วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

กู้ชีพทีมหมูป่าร.ร.ธุรกิจ Wharton ยังถอดบทเรียน




          
การที่โรงเรียนธุรกิจชั้นนำของโลกนำกรณีถ้ำหลวงไปศึกษา เป็นการแสดงให้เห็นถึงภารกิจที่ไม่ธรรมดาที่ทั่วโลกยกย่องชมเชย แสดงให้เห็นถึง ความสำเร็จในการแก้ไขโจทย์ที่ยากยิ่งภายใต้สถานการณ์คับขันของคนไทยและมืออาชีพจากทั่วโลก  

แม้ว่าภารกิจการช่วยเหลือทีมหมูป่าติดถ้ำจะผ่านพ้นไปท่ามกลางความยินดีของทุกฝ่าย แต่การถอดบทเรียนครั้งนี้คงต้องดำเนินต่อไป เพราะเป็นบทเรียนที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งที่ทั่วโลกชื่นชมต่อความสำเร็จแม้ว่าจะมีการสูญเสียแทรกอยู่ด้วยก็ตาม

นอกจากบทเรียนที่ประเทศไทยจะต้องเรียนรู้อย่างเข้มข้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว โรงเรียนธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่าง Wharton School ยังได้นำภารกิจนี้ไปวิเคราะห์ โดยถือเป็น “บทเรียนของความเป็นผู้นำ” (Leadership lesson) และ การแสดงออกทางจิตใจอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ และเป็นภารกิจที่แสดงออกถึงหลักการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ดีเลิศ

ไมเคิล ยูซีม (Michael Useem) ศาสตราจารย์ ด้านบริหารจัดการและผู้อำนวยการศูนย์กลางความเป็นผู้นำและบริหารการเปลี่ยนแปลง แห่ง Wharton School มหาวิทยาลัยเพ็นซิลวาเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กับ แอนดริว อีวิส (Andrew Eavis) จาก สหภาพการศึกษาเกี่ยวกับถ้ำระหว่างประเทศ (International Union of Speleology) แห่ง สหราชอาณาจักร ได้ร่วมกันวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์การช่วยเหลือครั้งยิ่งใหญ่ของโลกที่ทำให้ทีมหมูป่าจำนวน 13 คน ออกจากถ้ำมาได้อย่างปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองคน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเห็นว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นยุทธศาสตร์การประสานงานร่วมกัน (Coordinated strategy) ที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ เพราะเป็นความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพหลายสาขา นับตั้งแต่นักดำน้ำในถ้ำ รวมทั้งผู้ชำนาญเรื่องถ้ำที่ดีที่สุดของโลกนับสิบคน อาสาสมัครอีกนับหมื่นชีวิต บุคคล และองค์กรที่นำเครื่องสูบน้ำมาช่วยเหลือ รวมทั้งชาวนาที่ยอมผลเสียผลผลิตจากนาข้าวเพื่อรองรับน้ำจากถ้ำ

สิ่งสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึง ได้แก่ การสนับสนุนจากรัฐบาลด้าน งบประมาณ บุคลากรทางการแพทย์ การขนส่ง และงานอำนวยการต่างๆ

ภารกิจครั้งนี้เป็นภารกิจที่ทั่วโลกจับตามองนาทีต่อนาที และนำผู้สื่อข่าวต่างๆ จากทั่วโลกมารวมกันที่ถ้ำหลวงไม่น้อยกว่า 1,500 คน รวมทั้ง อีลอน มัสค์ เจ้าของบริษัทเทคโนโลยี จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งสร้างเรือดำน้ำขนาดจิ๋วส่งมาช่วยเหลือด้วยแต่ไม่ได้ใช้งาน

ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 ซึ่งเป็นวันแรกที่ทีมหมูป่าเข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวง เนื่องจากถ้ำถูกปิดทางออกด้วยกระแสน้ำจากฝนตกและทุกคนหนีขึ้นไปอยู่บนเนินที่แห้งทำให้รอดตัวจากการจมน้ำมาได้ ทีมค้นหาใช้ความพยายามและใช้เวลาทั้งสิ้น 10 วันในการค้นพบผู้ติดถ้ำทั้ง 13 คน ส่วนหนึ่งของการค้นหาใช้แผนที่ของสำรวจถ้ำชาวอังกฤษชื่อ เวอร์นอน อันสเวิร์ธ ( Vernon Unsworth ) ผู้ที่เคยสำรวจถ้ำหลวงมาแล้ว

อุปสรรคที่หนักหนาที่สุดของการช่วยชีวิตทั้ง 13 คน คือ น้ำที่เกิดจากฝนตกจนปิดทางเข้าถ้ำและ ในที่สุดภารกิจการช่วยเหลือจึงเริ่มขึ้นในวันที่ 7 กรกฎาคม

