วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

บุญ : มุมมองเชิงสังคม เรามาสร้างสังคมแห่งการให้กันเถอะ ?




วันที่ 26 ก.ค.2561 เฟซบุ๊ก Naga King อาจารย์คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร) ได้โพสต์ข้อความว่า บุญ : มุมมองเชิงสังคม เรามาสร้างสังคมแห่งการให้กันเถอะ ?

@ สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของเนื้อหาของการทำบุญผมจะไม่พูดถึง เนื่องจากได้อธิบายไปหลายครั้งแล้ว แต่สิ่งที่ผมจะมาคุยกับท่านผู้อ่านวันนี้ก็คือ "บุญในมุมมองของสังคม" เนื่องจากผมคิดว่าการทำบุญนั้นโดยมากเป็นเรื่องของ "ปัจเจกชน"

แต่ความเป็นปัจเจกชนนั้นเองที่หลอมรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นเรื่องของสังคมทันที ก็เหมือนกับเรื่องของศีล ที่มองมุมหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของปัจเจกชนที่ทุกคนจะต้องรักษาศีลร่วมกัน แต่เมื่อคนรักษาศีลเหมือนกันสิ่งที่จะเกิดก็คือ "ความสุขของสังคม"ที่สุดเรื่องของศีลก็จะกลายมาเป็นเรื่องของสังคมทันที

@ บุญ คือ คำสอนเชิงสังคมโดยเริ่มที่ความสุขใจของปัจเจก ?

อย่างที่ทราบกันว่าคำสอนเรื่องบุญนั้น เดิมทีเป็นคำสอนของสังคมเป็นคำสอนที่มุ่งให้คนเกิดความคิดที่จะ "สร้างหรือทำความดีเพื่อที่จะก่อให้เกิดบุญคือ "ความสามัคคี ความสุขใจของคนที่อาศัยร่วมกันในสังคม"

ดังนั้น คำสอนเรื่องบุญจึงเน้นไปที่ "การสร้างความรู้สึกให้เกิดความต้องการที่จะมีที่พึ่ง" หรือมีความสุขที่เกิดจาก (๑) การให้ทาน (๒) การรักษาศีล และ(๓)

การเจริญภาวนา ซึ่งเรียก การทำบุญนี้ว่าเป็น "บุญกิริยาวัตถุ" เราจะพบว่า การให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี หรือการเจริญภาวนาก็ดีสามารถที่จะมองได้เป็น ๒ มุมมอง คือ

(๑) เป็นเรื่องส่วนบุคคล เพราะการทำบุญเป็นเบื้องต้นนั้นถือว่าเป็นเรื่องของใครของมันใครใคร่จะทำก็ทำ หรือไม่ใคร่จะทำก็ไม่ทำโดยไม่มีการบังคับ เป็นความตั้งใจหรือเจตนาที่เกิดกับคนๆเอง แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง

(๒) เมื่อปัจเจกชนแต่ละคน "มีศรัทธาร่วมกัน"คืออยากทำบุญเหมือนกันมารวมกันที่วัด แล้วทำบุญเนื่องในกิจการที่เป็นบุญใน ๓ ประการที่กล่าวมานั้น ไม่ว่าจะเป็นให้ทาน รักษาศีลหรือเจริญภาวนาก็ตาม ผลที่เกิดก็คือเป็นผลที่เกิดโดยมวลรวมกับสังคมโดยมีปัจเจกชนเป้นพื้นฐาน ซึ่งคำสอนที่พระพุทธองค์ได้สอนเรื่องบุญนี้จึงเป็นเรื่องมีเบื้อต้นที่บุคคล มีผลที่เกิดตอนท้ายคือ "สังคม" คือมุ่งที่จะสอนให้สังคมเป็นสังคมแห่ง "บุญกิริยา"นั่นเอง

@ สังคมสร้างบุญ คือ สังคมแห่งอุดมคติ ?

