จึงมีสภาพเหมือนถูกจองจำ ตราบใดที่ยังไม่ใช้หนี้

(๓) มีหนี้จะต้องขยันหาเงินมาให้หนี้

เมื่อคนเราเกิดมีความจำเป็นจะต้องกู้หนี้เขามาจะต้องประเมินตัวเองว่าสามารถใช้หนี้ได้ และเมื่อมีเงินแล้วก็จะต้องรู้จักการเก็บเงินแล้วแบ่งเงินนั้นไปเพื่อใช้หนี้หรือชดใช้หนี้ที่มีอยู่นั้นเสียโดยไม่คิดที่จะหนี ดังปรากฏในภาษิตนี้ว่า คนเราฝังขุมทรัพย์ไว้ในโลก ก็เพื่อจุดประสงค์นี้ คือเพื่อเก็บไว้ใช้หนี้ก็มี (ขุ.อิติ.(ไทย)๒๕/๙/๑๗)

สภาพของหนี้ในข้อนี้ก็คือทำให้ผู้เป็นลูกหนี้จะต้องขยันหา รักษาดี มีกัลยาณมิตร และใช้ชีวิตให้พอเหมาะพอสม เพื่อหาเงินมาใช้หนี้นั้นให้ได้

(๔) หนี้มีสภาพที่เป็นข้อผูกพันระหว่าง เจ้าหนี้กับลูกหนี้ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกู้และให้กู้แล้วย่อมถือว่าทั้งสองฝ่ายมีความผูกพันหรือเกี่ยวข้องกันโดยอัตโนมัติ เพราะมีเงินหรือทรัพย์ที่ให้ยืมกันนั้นเป็นเหตุ คนเราไม่รู้จักกัน แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นหนี้กันจะรู้จักกันขึ้นมาทันทีอันนี้เป็นจริงๆครับ

@ การหนีหนี้ในพระไตรปิฎก ?

คำถามว่าในพระไตรปิฎก มีการโกงหนี้ไหม ? คำตอบก็คือ “มี” โดยการโกงหนี้หรือเบี้ยวหนี้จะมีลักษณะของการ “ไม่หนีไม่มีไม่จ่าย”ภายใต้วาทกรรมนี้สามารถที่จะทำให้เจ้าหนี้หัวเสียได้เหมือนกัน คือ ไม่มีให้ ไม่จ่ายคืนให้ และไม่หนี้ไปไหน มีเมื่อไหร่จะรับใช้ให้

โดยการโกงหนี้หรือเบี้ยวหนี้ในพระไตรปิฎกก็มีปรากฏในข้อความว่าครั้งนั้น บุรุษถูกเจ้าหนี้เบียดเบียนจึงโดดลงในแม่น้ำ ในกระแสน้ำข้างเหนือด้วยคิดว่า เราจะเป็นหรือตายก็ตามเถอะเขาถูกกระแสน้ำพัดไปในแม่น้ำใหญ่ตลอดคืนตลอดวัน ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนาลอยไปท่ามกลางแม่น้ำคงคา เมื่อมีคนมาเจอก็ร้องบอกว่าอย่าบอกใครว่าตนเองอยู่ที่นี่(ขุ.อปาทาน.(ไทย) ๓๓ /๕๐-๕๖/๗๒๕)

แสดงให้เห็นว่าเรื่องของการเป็นลูกหนี้นี้ถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายและลูกหนี้ก็กลัวเจ้าหนี้มากกลัวขนาดว่าจะต้องหนีไปให้ไกลเนื่องจากถูกเจ้าหนี้ตามทวงหนี้อย่างหนัก และใครก็ตามที่หนีหนี้ก็จะถูกเจ้าหนี้จับไปส่งพระราชาและถูกจองจำเพราะการทำผิดเงื่อนไขของธุรกรรมที่ว่าด้วยเรื่องของการเงินการทอง

(๕) หนี้กับพระพุทธศาสนา ?

เรื่องการมีหนี้หรือมีสถานะของลุกหนี้นั้นมีความเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอยู่หลายประการ เช่น ในพระวินัยมีกรณีที่ลูกหนี้หนีไปบวช เมื่อบวชไปแล้วเจ้าหนี้ไปพบเข้าจึงทำการโพนทะนาหรือตำหนิพระสงฆ์ว่าเหตุใดจึงให้คนมีหนี้บวชด้วยเล่าที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงกำหนดห้ามไม่ให้คนที่เป็นลูกหนี้บวช(วิ.ม.(ไทย)๔/๙๖/๑๕๐.)

โดยสถานะความเป็นลูกหนี้นั้นจะมีกรณีหนี้ที่บุคคลนั้นๆ ยืมมาเองและหนี้ที่บิดาและปู่ของบุคคลนั้นยืมไว้ก่อนแล้ว จะให้บุคคลผู้มีหนี้เช่นนี้บรรพชาไม่ควร แต่ถ้ามีญาติและคนมีสายสัมพันธ์รับภาระหนี้แทน จะให้บวชก็ได้(วิ.อ.(บาลี) ๓/๙๖/๖๑)

ส่วนในพระสูตรนั้นพระพุทธองค์ทรงสอนว่าคนเราเกิดมาไม่ควรเป็นผู้มีหนี้ แต่ถ้ามีหนี้แล้วจะต้องชดใช้ ดังปรากฏในคำว่า คนกู้หนี้มาลงทุนจนประสบผลสำเร็จ ใช้หนี้เก่าที่เป็นต้นทุนจนหมด เก็บกำไรที่เหลือไว้เป็นค่าเลี้ยงดูบุตรภรรยาเพราะความไม่มีหนี้สินเป็นเหตุ เขาจึงได้รับความเบิกบานใจและความสุขใจ(ที.สี.(ไทย)๙/๑๒๘/๗๔)

จะพบว่าการไม่มีหนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขและเมื่อมีหนี้ก็ต้องชดใช้ตามวาระ ซึ่งในพระสูตรนี้พระพุทธศาสนากล่าวถึงความเป็นผู้ปลอดหนี้ทั้งที่เป็นเงินและบุญคุณหรือชาติภพที่ยังเป็นกรรมหลงเหลืออยู่

(๕) หนี้กับความทุกข์ ?

จากการรวบรวมเรื่องราวในพระไตรปิฎกมาจะพบว่า การติดหนี้เป็นความทุกข์มากกว่าความสุข หรือหากปลดหนี้ได้จึงจะถือว่าได้รับความสุข แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ยังไม่ปลดหนี้ลงได้ก็จะยังมีแต่ความทุกข์ร่ำไป

ในฐานะลูกหนี้จึงมีความปรารถนาอยู่เพียงอย่างเดียวว่าเมื่อไหร่จะปลดหนี้ได้ ดังพระพุทธพจน์ว่า พวกลูกหนี้ ย่อมปรารถนา ยินดี ความเป็นผู้หมดหนี้(ขุ.มหา.(ไทย)๒๙/๑๙๔)

(๖) หนี้ครู ทุกข์นี้จะแก้อย่างไร ?

สำหรับเรื่องของหนี้สินของครูที่เราทราบกันว่าเป็นความทุกข์ที่เรื้อรังมานานถามว่าการมีหนี้ของครูนั้นครูเป็นทุกข์หรือเป็นสุข คำตอบคือทุกข์ครับเป็นทุกข์ในเบื้องปลายเมื่อใช้เงินที่กู้มาหมดแล้ว แต่มีสุขในเบื้องต้นที่ตอนกู้ได้เงินมาซื้อรถผ่อนบ้านหรือหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับตัวเอง

ดังนั้น เรื่องหนี้ครูผมถือว่าเป็นเรื่องความรับผิดชอบส่วนบุคคล เพราะครูก็เหมือนกับชาวบ้านทั่วไป แต่ที่ไม่เหมือนก็คือรัฐให้โอกาสและสิทธิครูกู้ได้มากกว่าชาวบ้านนั่นเอง เบื้องต้นครูก็ต้องคิดก่อนการกู้ไม่ใช่กู้มาแล้วค่อยคิด

แต่ที่เห็นๆครูไม่ค่อยคิดก่อนกู้ แต่กู้มาแล้ใช้เงินแล้วถึงรู้ว่าจะหาเงินที่ไหนมาคืน เมื่อมีปัญหาก็หาทางออกด้วยการ “พักชำระหนี้ธนาคารออมสินไม่มีกำหนด” อืม ผมว่าหากเราคิดตั้งแต่แรกก็จะไม่ลำบากมากถึงขนาดนี้เพราะที่จริงแล้วหนี้ครูไม่ได้มีเพียงหนี้ออมสิน แต่ครูเป็นหนี้เกือบทุกธนาคาร

ซึ่งมันเข้าลักษณะหนี้พอกหางหมูมากกว่าที่จะเป็นหนี้เชิงเดี่ยว ดังนั้น การแก้ไขก็คือต้องให้ครูกู้หนี้ในวงเงินที่น้อยลงกว่าเดิม และให้ครูมีพฤติกรรมและวิธีคิดเกี่ยวกับการจัดการใช้เงินให้เป็นระบบและมีวินัยมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกข์เพราะกิดจากหนี้ของครูจะมีต่อไปอีกยาวนาน

ขอบคุณมากครับ

Naga King






  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

รวม 4 สุดยอดเหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส จ.นครพนม อายุ109 ปี

เหรียญเจ้าสัวมนต์นาคราช  หลวงปู่คีบ ธีรปัญโญ วัดป่าสุทธาวาส อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม อายุ 109 ปี รวมความเป็นสุดยอดดังนี้ สุดยอดพุทธศิลป์ สุดยอดม...