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึงปัจจัยหลักสามประการที่ทำให้ภารกิจครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ได้แก่ พลังมันสมองและพลังกาย ยุทธศาสตร์ และ การบริหารจัดการทางเทคนิค

พลังมันสมองและพลังกาย

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่นักดำน้ำของไทย อังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้เข้าไปช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตขณะที่ทั้งหมดอยู่ในภาวะอ่อนเปลี้ยและมีปัญหาสุขภาพเล็กน้อย โดยเลือกที่จะใช้วิธีนำผู้ติดถ้ำออกมาที่ละคนนั้น เป็นเรื่องของการใช้พลังสมองผนวกกับพลังกายของทีมช่วยเหลืออย่างแท้จริง

ในเรื่องของพลังสมองนั้นผู้เชี่ยวชาญให้เครดิตแก่ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน (ศอร.) โดยเห็นว่า นายณรงค์ศักดิ์ ได้แสดงถึงสิ่งสำคัญสามอย่างจากพลังสมองในการบัญชาการเหตุการณ์ ได้แก่ ความมีวินัย (Discipline) การจัดการอย่างมีระบบ (Organization) และการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว (Decisive decision making) เพื่อให้ภารกิจการช่วยเหลือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ยุทธศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่ายุทธศาสตร์ที่ทำให้ภารกิจครั้งนี้สำเร็จคือการประกอบกันของปัจจัยสามอย่างที่ภาษาธุรกิจเรียกว่า ยุทธศาสตร์สามง่าม (Three-pronged strategy :3PS ) ซึ่งได้แก่

1. การสนับสนุนจากรัฐบาล ในทุกๆด้าน เช่น งบประมาณ กำลังจากกองทัพ เครื่องมือเครื่องใช้และทรัพยากรอื่นๆ

2.ตัวตนของนายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการฯเอง ผนวกกับความเป็นผู้นำที่มีวินัยของเขา โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่เขาพูดกับทีมกู้ชีพว่า “ใครที่บอกว่าไม่เสียสละพอที่จะทำงาน ใครจะกลับบ้านไปนอนกับลูกกับเมีย เชิญเซ็นต์ชื่อแล้วออกไปเลย ผมไม่รายงานใครทั้งสิ้น ใครจะทำงาน วันนี้ขอให้พร้อมทุกนาที ให้คิดว่าเค้าเป็นลูกเรา เราจะช่วย 13 ชีวิต หรือกี่ชีวิตก็ตาม ทุกชีวิตเหมือนลูกเราหมด ใครไม่พร้อม จะมาเหยาะแหยะๆ กลับบ้านไปเลยนะครับ” เป็นประโยคที่เด็ดขาดและอยู่ในสถานการณ์ที่เขาต้องแสดงความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งออกมา

3.ตัวตนของกลุ่มผู้ติดถ้ำทั้ง 13 คน โดยเฉพาะตัวผู้ช่วยโค้ชนั้น ได้ขอให้ลูกทีมประหยัดอาหาร(ทราบในภายหลังว่าไม่ได้นำอาหารเข้าไปในถ้ำ)และให้ประหยัดไฟฉายในโทรศัพท์มือถือของแต่ละคน รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกคนมองโลกในแง่ดีเอาไว้ ผู้เชี่ยวชาญอ้างถึงข้อมูลจากรายงานข่าวของสำนักข่าว Washington post ว่า ผู้ช่วยโค้ชมีส่วนทำให้เด็กๆอยู่ในความสงบด้วยการให้เด็กทำสมาธิ หาน้ำดื่มจากหยดน้ำจากผนังภายในถ้ำเพื่อประทังชีวิต รวมทั้งสภาวะความเป็นผู้นำซึ่งผู้ช่วยโค้ชได้แสดงออกในสถานการณ์ที่เลวร้ายสามารถทำให้ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมเพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ภารกิจอันแสนยากที่ลุล่วงไปได้ด้วยดีนั้นเกิดจากการผนึกความเข้มแข็งระหว่างรัฐบาล ผู้บัญชาการเหตุการณ์และตัวของผู้ประสบภัยเอง นอกจากความสูญเสียนักกู้ชีพไปหนึ่งคน ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า การกู้ชีพครั้งนี้คือปาฏิหาริย์ และแผนการกู้ชีพที่คาดการณ์ว่าจะต้องรอให้ฝนซาซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือนแล้วจึงเข้าไปช่วยเหลือนั้นได้ยุติไปหลังจากตัดสินใจหาทางออกอื่นที่ดีกว่าได้

การวิเคราะห์ครั้งนี้ได้พูดถึงภารกิจที่ถ้ำหลวง ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ที่คนงานเหมืองในประเทศชิลีติดอยู่ใต้เหมืองเมื่อปี 2010 ซึ่งในคราวนั้นผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ทักษะกับความเป็นผู้นำที่คนงานเหมืองแสดงออกคือปัจจัยสำคัญยิ่งต่อการเอาชีวิตรอด

สิ่งหนึ่งที่ได้กล่าวถึงในการวิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือความท้าทายที่สำคัญของนักดำน้ำ ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากยิ่งและมีอันตรายทุกฝีก้าว พวกนักดำน้ำได้รับการช่วยเหลือจากคนจำนวนมาก รวมทั้งรัฐบาลไทยที่ได้ทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็วเพื่อให้ทีมงานไปยังจุดช่วยเหลือพร้อมทั้งจัดหาทุกอย่างที่นักดำน้ำต้องการในทันที

การบริหารจัดการทางเทคนิค

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นคือความสำเร็จโดยใช้ทักษะในการบริหารจัดการทางเทคนิค สามารถสนับสนุนให้การช่วยเหลือประสบความสำเร็จ เช่น การมีหมอหนึ่งในสี่คนร่วมอยู่ในทีมดำน้ำเข้าไปอยู่กับทีมหมูป่า การวางแผนช่วยเหลือโดยการสูบน้ำจำนวนมหาศาลออกจากถ้ำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าเป็น “ปัญหาทางวิศวกรรมที่ยิ่งใหญ่มาก” ตลอดจนการประสานงานเพื่อให้ชาวนายอมให้ผืนนาเป็นที่รับน้ำ รวมทั้งบางรายยังปฏิเสธการรับค่าชดเชยจากรัฐบาล ยิ่งส่งเสริมให้การบริหารจัดการเป็นไปด้วยความคล่องตัวในสถานการณ์คับขัน เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่า ภารกิจที่สำคัญที่สุดของการดำน้ำครั้งนี้คือภารกิจในตอนแรก ของนักดำน้ำที่ต้องเผชิญความยากลำบากในถ้ำที่มืดและเต็มไปด้วยกระแสน้ำเชี่ยวกราก ซึ่งนักดำน้ำต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยเพื่อให้เข้าใจสภาพถ้ำ ดังนั้นภารกิจการเริ่มต้นดำน้ำของนักดำน้ำสองคนแรกที่เข้าไปในถ้ำจึงเป็นภารกิจที่สิ่งสำคัญยิ่ง หากเกิดความลังเลหรือยกเลิก ภารกิจทั้งหมดก็จะไม่สำเร็จ เมื่อพวกเขาทำภารกิจแรกสำเร็จ พวกเขาได้นำเชือกเข้าไปเพื่อผูกเอาไว้ข้างในอย่างมั่นคงด้วย จึงช่วยให้การดำน้ำในครั้งหลังๆไม่เป็นอุปสรรค ภารกิจครั้งแรกของการดำน้ำเข้าถ้ำจึงถือเป็นภารกิจสำคัญที่สุดในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ

การที่โรงเรียนธุรกิจชั้นนำของโลกนำกรณีถ้ำหลวงไปศึกษา เป็นการแสดงให้เห็นถึงภารกิจที่ไม่ธรรมดาที่ทั่วโลกยกย่องชมเชย แสดงให้เห็นถึง ความสำเร็จในการแก้ไขโจทย์ที่ยากยิ่งภายใต้สถานการณ์คับขันของคนไทยและมืออาชีพจากทั่วโลก การบริหารจัดการด้วยกลยุทธ์ที่ยอดเยี่ยมและการแสดงออกถึงความเป็นผู้นำของผู้บัญชาการเหตุการณ์กับภาวะผู้นำของผู้ช่วยโค้ช รวมไปถึงการบริหารจัดการทางเทคนิคที่สอดคล้องกันทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงครั้งนี้คือบทเรียนชั้นดี ซึ่งเชื่อได้ว่า น่าจะถูกนำไปบรรจุเป็นนำไปเป็นกรณีศึกษาในหลักสูตรความเป็นผู้นำของโรงเรียนธุรกิจ Wharton เอง หรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในบ้านเราและอีกหลายๆแห่งในโลก

อ้างอิง http://knowledge.wharton.upenn.edu/article/leadership-lessons-thai-soccer-team-rescue/ โดย https://www.isranews.org/isranews-article/68070-wharton.html


----------------

ภาพ/ข่าว: แอลจี จนท. ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ มจร (FB-Hansa Dhammahaso)









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

"สมเด็จพระธีรญาณมุนี-ปลัด มท." ประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถคู่หน้าวัดสโมสรนนทบุรี

    เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567  เวลา 09.39 น.ที่วัดสโมสร บ้านคลองหม่อมแช่ม หมู่ 9 ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี นายสุทธิพงษ์ จุลเจ...