ประเด็นต่อมาก็คือ เราจะพบว่าพระพุทธศาสนานั้นมุ่งที่จะทำให้สังคมแต่ละสังคมที่นับถือพระพุทธศาสนาเป็น "สังคมแห่งบุญกิริยา" ซึ่งโดยนัยก็คือเป็น "สังคมแห่งการให้" เพราะการทำบุญเป็นเรื่องของการให้ทั้งหมด คือ

(๑) การให้ทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของ


(๒) การรักษาศีลก็คือ การให้อภัย ให้ความเคารพในสิทธิ์และทรัพย์สินคนอื่น ให้ความรักแก่สตรีในมุมมองที่ไม่ก่อให้เกิดการละเมิด คือ ถ้าสตรีคนนั้นเป็นเด็กก็คิดว่าเป็นลูก วัยอายุน้อยกว่าก็คิดว่าเป็นน้องสาว อายุเท่ากันก็คิดเสียว่าเป็นเพื่อน อายุมากกว่าก็คิดเสียว่าเป็นพี่ อายุมากๆก็คือว่าเป็นป้า น้าอา และเป็นแม่ เป็นยาย เป็นต้น

เมื่อคิดได้แบบนี้ก็จะไม่ทำให้จิตกำเริบจนก่อให้เกิดการละเมิดหรือล่วงศีลข้อ ๓ ได้ หรือประการต่อมาก็คือการให้ความจริงใจไม่โกหก ประการสุดท้าย คือ การให้การเสียสละไม่คิดที่จะดื่มน้ำเมาอันเป็นเหตุแห่วความประมาท เป็นต้น นี่เรื่องศีลจึงเป็นเรื่องของการให้ทั้งนั้น

(๓) การภาวนา เป็นเรื่องของการให้ "ใจ"ให้เวลากับตัวเอง กับตัวเองและให้อภัยกับเจ้ากรรมนายเวร

@ จากการกล่าวมาทั้งหมดจะพบว่า เจตนาจริงๆของการสอนเรื่องของบุญนั้นพระพุทธองค์ทรงมุ่งที่จะให้ผู้คนในสังคมร่วมคิดร่วมทำร่วมแรงร่วมใจที่จ "จะให้" เพื่อให้สังคมนั้นเป็นสังคมที่มีแต่บรรยากาศของความเอื้อเฟื้อและเสียสละเสิ่งที่ตนเองมี ทั้งที่เป็นวัตถุสิ่งของ และกิเลสที่แอบซ่อนอยู่ในใจนั้นออกมา

การสละสิ่งของเพื่อกำจัดความตะหนี่ การสละความโลภโมโทสัน เพื่อกำจัดปัจจัยเกื้อหนุนที่จะเข้าไปทำลายหรือทำร้ายตนเองและผู้อื่น เมื่อคนทุกคนในสังคม "กลายเป็นผู้รู้จักให้" เช่นนี้แล้วสังคมก็จะสงบ สังคมก็จะมีแต่ความอบอุ่น ไม่มีความเห็นแก่ตัว พระพุทธศาสนาไม่เคยสอนให้ "เอาอย่างเดียว" แต่สอนให้รู้จักการให้และเห็นแก่ตัวเองในอัตราส่วนที่พอเหมาะ และสอนให้เห็นแก่คนอื่นในสัดส่วนที่จะเกื้อหนุนสังคมได้

@ ทุกวันนี้หลายพ้นที่ของสังคมโลกเรากำลังเดือดร้อน ผมว่าควรที่เราจะต้องนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ คือการสอนให้เราสร้างสังคมแห่งบุญหรือสังคมแห่งการให้ เพื่อทำให้สังคมกลายเป็นสังคมในอุดมคติและกลายเป็นสังคมที่น่าอยู่ของเราทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ เรามาสร้างสังคมแห่งบุญหรือสังคมแห่งการให้ร่วมกันนะครับ

ขอบคุณครับ

Naga King

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"ณพลเดช" ปิ๊งไอเดีย! เชียงรายศูนย์กลางการเงินโลก-โมเดลสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชีย หลังออกกฎหมาย เขต ศก.พิเศษ

วันที่ 19 เมษายน 2567     เวลา 11.00 น. ที่ประเทศลาว  ดร.ณพลเดช มณีลังกา คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำส...